มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ และแนวร่วม ร้องหยุดเอาความแตกต่างทางเพศมาตีตรา-เลือกปฏิบัติหรือคุกคาม ล่วงละเมิดทางเพศ วอนสื่อไม่ควรใช้คำนำหน้าว่า “นาย” ย้ำ ภาครัฐต้องใช้กลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในการดำเนินการตรวจสอบ เยียวยา และมีบทลงโทษที่ชัดเจน
3 มี.ค. 2560 จากกรณีที่ครูสาวประเภทสองถูกคณบดีพูดเหยียดเพศกลางที่ประชุม ผู้สื่อข่าวได้รายงานว่า เมื่อวานนี้ (2 ก.พ. 2560)เฟซบุ๊กแฟนเพจ “เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย Thai Transgender Alliance-ThaiTGA”ได้โพสต์แถลงการณ์องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของกะเทย สาวประเภทสอง และคนข้ามเพศ เรื่อง การตีตราและเลือกปฏิบัติต่อกะเทย ของมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยมีเนื้อความว่า
แถลงการณ์องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของกะเทย สาวประเภทสอง และคนข้ามเพศ เรื่อง การตีตราและเลือกปฏิบัติต่อกะเทย
ตามที่มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อต่างๆ กรณี ครูสาวประเภทสองถูกคณบดีพูดเหยียดเพศกลางที่ประชุมครูนั้น
มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นองค์กรที่ดำเนินงานด้านส่งเสริมคุ้มครองสิทธิกะเทยและคนข้ามเพศร่วมกับองค์กรที่ดำเนินงานด้านส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศรายชื่อปรากฏด้านล่าง ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นว่ามนุษย์ทุกคนต่างมีสิทธิและเสรีในการกำหนดเจตจำนงความเป็นเพศของตนรวมถึงการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงปฏิบัติต่อกันโดยคำนึงถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันจะเห็นได้ว่า
.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้มีการกำหนดมาตรการไว้ เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของประเด็นดังกล่าวโดยระบุว่า “...ห้ามการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทาง เชื้อชาติศาสนา วัฒนธรรม การเมือง และเพศ หมายความถึง เพศสภาพ อัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศ...”
.
พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” หมายความว่าการกระทําหรือไม่กระทําการใด อันเป็นการแบ่งแยก กีดกันหรือจํากัดสิทธิประโยชน์ใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมโดยปราศจากความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิงหรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกําเนิด
.
หลักการยอกยาการ์ต้า หลักการข้อ 2. สิทธิในความเสมอภาคและการห้ามเลือกปฏิบัติมนุษย์ทุกคนสมควรได้รับความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างบริบูรณ์โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากสาเหตุความแตกต่างทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศมนุษย์ทุกคนสมควรได้รับความคุ้มครองอย่างเสมอภาคกันภายใต้กฎหมายโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติดังกล่าวไม่ว่าสิทธิมนุษยชนข้ออื่นใดจะถูกละเมิดด้วยหรือไม่ก็ตามกฎหมายต้องบัญญัติห้ามการเลือกปฏิบัติดังกล่าวและรับประกันความคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติดังกล่าวอย่างได้ผลและเสมอภาคต่อมนุษย์ทุกคน
.
ดังนั้นมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและองค์กรที่ดำเนินงานด้านส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติดังนี้
1. ไม่นำเอาความแตกต่างทางเพศสภาพและเพศวิถีมาเป็นเงื่อนไขในการตีตราและเลือกปฏิบัติ
2. ไม่คุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ ผ่านการแสดงออก ทางวาจาและทางร่างกายเช่น การแซว การหยอกล้อรวมถึงการสร้างบรรยากาศให้อีกฝ่ายหรือคู่สนทนารู้สึกอึดอัดคับข้องใจ
3. การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน กรณี กะเทย สาวประเภทสอง และคนข้ามเพศควรเคารพแหล่งข่าว โดยไม่ระบุคำนำนามว่า “นาย” หรือใช้คำว่า “คุณ”
4. กลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานภาครัฐต้องเข้าไปดำเนินการปกป้องคุ้มครองสิทธิและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้ทันต่อสถานการณ์
5. หน่วยงานต้นสังกัดต้องเร่งดำเนินการตรวจสอบและมีบทลงโทษที่ชัดเจน
.
3 มีนาคม พ.ศ. 2560
องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของกะเทย สาวประเภทสองและคนข้ามเพศ
รายชื่อองค์กรและบุคคลที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของของกะเทย สาวประเภทสอง และคนข้ามเพศ
1.มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน
2.มูลนิธิซิสเตอร์
3.มูลนิธิธีรนาถ กาญจนาอักษร
4.มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ
5.ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน Buku Classroom
6.ศรัทธารา หัตถีรัตน์ การเมืองหลังบ้าน
7.มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.)
8.องค์กรบางกอกเรนโบว์
9.กาญจนา แถลงกิจ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์
10.มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ
11.นาดา ไชยจิตต์ นักกิจกรรมอิสระเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ
12.คาณัสนันท์ ดอกพุฒ นักกิจกรรมทรานส์แมน
13.มูลนิธิเอ็มพลัส
14.สุไลพร ชลวิไล
15.วรรณพงษ์ ยอดเมือง
16.มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
17.กลุ่มพลังบันดาลใจคนข้ามเพศ Transpiration Power
18.พนิดา บุญเทพ
19.สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย
ที่มา : เพจเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย Thai Transgender Alliance-ThaiTGA
- 8 views