ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์นักศึกษาผู้กู้ยืมเงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. หลังออก พ.ร.บ.ใหม่ เพิ่มดอกเบี้ยอีก นักวิชาการชี้แนวคิด กยศ. ผลักภาระให้นักเรียนบนฐานคิดแบบเสรีนิยมใหม่ รัฐลดบทบาทดูแลสวัสดิการพื้นฐานประชาชน ระบุควรขยายเวลาเริ่มชำระคืนเป็น 4-5 ปีเพื่อเอื้อการสร้างสรรค์งานนอกระบบตลาดแรงงาน
พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือ กยศ. ใหม่เพิ่งคลอดใหม่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาโดย กยศ. ระบุจุดประสงค์ของการออกกฎหมายฉบับใหม่ว่าเป็นไปเพื่อจัดการกับมาตรการในการทวงหนี้ที่หละหลวมมากผู้กู้ที่ค้างชำระหนี้สะสมตั้งแต่ปี 2547 ถูกฟ้องร้องแล้วกว่า 900,000 ราย มูลหนี้รวมประมาณ 90,000 ล้านบาท
มาตรการใหม่ที่สร้างเสียงวิจารณ์อย่างหนาหู เช่น ลูกหนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า, ให้นายจ้างหักเงินเดือนหรือค่าจ้างจากการทำงานเพื่อมาชำระหนี้ได้ทันที และการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กู้ได้ ตลอดจนการนำเงินกองทุนไปหาผลประโยชน์ในการลงทุนต่างๆ
จันทร์ (นามสมมติ) นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้ความเห็นว่า อัตราค่าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นสูงมากจาก 1% เป็นไม่เกิน 7.5% เป็นดอกเบี้ยที่เท่ากับกู้ธนาคารปกติขณะที่นักศึกษาจบใหม่ยังไม่มีรายได้ที่มากพอไหนจะค่าครองชีพที่สูงมากในสมัยนี้ ส่วนลูกหนี้เก่าที่เรียนจบแล้วแต่ไม่ได้จ่ายก็อาจจะมีหลายปัจจัยของแต่ละคนหรือมีภาระที่ต้องรับผิดชอบจนไม่สามารถไปจ่ายได้ แต่เธอเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ล้วนอยากจ่ายเพราะไม่มีใครอยากเป็นหนี้
“เราไม่ได้เป็นนักธุรกิจที่จะมีรายได้เข้ามาเยอะ หนึ่งปีได้เท่าไหร่เองขั้นต้นคณะวิศวะจบไปอาจเงินเดือนสัก 2 หมื่น หนึ่งปีได้ประมาณ 2 แสนบาท ยังไม่รวมค่าครองชีพที่สูงในสมัยนี้ไหนจะมีภาระที่ต้องรับผิดชอบทางด้านครอบครัวอีก’’จันทร์กล่าว
เชอร์รี (นามสมมติ) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม คณะวิทยาการจัดการ เอกวารสารและสื่อออนไลน์ ผู้กู้รายเก่าได้ให้ข้อมูลว่า การจ่ายเงินของ กยศ. เองมีความล่าช้าจ่ายต้นเดือนบ้างปลายเดือนบ้าง บางคนไม่มีเงินสำรองต้องอาศัยเงินส่วนนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างค่าหนังสือที่ต้องใช้ในการเรียนซึ่งก็ทำให้เริ่มเรียนได้ช้ากว่าคนอื่น
“ความล่าช้าของเงินในแต่ละเดือนล่าช้ามากล่าสุดต้องรอ 3-4 เดือน คือเรียนจะจบเทอมแล้วเงินถึงจะเข้ามาทบต้น มันก็จะลำบากในการเรียนเพราะเราไม่มีเงินซื้อหนังสือต้องรอเงิน จนชาวบ้านชาวเมืองเขาเรียนไปกันก่อนอย่างเดียวทำให้ต้องของเงินจากทางบ้าน ตกเดือนละ 2 ถึง 3 พันต่อเดือน ทางบ้านก็ไม่ได้รวยอะไรเป็นแม่ค้าขายของหากินไปวันๆ’’เชอร์รีกล่าว
เชอร์รีให้ข้อมูลต่ออีกว่า ส่วนเรื่องเงินค่าครองชีพที่ทาง กยศ. ให้ไม่พอกับการดำรงชีวิตในแต่ละวัน เงินในแต่ละเดือนที่ทาง กยศ. ส่งให้ตกอยู่ที่ 2200 ต่อเดือนซึ่งไม่เพียงพอต้องหางานทำหลังเลิกเรียน
