Skip to main content

14 องค์กรประชาสังคมชายแดนใต้/ปาตานี เตรียมจัด “A Beautiful Children's Right Day” วันสิทธิเด็ก 21 พฤศจิกานี้ หวังทุกภาคส่วนตระหนักถึงสิทธิ-ร่วมปกป้องเด็ก สร้างพื้นที่ปลอดภัย ดันให้เด็กมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2558 ที่ศูนย์ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก อ.เมือง จ.ปัตตานี กลุ่มด้วยใจพร้อมเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมปาตานี 14 องค์กรร่วมประชุมเตรียมจัดงาน “A Beautiful Children's Right Day” หรืองานวันสิทธิเด็ก

นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ เปิดเผยว่า การจัดงาน “A Beautiful Children's Right Day” จะมีขึ้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 นี้ที่โรงยิมเนเซี่ยม สนามกีฬา องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ปัตตานี โดยให้สอดคล้องกับวันสิทธิเด็กสากลซึ่งตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี

นางสาวอัญชนา เปิดเผยต่อไปว่า การจัดงานนี้มีเป้าหมาย 1.สร้างการตระหนักทางด้านสิทธิเด็กให้กับหน่วยงานรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องในการปกป้องและคุ้มครองเด็กในพื้นที่ 2.เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนด้วยกันในการปกป้องและคุ้มครองเด็กในพื้นที่

3.เพื่อสร้างพื้นที่ให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการสร้างการปกป้องสิทธิตนเองและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันกระบวนการสันติภาพ 4.เพื่อสื่อสารเรื่องราวที่เกี่ยวกับสิทธิเด็กในพื้นที่ออกสู่ต่างประเทศ และ 5.เพื่อให้ต่างประเทศได้รับรู้ว่ามีการดำเนินการด้านสิทธิเด็กในพื้นที่ด้วย

นางสาวอัญชนา เปิดเผยด้วยว่า สำหรับกิจกรรมในวันงานมีดังนี้ 1.นิทรรศการที่เกี่ยวกับสิทธิเด็ก 2.การเล่าเรื่องราวของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในพื้นที่ “เสียงเด็กสันติภาพ” 3.ถอดบทเรียนการปกป้องคุ้มครองเด็ก กระบวนการ ปัญหา ผลลัพธ์ และข้อเสนอแนะเพื่อไปนำใช้ในการคุ้มครองและปกป้องเด็ก 4.กิจกรรมบนเวที เช่น การแสดงละคร ขับร้องอนาซีด เป็นต้น 5.การเสวนา เช่น สิทธิเด็กในมุมมองศาสนา การคุ้มครองและปกป้องสิทธิในอนาคต และ 6.การอ่านแถลงการณ์การคุ้มครองและปกป้องสิทธิเด็ก

นางสาวอัญชนา คาดว่า ผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้จะมีเด็กในพื้นที่ 400 คน เข้าร่วม ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในพื้นที่ ได้แก่ สูญเสียพ่อหรือแม่จากเหตุไม่สงบ 100 คน 2.คนในครอบครัวตกเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคง 80 คน 3.เด็กในครอบครัวผู้สูญหาย   10 คน 4.เด็กในครอบครัวผู้ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม 10 คน  5.เด็กครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบแต่ไม่ได้รับการรับรองจากเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย (ปกครอง ตำรวจ ทหาร) จึงทำให้ไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา จำนวน 50 คน และ 6.เด็กทั่วไป 150 คน

สำหรับรายชื่อดังองค์กรที่ร่วมจัด มีดังนี้ 1.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก 2.กลุ่มพิราบขาว 3. ‎กลุ่มจู่โจม จิตอาสาเพื่อสังคม 4.กลุ่มบุหงารายอ 5.มูลนิธินูซันตารอเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา(Nusantara) 6.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 7.กลุ่มเซากูนา 8.กลุ่มฟ้าใส 9.สมาคมเด็กและเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ 10. สมาคมเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (Patani Human Right Organization) 11.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) 13.กลุ่มด้วยใจ และ 14.กลุ่มลูกเหรียง

นางสาวอัญชนา กล่าวด้วยว่า เหตุไม่สงบในพื้นที่ในปี 2558 มีสถิติแสดงที่ให้เห็นว่าความรุนแรงต่อเด็กมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมามีเด็กเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหนึ่งและทำให้ขาดโอกาสทางการศึกษาจำนวนหนึ่ง

“เด็กบางคนสูญเสียผู้ปกครองไป เด็กบางคนได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่มีเด็กอีกกลุ่มที่น่ากังวล คือเด็กในครอบครัวที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม ครอบครัวผู้สูญหายและครอบครัวผู้หลบหนี ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐหรือเป็นเด็กนอกระบบเยียวยา ซึ่งเด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะใช้ความรุนแรงหรือถูกนำไปใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์จากทุกฝ่าย”

นางสาวอัญชนา เปิดเผยว่า สำหรับสนธิสัญญาว่าด้วยเด็ก โดยเฉพาะในการคุ้มครองเด็ก ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิ (Convention on the Right of the Child) ซึ่งระบุรายละเอียดของสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ไว้ว่าทุกประเทศต้องรับประกันเด็กในประเทศของตัวเอง โดยเป็นสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับความเห็นชอบมากที่สุดในโลก และใน พ.ศ.2535 ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญานี้ด้วย