เทคโนโลยีทำให้การขายของและธุรกรรมออนไลน์เป็นไปได้ง่ายขึ้น “แม่ค้าออนไลน์” เป็นอีกทางเลือกของนักศึกษาที่ต้องการหารายได้ระหว่างเรียน แต่อีกโจทย์ใหญ่คือการแบ่งเวลาเรียนพร้อมกับบริหารเวลาทำธุรกิจเสริมจะเป็นของยากสำหรับพวกเขาหรือไม่
จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระบุว่ามูลค่าของตลาดการทำธุรกรรมและขายสินค้าออนไลน์ของประเทศไทยในปี 2558 อยู่ที่ 2.25 ล้านล้านบาท และในปี 2559 คาดการณ์ว่าอยู่ที่ 2.52 ล้านล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงปริมาณเงินหมุนเวียนในธุรกิจประเภทนี้ที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี
โดยผู้สื่อข่าวมีโอกาสสัมภาษณ์นักศึกษามหาวิทยาลัยทั้ง 2 คน และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ว่าการขายสินค้าออนไลน์มีบทบาทอย่างไรกับชีวิตในวัยเรียนของพวกเขา
ดวงดาว สุขนิคม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ ในกรุงเทพมหานคร เป็นตัวแทนจำหน่ายสบู่สครับกาแฟขมิ้นยี่ห้อหนึ่งมาได้หนึ่งปีแล้ว ปัจจุบันมีรายได้จากการขายสินค้าราว 200 ถึง 700 บาทต่อวัน
ดวงดาวเริ่มต้นขายสินค้าออนไลน์จากการทดลองใช้สบู่ยี่ห้อดังกล่าวก่อน แล้วรู้สึกชอบและคิดว่าต้องขายได้ อย่างไรก็ตามในช่วงแรกที่ขาย ยังขายสินค้าไม่ได้เลย แต่ใช้วิธีสังเกตว่าต้องโพสต์รูปอย่างไร จึงจะมีลูกค้าเข้ามาสนใจสินค้า ทำให้ขายดีขึ้น
ดวงดาวกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะเคยขายสินค้าได้ในปริมาณที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าตัวเองจะสามารถทำได้ การขายสินค้าออนไลน์เป็นอาชีพที่ดีสำหรับเธอ โดยรายได้จากการขายสินค้าออนไลน์ทำให้มีเงินสำหรับจ่ายค่าโทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ค่าเที่ยว รวมทั้งพอมีเงินเก็บด้วย
ส่วนเรื่องของการลงทุนดวงดาวเผยว่าถ้าเราลงทุนมากกำไรมาก ลงทุนน้อยก็ได้น้อย แล้วแต่เราเลือกจะลงทุุน ถามว่าคุ้มมั๊ยเรื่องกำไรบางครั้งเยอะบ้างน้อยบ้างแต่ก็คุ้มนะ ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งความอดทน ความพยายาม ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็จะคิดว่าคงขายไม่ได้ แต่พอมาขายมันก็เกินเพราะเราทำได้
ดวงดาวกล่าวอีกว่านอกจากตัวเธอเองที่ขายสินค้าออนไลน์ด้วยแล้ว ยังมีเพื่อนอีกคนหนึ่งที่ขายของออนไลน์เช่นกัน โดยขายอาหารเสริม แต่ก็พอขายได้บ้างเท่านั้น
ต่อคำถามว่าแบ่งเวลาทำงานอย่างไร ดวงดาวกล่าวว่า ใช้เวลาว่างจากการเรียนขายสินค้า เช่น ช่วงเช้าก่อนไปเรียน พักกินข้าวเที่ยง ช่วงเย็นของวันธรรมดาจะนำสินค้าไปส่งที่ไปรษณีย์ ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุด จะมีรับคำสั่งซื้อสินค้าบ้าง แต่ถ้าไม่มีเวลาก็จะแค่โพสต์ขายของตามเฟสบุ๊ก เคยมีช่วงหนึ่งเรียนอยู่ แต่มีการสั่งซื้อสินค้าหลายรายการ หนักเข้าก็ทำให้เสียสมาธิ รู้สึกตัวว่าเรียนไม่ทัน ไม่รู้ว่าอาจารย์พูดว่าอะไรในชั้นเรียน ก็จะใช้วิธีถามจากเพื่อนหรือถามอาจารย์ช่วงนอกรอบ ทั้งนี้การขายของเป็นอาชีพเสริม แต่การเรียนเป็นเรื่องหลัก จะได้ไม่คุ้มเสียตอนผลการเรียนออก ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายในการเรียน ดวงดาวกล่าวว่ามหาวิทยาลัยช่วยเหลือค่าใช้จ่ายบางส่วนตกเทอมละ 7,000 บาท
