Skip to main content

26 มี.ค. 60 เวลา 13.00 น. หอดนตรีและการแสดงอโศกมนตรี 1 (หอประชุมใหญ่) ม.ศรีนครินทร์วิโรฒ จัดกิจกรรมเสวนา เรื่อง 7 แพร่ง ทางออกการศึกษาไทย นำโดยวิทยากร 1.ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก 2.รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล 3.อาจารย์จำรัส ช่วงชิง 4.รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ 5.คุณธานินทร์ ทิมทอง 6.ดร.ไกรยส  7.ภัทราวาทคุณพริษฐ์ ชิวารักษ์ และดำเนินรายการโดย ผศ.ปกป้อง จันวิทย์

                อาจารย์จำรัส ช่วงชิง อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนกุดเสถียร จังหวัดยโสธร กล่าว่า มันเป็นปัญหาที่กลายเป็นเรื่องธรรมดาของของบุคลากรทางการศึกษาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ บุคลากร หลักสูตร โครงสร้าง การประเมินผล เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่คุยกันมานานแล้ว  แต่เรื่องที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแท้จริงคือ ผู้ที่จัดการศึกษาขาดเสรีภาพในการทำงานและบริหารจัดการ เช่นผู้บริหาร คนในกระทรวง มีส่วนที่ขาดเสรีภาพในการตัดสินใจ  เพราะเสรีภาพสำคัญมาก ต้องยอมรับว่าการศึกษาไทยเป็นเรื่องของการสั่งการเป็นส่วนใหญ่  แม้ภาษาปฏิรูปการศึกษา จะบอกว่ามีการปฏิรูป มีการพัฒนา มีการกระจายอำนาจ แต่กระจายเพียงแค่ตัวอักษร ซึ่งแตกต่างจากความเป็นจริงที่โดนควบคุมมาโดยตลอด นโยบายส่วนหนึ่งผมยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ไม่ว่า พ.ร.บ.การศึกษา แต่ผู้ปฏิบัติถ้าปฏิบัติตามจะเป็นการขัดแย้งกับผู้สั่งการ หากพูดถึงนโยบายการศึกษาจะพูดหมดเลย คุณธรรมนำความรู้ คุณธรรมทั้งครู ทั้งนักเรียน แต่เอามาตัดสินคุณภาพกันแล้ว ตัดสินเพียงโอเน็ต ครูอยากจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับคุณภาพของเด็ก จริงๆแล้วตอนนี้ถ้าระดับนโยบาย ถ้าเทียบเป็นหมอก็เหมือนเป็นการบังคับว่า ยาขนานเดียวที่คุณหมอจ่ายมามันสามารถรักษาได้ทุกโรค ซึ่งมันไม่ใช่ ในฐานะที่ตนทำงานภาคสนาม เด็กบ้านนี้มีบริบทอย่างนี้ เป็นโรคอย่างนี้ ก็ยังบังคับกินยาขนานเดิมๆ  มันต้องให้อำนาจกับหมอที่อยู่ใกล้ชิดเด็ก คือครูในพื้นที่ ชุมชนที่อยู่อาศัย มีส่วนในการวินิจฉัยโรค แล้วค่อยให้เด็กรับยาที่เหมาะสม

                การประเมินการศึกษา ผู้บริหารบอกว่าประเมินตามสภาพจริง อิงพัฒนาการผู้เรียน สังคม วิถีชุมชน แต่มันไม่ใช่ เพราะผู้บริหารสั่งมาว่า โอเน็ต โอเน็ต ฝังหัวเลย เมื่อถึงปลายเดือนมกราคมครูตามต่างจังหวัดไม่ต้องทำอะไร ติวกันใหญ่ ตามชนบทเกิดศูนย์ติวเต็มไปหมด เด็กเงินไม่มีก็ต้องจ่าย ปั่นแต่เรื่องวิชาการอย่างเดียว ซึ่งเด็กไม่รู้เรื่องด้วยแล้วก็มาตัดสิน

เวลาผู้บริหารคุยกัน ถือเป็นเรื่องที่สยองของการศึกษามากเลย เช่น โอเน็ตปีนี้เท่าไหร่ ได้โอเน็ตเท่าไหร่ ผ่านไม่ผ่าน คุยกันเรื่องแค่นี้ แล้วกล้าเปิดเผยความจริงไหมว่า คะแนนที่เด็กได้แต่ละโรงเรียน เป็นคะแนนหลอกระดับชาติ

