คนพิการในสังคมโลกเป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสเป็นรองในสังคม ทั้งด้านการศึกษา การหางานทำ และการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ดังนั้นเพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความเท่าเทียมให้แก่ผู้อบรมกลุ่มผู้พิการในประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ดำเนินโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการเป็นรุ่นที่ 2 ซึ่งในปีนี้นอกจากจะมีการเรียนรู้ทางวิชาการแล้วก็ยังมีการสอดแทรกทักษะด้านอื่นๆ ให้แก่ผู้เข้าอบรมด้วย
หนึ่งในองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของคนพิการคือหลัก “Universal Design” หรือสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับบุคคลทุกคนทุกกลุ่มอายุอย่างเสมอภาคโดยหลักการใช้งาน 7 ข้อสำคัญที่คนพิการต้องรู้เพื่อการดำรงชีวิตประจำวัน นั่นคือ ความเสมอภาค ความยืดหยุ่น ใช้ง่ายเข้าใจง่าย มีข้อมูลชัดเจน ปลอดภัย ทุ่นแรงกาย และขนาดสถานที่ที่เหมาะสม ทั้งนี้ ดร.บุษเกตน์ อินทรปาสาน รองคณะบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. กล่าวว่า ในการอบรมครั้งนี้นอกจากการเรียนวิชาการและการฝึกทักษะทางอาชีพแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้อบรมกลุ่มผู้พิการได้ออกไปใช้ชีวิตภายนอกจริงๆ เนื่องจากผู้พิการบางคนแทบไม่ได้ออกจากบ้าน หรือสถานสงเคราะห์เลย จึงใช้วิชานี้เป็นโอกาสให้ผู้พิการหลายคนได้ก้าวออกจาก Safety Zone ของตัวเอง
“หลังจากที่สอนเรื่อง Universal Design และสร้างความเข้าใจ แล้ว เราก็ให้เค้าออกเดินทาง ออกไปทำสิ่งที่เค้าอยากทำ แล้วประเมินดูว่าสภาพแวดล้อมมันเอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตของเค้ามากน้อยอย่างไร แน่นอนว่าความบกพร่องทางร่างกายเป็นอุปสรรคที่ทำให้บางคนไม่สามารถดำเนินชีวิตปกติได้ แต่ในการอบรมเราจะพยายามสอดแทรกเรื่อง Independent Living คือการอยู่ได้ด้วยตนเองโดยไม่เป็นภาระให้กับคนอื่นในสังคม เพื่อปลุกความกล้าและความมั่นใจในตัวเค้าเอง แต่อย่างไรก็ตามสังคมจะเกิดสภาวะแบบ Independent Living ขึ้นได้นั้นต้องมีสองสิ่งสำคัญ หนึ่งคือความกล้าและความมั่นใจของคนพิการเอง และสองก็คือความพร้อมของบ้านเมืองที่พร้อมจะอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการอย่างเท่าเทียมในสังคม”
ซึ่งในครั้งนี้มีการเชิญคุณโสภณ ฉิมจินดา บุคคลผู้มีกำลังใจที่ดีและรักในการท่องเที่ยวโดย Wheel chair มาเป็นวิทยากรในเรื่อง Independent living เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มผู้พิการที่เข้าอบรมด้วยการฝากข้อคิดไว้ว่า “การออกไปเรียนรู้ถึงสภาพแวดล้อม เรื่องนั้นผู้พิการออกไปข้างนอกไม่ลำบาก แต่คนที่ลำบากคือผู้ที่มาช่วยเราในการเดินทาง การยก Wheel chair หรือการช่วยผู้พิการทางสายตาให้ผ่านอุปสรรคนั้นไปได้จึงอยากชวนให้ผู้พิการมีกำลังใจและออกไปข้างนอกด้วยตัวเองกันเถอะ”