เธอกล่าวถึงผู้ที่สนใจขายสินค้าออนไลน์เพื่อสร้างรายได้ด้วยว่า “แม่ค้าออนไลน์เป็นอีกทางเลือกที่ดีอย่างหนึ่งแต่พอเรามีรายได้ ก็อย่าหลงไปกับเงินทองจนลืมไปว่าหน้าที่เราคืออะไร ส่วนคนที่ขายไม่ได้ก็อย่าท้อทุกอย่างต้องใช้เวลามีขึ้นมีลง แต่ไม่มีใครที่พยายามแล้วจะทำไม่ได้”
ด้าน ประภัสรา พันธ์พานิช นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนคูเมืองวิทยาคม จังหวัดบุรีรัมย์ เพิ่งเริ่มขายคอลลาเจนชนิดแคปซูลมาได้กว่า 1 เดือน สาเหตุที่เริ่มขายสินค้าออนไลน์เพราะอยากลองหาเงินมาใช้เอง ประกอบกับแม่ของประภัสราทำงานหนักเพื่อหาเงินสำหรับให้เธอใช้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา นอกจากนี้เพื่อแบ่งเบาภาระของแม่จึงเริ่มประกอบอาชีพขายสินค้าออนไลน์
อย่างไรก็ตามประภัสรายังไม่อยากคาดหวังมาก เพราะเพิ่งเริ่มขาย จึงใช้วิธีลองขายไปเรื่อยๆ ก่อน ทั้งนี้รายได้แต่ละวันไม่แน่นอน บางวันขายได้ 3 ซอง หรือ 750 บาท บางวันขายได้ 5 ซอง หรือ 1,250 บาท โดยประภัสรากล่าวด้วยว่ากำไรที่ได้ถือว่าคุ้มอยู่ เงินที่ได้จากการขายของก็เป็นค่าขนม สมทบกับเงินช่วยเหลือส่วนหนึ่งจากทางบ้าน
ประภัสรายังกล่าวอีกว่านอกจากตนเองที่ขายสินค้าออนไลน์แล้วนั้น ยังมีเพื่อนของตนเองอีกประมาณ 4-5ในชั้นเรียนของตนเองคนที่หันมาขายสินค้าออนไลน์ เช่น “ออม” ขายครีมกับเสื้อผ้า “เปิ้ล” ขายอาหารเสริม และ “แบม” ขายครีมทาผิวยี่ห้อหนึ่ง
เมื่อถามว่าขายสินค้าออนไลน์รบกวนชีวิตการเรียนหรือไม่ ประภัสรากล่าวว่า ไม่รบกวน ถ้ารู้จักจัดการเวลา เวลาเรียนเมื่ออาจารย์ประจำวิชาสั่งงานกลุ่ม ก็จะใช้วิธีแบ่งหัวข้อทำกับเพื่อน เมื่อทำงานกลุ่มเสร็จก็มีเวลาว่างมากขึ้น ทั้งนี้มักใช้เวลาช่วงพักหรือช่วงที่ไม่มีคาบเรียนขายของออนไลน์
ประภัสรากล่าวด้วยว่า บางคนอาจรู้สึกอาย แต่อยากบอกว่าอาชีพขายสินค้าออนไลน์ไม่ใช่สิ่งน่าอายสักนิด เพราะเราสามารถหาเงินใช้เองได้ แบ่งเบาภาระได้ และเรายังให้พ่อกับแม่และคนในครอบครัวภูมิใจในตัวเราได้อีกด้วย
ขณะที่เกศรินทร์ ผุดลาภ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพมหานคร ขายครีมบำรุงสุขภาพผิว(ลดสิว หน้าใส ฯลฯ) มาได้ 2 เดือนแล้ว โดยสาเหตุที่เลือกขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องจากเข้าถึงลูกค้าได้ง่าย และมีกำไรเยอะนำเสนอสินค้าได้ง่าย มีลูกค้าหลากหลายที่มองเห็นสินค้าที่เธอนำเสนอ
เกศรินทร์กล่าวด้วยว่า สินค้าสามารถขายได้เรื่อยๆ บางวันขายได้สองถึงสามร้อยบาท บางวันขายได้หนึ่งพันบาทก็มี แต่ถ้าคิดคำนวณเป็นเดือน ก็บอกไม่ถูกเนื่องจาก ยอดขายแต่ละวันไม่เท่ากัน บางวันขายไม่ได้ก็มี โดยก่อนจะนำสินค้ามาขายมีการศึกษาก่อนว่าคุณภาพสินค้าดีแค่ไหน มีกลุ่มลูกค้าต้องการสินค้ามากแค่ไหน นอกจากนี้หากสินค้ามีคุณภาพดี เชื่อว่าจะขายสินค้าได้แน่นอน อย่างไรก็ตามอยู่ที่ความขยันของคนได้ด้วย เนื่องจากเธอยังเรียนอยู่ จึงมีเวลาขายน้อย แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง
