Skip to main content

 

อดีตผู้ต้องขังขาดที่ยืนในสังคม ไม่มีงานทำ ทำให้เสี่ยงกลับเข้าเรือนจำอีก เผยเหตุเพราะมีประวัติอาชญากรรมติดตัวตลอดชีวิต นักวิชาการนิติศาสตร์แนะควรสร้างระบบบัญชีอาชญากรรม 2 บัญชี ช่วยลบประวัติอาชญากรรมในบัญชีเปิดเผย ด้านกรมราชทัณฑ์ต้องจัดการหาที่พักและงานรองรับคนกลุ่มนี้

สังคมไทยในขณะนี้มีผู้กระทำความผิดในกรณีต่างๆ เพิ่มมากขึ้น จนทำให้สังคมมีทัศนะคติต่อผู้ต้องขังว่าบุคคลเหล่านี้ถูกตัดขาดจากสังคม ไม่ยอมรับ เหมือนกับเคยกระทำความผิดไปแล้วไม่สามารถเข้าร่วมสังคมอีกได้ สิทธิต่างๆ ดูลดน้อยลงกว่าคนธรรมดา ส่งผลให้ฐานชีวิตหลังพ้นโทษออกมาไม่ดี เสี่ยงต่อการกลับเข้าสู่เส้นทางเดิมอีก

นายพล (นามสมมติ) เล่าว่าตนนั้นเข้าเรือนจำตอนอายุ 19 ปี ฐานความผิดค้าคดียาเสพติด และพกพาอาวุธ มีโทษประมาณ 2 ปี กว่าๆ เมื่อพ้นโทษออกมา กลับมาใช้ชีวิตประจำวัน โดยการไปสมัครงานหลายๆ แห่งพบปัญหาคือ รายชื่อของตนเองติดประวัติอาชญากรรม เป็นบุคคลที่มีความผิดทางกฎหมายมาก่อน

“ผมจะทำงานที่ดีๆ เหมือนกับคนอื่นไม่ได้ เพราะความผิดที่เคยก่อไว้ เหมือนกีดกันสิทธิของผม ต้องหางานทั่วไปทำไปก่อน ปัจจุบันไปหางานก็รู้สึกกล้าๆ กลัวๆ อายไม่กล้าทำงาน “

ขณะที่นายตั้ม (นามสมมติ) อดีตพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ที่ไปสังสรรค์กะเพื่อนและอ้างว่าไม่ทราบว่าเพื่อนผสมอะไรลงไปในเครื่องดื่ม แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบสารเสพติดทำให้เขาต้องถูกจำคุก 45 วัน ภายหลังพ้นโทษออกมาก็พบว่าสถานประกอบการเดิมให้ออกจากงาน เขาเปิดเผยความรู้สึกว่า

“หลังออกมารู้สึกไม่เหมือนเดิม อะไรๆ ก็เปลี่ยนไป งานที่ไปสมัครก็ค่อนข้างยาก รอการตอบรับนานมาก เคยคิดนะว่า อาจจะเป็นเพราะเราเคยมีประวัติหรือเปล่าถึงทำให้เป็นแบบนี้”

แม้ปัจจุบันเขาจะได้งานใหม่แล้ว แต่เพื่อนร่วมงานก็ยังมักถามถึงอดีตของเขา ซึ่งทำให้เขารู้สึกอึดอัดกับการตอบคำถาม

จากกรณีตัวอย่างที่ยกมาทำให้เกิดคำถามว่า ผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกมาสู้สังคมภายนอก พื้นที่ชีวิตของพวกเขาอยู่ที่ไหน เมื่อบุคคลเหล่านี้มีรายชื่อเป็นอาชญากรติดตัว แล้วจะทำอย่างไรให้มีฐานชีวิตที่มั่นคงเพียงพอต่อการกลับคืนสู่สังคม

ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผู้กระทำความผิดทางกฎหมายที่ถูกศาลตัดสินจำคุก แล้วพ้นโทษออกมา ปัจจุบันประวัติการติดคุกไม่ว่าข้อหาอะไรก็ตาม จะติดตัวจนกระทั่งเสียชีวิต ซึ่งจะไม่มีการลบรายชื่อออกจากบัญชี เนื่องจากมีระบบของไทยสมุดบันทึกประวัติอาชญากรมีเพียงเล่มเดียว

ส่งผลกระทบคือเป็นบัญชีที่ไม่ให้โอกาสคนกลับตัวเข้าสู่สังคม ซึ่งขัดกับวัตถุประสงค์ของการลงโทษเรือนจำมีไว้เพื่อฟื้นฟูคนให้เข้ากับสังคม

ปกป้องกล่าวว่า ขณะนี้กฎหมายไทยไม่มีกลไกลให้โอกาสคนโดยการลบประวัติออก ซึ่งต่างจากกฎหมายต่างประเทศ เช่นประเทศฝรั่งเศสจะแยกบัญชีอาชญากรเป็น 2 บัญชีคือบัญชีลับและบัญชีเปิดเผย โดยเมื่อผ่านไปชั่วระยะเวลาหนึ่งตามที่กำหนด นักโทษที่พ้นโทษสามารถขอร้องต่อศาลให้ปกปิดรายชื่อจากบัญชีเปิดเผยได้ แต่ยังคงมีชื่อยังอยู่ในบัญชีลับ เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนหากนักโทษกระทำความผิดซ้ำ

คำถามคือ แล้วก่อนหน้าที่จะสามารถลบประวัติอาชญากรรมได้ อดีตผู้ต้องขังจะสามารถหางานทำได้อย่างไร

ปกป้องอธิบายว่าเป็นหน้าที่ขอกรมราชทัณฑ์ที่จะต้องบริหารจัดการ 2 อย่างไว้รองรับแก่นักโทษคือที่อยู่และที่ทำงาน เพราะหากจัดการ 2 ส่วนนี้ได้ไม่ดีก็จะส่งผลให้นักโทษกลับสู่เรือนจำอีก

เพียงแต่ปัญหาผู้ต้องขังล้นคุกที่เผชิญอยู่ขณะนี้ ทำให้ทางกรมราชทัณฑ์ไม่สามารถสร้างระบบการจัดหางานและที่พักรองรับนักโทษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องดำเนินการแก้ไขก่อนเป็นเบื้องต้น มิฉะนั้นเรื่องอื่นๆ คงเป็นไปได้ยาก