อ.บุษเกตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากจบวิชานี้ มีคนพิการหลายคนสะท้อนให้ได้รู้ว่าทำไมที่ผ่านมาเค้าต้องอยู่แต่ในที่ของคนพิการ และทำไมคนพิการยังต้องพึ่งพาคนทั่วไปนั้น ส่วนหนึ่งมาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยในเมืองไทยโดยเฉพาะระบบขนส่งสาธารณะยังไม่พร้อมที่จะทำให้คนพิการมีความกล้าพอที่จะออกมาดำเนินชีวิตประจำวันแบบคนปกติ เพราะกลัวสภาพแวดล้อมที่ไม่ตอบสนองต่อความบกพร่องของร่างกายและถึงแม้ผลสะท้อนจะมาจากคนกลุ่มเล็กๆ แต่ก็กลายเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่ต้องพัฒนากันต่อไปเช่นกัน และในการอบรมครั้งนี้
นอกจากนั้นในการอบรมคนพิการครั้งนี้ มจธ. ได้เปิดให้มีการสอนวิชาย่อยอย่างการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย โดยมี อาจารย์ไกรศิลา กานนท์ นักพัฒนาการศึกษา สถาบันการเรียนรู้ มจธ. เป็นวิทยากร ซึ่ง อาจารย์ไกรศิลา กล่าวว่า ในการอบรมคนพิการจะได้เรียนรู้และฝึกฝนในด้านทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ จึงอยากให้คนพิการที่ผ่านการอบรมได้มีเวทีในการแสดงความรู้ความสามารถที่เรียนมา ผ่านผลงานซักหนึ่งชิ้น จึงนำมาซึ่งโจทย์สั้นๆ ว่าให้ทำคลิปวีดีโอมานำเสนอจะเป็นรูปแบบใดก็ได้ เรื่องใดก็ได้ โดยเน้นการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เพื่อสื่อสารสิ่งที่คนพิการอยากให้โลกโซเชียลได้รับรู้
“เราไม่ได้กำหนดเนื้อหาของเรื่องแต่หลังจากได้ดูคลิปที่พวกเขามานำเสนอ เรื่องราวที่พวกเขาถ่ายทอดออกมามันทรงพลังมากโดยตัวของมันเอง เพราะเป็นเรื่องราวชีวิตจริงของคนพิการที่สะท้อนออกมาผ่านหนังสั้นบ้าง โฆษณาบ้าง บางเรื่องที่สะท้อนออกมาเป็นเรื่องที่คนปกติมีร่างกายสมบูรณ์แบบเราไม่เคยคำนึงถึงเลย มันทำให้เราเข้าใจโลกของคนพิการมากขึ้น ว่ามีอีกหลายสิ่งที่พวกเขาอยากจะทำ หรือมีสถานที่หลายแห่งที่พวกเขาอยากจะไปแต่ไม่สามารถทำได้ เพราะข้อจำกัดของสิ่งเอื้ออำนวยความสะดวก และความเท่าเทียมในสังคม และจากบทเรียนนี้เราก็นำกลับไปสอนนักศึกษาของเราให้เค้าคำนึงอยู่เสมอว่าการที่จะออกแบบหรือพัฒนานวัตกรรมอะไรขึ้นมาซักอย่าง อยากให้ลองคำนึงถึง ผู้ใช้งานที่เป็นกลุ่มคนพิการด้วย”
บรรยากาศระหว่างถ่ายทำหนังสั้น
ทางด้านนายสิทธิชัย หอมหวน หรือ น้องบีท ตัวแทนจากกลุ่มคนพิการที่เข้าอบรมในโครงการครั้งนี้ กล่าวทิ้งท้ายว่าจากการอบรมครั้งนี้ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ในหลายเรื่อง ทั้งความรู้ในห้องเรียน ความรู้รอบตัว ทักษะชีวิตที่เพิ่มขึ้นได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ และเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมเหมือนกับคนทั่วไป
“กลุ่มของผมทำคลิปโฆษณาสั้นๆ และอีกหลายกลุ่มทำเป็นหนังสั้น พวกเราแบ่งหน้าที่กันตามความถนัด บางคนชอบคิดบท บางคนถนัดเรื่องแสดง บางคนชอบตัดต่อ รูปแบบของการนำเสนอแต่ละกลุ่มก็แตกต่างกันไป แต่พวกเรามีจุดประสงค์ในการสื่อสารอย่างเดียวกันคือเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมที่มีต่อคนพิการ”
และถึงแม้โครงการอบรมจะจบไปแล้วแต่สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวทั้งมุมมอง หรือข้อคิดจากฝีมือการถ่ายทอดของคนพิการในโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการนี้ก็สามารถเข้าไปชมใน Channel : PWD KMUTT ทาง youtube ได้ ทั้งนี้ในส่วนของโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการรุ่นที่ 2 จะมีการจัดพิธีปิดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้
- 2 views