“สำหรับคนที่เรียนอยู่และอยากหารายได้ ควรเริ่มทำเลยอย่าลังเล แต่ต้องศึกษาข้อมูลของสินค้า และความต้องการของลูกค้า ที่สำคัญต้องกล้าที่จะนำเสนอสินค้า เขาจะสั่งหรือไม่สั่งสินค้าก็ไม่เป็นไร แต่เราต้องนำเสนอไว้ก่อน อย่ามัวแต่กล้าๆ กลัวๆ ไม่เช่นนั้นจะขายสินค้าไม่ได้ งานขายสินค้าออนไลน์นั้นไม่ใช่งานสบายเสียทีเดียว งานประเภทนี้ต้องอาศัยความขยันสูงมาก เพราะหากไม่ขยันก็จะไม่สามารถขายของได้” เกศรินทร์กล่าวทิ้งท้าย
กำลังซื้อของนักศึกษาหญิงทั่วประเทศ 1.5 แสนล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ตลาดการขายเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความงาม สำหรับนักศึกษา เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง โดยในรายงานของมติชนสุดสัปดาห์ เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ อ้างถึงงานวิจัยของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งวิจัยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาหญิงระดับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ พบว่าในปี 2559 มีจำนวนประมาณ 1.2 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 จากปี 2555 โดยนักศึกษาหญิงเหล่านี้มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 10,247 บาทต่อคนต่อเดือน คิดเป็นมูลค่าการตลาดกว่า 1.5 แสนล้านบาทต่อปี
โดยที่มาของรายได้นักศึกษาหญิงในปี 2559 นั้น ร้อยละ 61.4 ได้จากพ่อแม่ และอีกร้อยละ 35.8 มีรายได้จากพ่อแม่บวกกับรายได้พิเศษ และร้อยละ 2.8 มีรายได้พิเศษช่องทางเดียว ในงานวิจัยเปิดเผยด้วยว่า กลุ่มตัวอย่างนักศึกษาหญิงระดับปริญญาตรี 350 คน ร้อยละ 42 มีค่าใช้จ่ายหลักเป็นค่าอาหารกับเครื่องดื่ม และมีการซื้อสินค้าต่างๆ ร้อยละ 16 และค่าใช้จ่ายสำหรับท่องเที่ยวร้อยละ 13 ตามลำดับ
ฝ่ายแนะแนว ม.ราชมงคลตะวันออกชี้ถ้าแบ่งเวลาได้ ย่อมไม่กระทบการเรียน
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับ กัญธิมา ก้อนเพชร หัวหน้าแผนกแนะแนวการศึกษาและอาชีพ ฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ ซึ่งกล่าวว่า หากนักศึกษาแยกแยะได้ระหว่างเวลาเรียนกับการขายของออนไลน์ การทำงานพิเศษก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียนของนักศึกษามากนัก
เมื่อถามว่าค่าใช้จ่ายในการศึกษาของสถาบันสูงเกินไปหรือไม่ ทำให้นักศึกษาเลือกทำธุรกิจขายของออนไลน์ ฝ่ายกิจการนักศึกษาชี้แจงว่า ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของสถาบันไม่สูงมาก นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนส่วนหนึ่งมีผู้ปกครองส่งเรียน และอีกส่วนที่หารายได้เสริมระหว่างเรียนเพราะจะไม่ได้เป็นภาระของทางบ้าน สำหรับนักศึกษาที่ขายของออนไลน์บางคน พ่อ แม่ก็ส่งเรียน แต่ที่นักศึกษาเลือกทำงานพิเศษเพราะว่า อยากมีเงินเก็บเป็นของตัวเอง และใช้จ่ายซื้อของตามที่ตัวเองต้องการได้
ฝ่ายกิจการนักศึกษายืนยันด้วยว่ามีทุนการศึกษาเพียงพอสำหรับนักศึกษาที่ต้องการขอทุน สำหรับมาตรการช่วยเหลือนักศึกษานั้น ทางสถาบันมีการดำเนินงานตลอด โดยนักศึกษาสามารถติดต่ออาจารย์ที่คณะ แล้วฝ่ายกิจการนักศึกษาจะมีกิจกรรมให้นักศึกษาทำซึ่งถือเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อีกด้วย
- 96 views