เวลาจะสอบผู้ใหญ่ระดับบน จะสั่งไปที่เขต เขตแต่ละเขตก็แข่งขันกันว่าผลโอเน็ตต้องได้คะแนนระดับนี้ แต่มันเป็นไปไม่ได้ เมื่อเป็นไปไม่ได้ก็ต้องใช้กระบวนการวิชามาร ซึ่งตนเคยเถียงกับผู้บริหารว่ามันทำไม่ได้หรอกวิธีแบบนี้อายเขา แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อย เพราะเมื่อเขาบังคับมาก็ต้องเอาครูมาช่วยเฉลยข้อสอบก่อนหนึ่งคืน พอข้อสอบจะไปถึงสนามสอบที่เรียกว่ากลุ่มการศึกษา ที่ตั้งผู้บริหารคนใดคนหนึ่งเป็นประธาน มีคณะกรรมการดูแลข้อสอบ ซึ่งข้อสอบตามความเป็นจริงต้องเปิดเช้าวันที่สอบ แต่นี่ถูกเปิดตั้งแต่กลางคืนและไม่มีคนมาตรวจสอบ กรรมการทุกคนเห็นด้วย แล้วก็มาเฉลยกัน พอตอนเช้าก็เอาโพยเล็กไปวางไว้ตามโต๊ะให้เด็กส่งต่อๆกันไป อันนี้คือเขตที่เคยเจอมา แล้วผลสอบออกก็มาคุยอวดกันว่า คณิตศาสตร์ผ่าน วิชานั้นผ่าน ผู้อำนวยการเขตก็ยิ้มพอใจ แต่มันคือการหลอก

                อะไรคือสิ่งที่ทุกข์ที่สุดในการทำงาน??? >>> เรื่องที่เราไม่มีอิสระในการจัดการเรียนการสอน จัดกระบวนการเรียนรู้ เวลาเราจัดการศึกษาหน่วยเหนือจะสั่งลงมาว่า จัดกระบวนการรับรู้ ความรู้ ถ่ายทอดความรู้ แต่ไม่ได้สอนจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเรียนรู้บูรณาการพัฒนาทักษะชีวิต ซึ่งเขาไม่เน้น เราเองเห็นว่าสิ่งที่เรียนไม่ได้ใช้สิ่งที่ใช้ไม่ได้เรียน ถ้าออกนอกตำราก็หาว่าสอนไม่ตรงตามหลักสูตร หลักสูตรของครูในปัจจุบันนี้มักเข้าใจผิดว่าคือตำราเรียน ที่พิมพ์จากสำนักพิมพ์ กรมวิชาการต่างๆ กว่าหนังสือจะมาถึงครูก็ไม่ได้สอนเด็กก็ไม่ได้เรียน

                คานงัดระบบอยู่ตรงไหน??>>> ในส่วนของกระทรวงไม่ใช่ว่านโยบายไม่ดี แต่เวลาปฏิบัติมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งครู ผู้บริหาร ชุมชน ต้องเปลี่ยนวิธีคิด กล้าตัดสินใจ จัดกิจกรรมการเรียนรู้ บนพื้นฐานสอดรับนโยบายของรัฐ เช่นที่กุดเสถียรโรงเรียนโดนยุบ เอาเด็กไปเรียนโรงเรียนใกล้เคียง ซึ่งเกิดปัญหาต่างๆตามมา ชุมชนรับไม่ได้ เด็กที่อยู่แต่เดิมคือลูกเมียหลวง เด็กที่ย้ายจากกุดเสถียรไปเป็นลูกเมียน้อย เวลาจัดงบการศึกษามาเด็กกลุ่มนี้จะไม่ค่อยได้รับการดูแล ถึงบางคนไม่มีวุฒิครูก็ตาม  เค้าดูแลเด็กแบบไม่เป็นธรรม เราจึงต้องขอโรงเรียนคืน

มันทำให้เราต้องคุยกับชุมชน ดึงผู้มีความรู้ในชุมชนเข้ามาสอนในรูปแบบต่างๆ ให้เกียรติเขาถึงจะไม่มีวุฒิปริญญาเหมือนเรา แต่ในเรื่องบางเรื่องเขาอาจมีความรู้มากกว่าเราที่ครูสอนไม่ได้ บางอย่างภูมิปัญญามันทำได้

 

ทำให้ครูเก่งได้ฉายแววได้เต็มที่เราทำยังไงได้บ้าง ??>>> ผู้บริหารต้องชัดเจน ให้ทั้งครู นักเรียน ชุมชน ลงมือปฏิบัติแล้วผลมันจะเกิดขึ้นเอง