“เงินค่าครองชีพของแต่ละเดือนที่ทาง กยศ. ให้ตกอยู่ที่ 2200 ต่อเดือน ซึ่งพูดได้เลยว่าไม่มีทางพอ ในแต่ละวันค่าครองชีพเฉลี่ยแล้วตกอยู่ที่ 250 บาท ทำให้ต้องหางานทำในช่วงตอนเย็นหลังเลิกเรียน ส่งผลให้เรียนไม่ทันเพื่อนเนื่องจากทำงานเลิกตึก ต้องพยายามอย่างมากเพื่อจะเรียนให้ทันเพื่อน”เชอร์รีกล่าว
นายสุภัทร จำปาทอง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)
โชคยังดีที่ พ.ร.บ. กยศ. ใหม่นี้ไม่ได้บรรจุเงื่อนไขการกู้ในเรื่อง “ผลการเรียนดี” ลงไปอย่างชัดเจนด้วยตามที่ พล.อ.ดาว์พงษ์รัตน สุวรรณ์ รมว. ศึกษาธิการเคยเสนอไว้ว่าควรตั้งไว้ที่เกรดเฉลี่ย 2.00
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าความจริงแล้ว กยศ. ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ รัฐบาลพยายามที่จะตัดงบอุดหนุนการศึกษาและเอา กยศ. มาอุดหนุนแทน ซึ่งเป็นการโยนภาระให้แก่ปัจเจกชนการทำแบบนี้มันไม่แฟร์ในช่วงเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา กยศ. พยายามจะบอกว่าทุนกู้ยืมเป็นทุนสินเชื่อต่ำไม่เกิน 1% และสามารถที่จะผ่อนชำระได้และมีส่วนลดต่างๆ แต่ในตัว พ.ร.บ ใหม่ มีแนวโน้มว่าจะขึ้นดอกเบี้ยที่สูงขึ้นด้วยข้ออ้างว่ารัฐบาลไม่มีเงินแล้วเป็นการสูญเงินเปล่ากับการที่ให้ผู้กู้ที่ไม่มีความสามารถในการใช้เงินคืน สิทธิเบื้องต้นของทุกคนในของตัว พ.ร.บ ตัวนี้มีความหมายว่าเฉพาะคนที่เรียนดีที่รัฐต้องการ จึงสามารถกู้ได้ด้วยเงื่อนไขที่ดีกว่าซึ่งจะเป็นลักษณะของการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ไม่ควรเอามาใช้กับการจัดสวัสดิการของรัฐบาล
ษัษฐรัมย์ระบุว่า การที่ กยศ. ไปเคร่งกับเรื่องความสามารถในการใช้คืนเป็นการหลงทางในทางปรัชญาทางการศึกษาการเพิ่มคุณภาพของมนุษย์อย่างที่ทราบว่าในปัจจุบันมูลค่าเพิ่มมันเกิดขึ้นกับการทำงานนอกระบบหรือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่มากกว่าการเข้าไปอยู่ในระบบแบบเดิมไม่ว่าจะเป็นระบบราชการหรือทำงานเป็นพนักงานบริษัท ถ้าคุณจำเป็นและรีบร้อนต้องการให้ลูกหนี้คืนเงิน ก็จะทำให้คนวิ่งเข้าหาตลาดแรงงานมากจะทำให้การสร้างสรรค์ในตลาดแรงงานลดน้อยลงไป
“แต่อันที่จริงรัฐบาลสามารถยืดหยุ่นเวลาการใช้คืน ในช่วงเวลาที่คนเริ่มต้นทำงาน 4 ถึง 5 ปีเพื่อให้ความสามารถใช้เงินคืนได้ ควรจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น” ษัษฐรัมย์กล่าว
เขากล่าวอีกว่า ระบบกู้ยืมฉบับนี้เป็นอยู่บนฐานคิดเสรีนิยมใหม่ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลทั่วโลกพยายามผลักดันเป้าหมายพยายามที่จะลดบทบาทของรัฐบาลโดยการจะจ่ายสวัสดิการต่างๆ ให้แก่ประชาชนน้อยลงและใช้กลไกการตลาดเข้ามา และเป็นกลไกที่ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็พยายามที่จะทำมาโดยตลอดเพราะว่ารัฐบาลก็ไม่อยากรับผิดชอบชีวิตของประชาชน ดังนั้น ภาคประชาชนควรจะช่วยกันผลักดันให้การดูแลชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นต้องอย่าปล่อยให้ประเทศถูกควบคุมโดยกลไกตลาดนิยม
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ไม่มีคำว่าไม่คุ้มทุนด้านการศึกษา ถ้ากองทุนมีปัญหาด้านการติดตามคนมาใช้หนี้ต้องหามาตรการจัดการเข้ามาใช้ ไม่ใช่เปลี่ยนจากระบบเดิมที่ไม่ว่าใครก็กู้ยืมได้เปลี่ยนมาเป็นระบบสวัสดิการสงเคราะห์ที่ไม่ได้เป็นกองทุนที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน และต้องไม่เอาผลการเรียนมาประกอบการกู้ ซึ่งเด็กที่ผลการเรียนที่ไม่ดีนั้น บางส่วนก็ต้องช่วยพ่อแม่ทำงานหาเงิน หรือผลการเรียนเขาไม่ดีอยู่แล้วมันจะทำให้เด็กมีโอกาสหลุดจากระบบการศึกษามากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้ต้องเข้าสู่ระบบแรงงานระดับล่างหรือกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาทางสังคมได้ แล้วถ้าคนเรียนจบ ปวช.3 หรือ ม.6 ได้มีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาแบบมหาวิทยาลัย พอเรียนจบแล้วได้เข้าถึงงานที่ดีมีประสิทธิภาพในด้านการงาน อยู่บนฐานของตัวเองได้ มีเงินจ่ายภาษีไม่ใช่แค่ตัวของเด็กเองที่ดีขึ้น แต่สงผลถึงครอบครัวของเขาด้วย นี่ก็คือกำไรของรัฐอยู่แล้ว ถ้ารัฐเปลี่ยนกองทุนที่เปิดให้โอกาสเข้าถึงนักศึกษา เปลี่ยนมาเป็นระบบสงเคราะห์ที่จะเลือกช่วยเด็กในแต่ละรายๆไป ซึ่งระบบสวัสดิการสงเคราะห์นี้คนไทย ได้ออกจากจุดนั้นมาไกลมากแล้วแต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ พ.ร.บ ฉบับใหม่นี้จะนำเราไปสู่ระบบเก่าที่เป็นระบบสงเคราะห์เหมือนเดิม
อรรถพล ระบุว่า สำหรับทางออก ในระยะเริ่มต้นประชาชนต้องกดดันให้มีกฎหมายลูกที่ป้องกันไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติกับเด็กที่เรียนดีกับเด็กเรียนไม่ดีควรให้ความเท่าเทียมกันไม่จำเป็นต้องเรียน หมอ วิศวะ เภสัช วิทยาศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ ตามที่ตลาดต้องการ ส่วนตัวดอกเบี้ยถึงแม้เขาจะใช้คำว่าไม่เกิน 7.5% โดยจะเก็บดอกเบี้ย 7.5% ได้ก็ต่อเมื่อเป็นลูกหนี้ที่ไม่ติดต่อมาหรือไม่สามารถติดต่อได้ คือไม่ใช่ว่าไม่มีเงิน แต่ไม่มีการตอบกลับหรือชี้แจงในระยะเวลา 2 ถึง 3 ปีจึงจะสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ แต่สำหรับคนปกติที่สามารถชำระเงินได้ตามงวดหรือว่ามีเหตุจำเป็นเช่น ภาวะการว่างงานหรือว่ามีภาระเหตุจำเป็นอื่นก็สามารถชี้แจงได้และในกฎหมายควรจะเขียนว่าไม่สามารถที่จะเก็บเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ส่วนในระยะยาวควรปรับให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถหากำไรได้อย่างเสรีโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยรัฐบาล แล้วก็อ้างว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้ระบบการศึกษาดีขึ้น แต่ว่าคุณแสวงหาความบ้าคลั่งผ่านกลไกทางการตลาด ซึ่งจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมในเวลาต่อมา ควรผลักดันผ่านตัวกฎหมายลูกให้เข้าถึงกองทุน กยศ. ได้อย่างเท่าเทียม
- 10 views