เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2558 เวลา 16.30-19.30 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้โครงการศิลป์เสวนา จัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวทางสังคมของนักศึกษาในประเทศไทยและระดับโลก” โดยมี รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อ.ดร.เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ คณะศิลปะศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นผู้บรรยาย ดำเนินรายการโดย อ.ศุภวิทย์ ถาวรบุตร
สุธาชัย : การเคลื่อนไหวทางสังคมของนักศึกษาไทย
สุธาชัย ให้คำนิยามถึงขบวนการทางสังคมว่า มีลักษณะเป็นกลุ่ม มีประเด็นและเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยมากจะต้องมีลักษณะท้าทาย ต่อต้านรัฐ เช่น NGO ขบวนการทางสังคมยุคใหม่เป็นขบวนการปัญญาชนชนชั้นกลางนักศึกษา ร่วมด้วยขบวนการมวลชน กรรมาชีพ มีเป้าหมายเพื่อประชาธิปไตยและสิ่งแวดล้อม
ขบวนการนักศึกษาไทย เป็นขบวนการปัญญาชนชนชั้นกลาง มีนักศึกษา นักเรียนเป็นกำลังหลัก แต่ 14 ตุลา เป็นมากกว่าขบวนการนักศึกษาเพราะมีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วม สาเหตุของการเกิดขบวนการ 14 ตุลานั้น เกิดขึ้นจากผลผลิตและปฏิกิริยาจากเผด็จการถนอม-ประภาส รัฐบาลถนอมใช้ระบบเผด็จการนานถึง 13 เดือน (ไม่มีนายกรัฐมนตรี ไม่มีสภา ไม่มีกฎหมาย) โดยขบวนการ 14 ตุลานั้นเริ่มมีการเคลื่อนไหวตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2511 โดยถนอมยืนยันว่าจะไม่มีรัฐประหารอีกในเวลาอันใกล้แต่สุดท้ายในปี 2514 ถนอมก็ทำรัฐประหารอีกครั้ง ส่งผลให้ปฏิกิริยาต่อต้านรัฐบาลเริ่มมีมากขึ้น ประกอบกับในยุคนั้นมีการเพิ่มขึ้นของสถาบันการศึกษาในระดับภูมิภาค ส่งผลให้จำนวนนักศึกษาเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว นัยหนึ่งขบวนการนักศึกษาจึงเป็นผลผลิตของรัฐบาลถนอม
ขบวนการ 14 ตุลาส่วนหนึ่งเป็นผลของการเลือกข้างสังคมนิยมในภาวะสงครามเย็น ฝ่ายรัฐเลือกอเมริกา ขบวนการที่ต่อต้านอย่างนักศึกษาจึงตัดสินใจเลือกจีน ในยุคนั้นนักศึกษามีความสนใจเรื่องจีนเป็นอย่างมาก ด้านรัฐบาลให้คำอธิบายที่ไม่มีข้อมูลจริงเกี่ยวกับจีน ใช้นโยบายป้ายสีจีนแบบปากต่อปาก ขณะที่นักศึกษาที่ไปเรียนในต่างประเทศไม่ได้เจอข้อมูลแบบนี้ จึงเกิดการต่อต้านรัฐบาล เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวสิ่งที่นักศึกษาเริ่มทำคือต่อต้านสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว คือต่อต้านความล้าหลังในมหาวิทยาลัย เป็นปฏิกิริยาต่อยุคสายลมแสงแดด ต่อต้านประเพณีการรับน้องแบบล้าหลัง เช่น การว๊าก สั่งวิดพื้น จับโยนลงน้ำ และนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาแบบเท่าเทียม รับน้องอย่างสร้างสรรค์ ยกเลิกโซตัส (ซึ่งมีธรรมศาสตร์เป็นโมเดลในยุคนั้น)
การเคลื่อนไหวของนักศึกษาเริ่มยกระดับการเคลื่อนไหวเป็นการต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยม ต่อต้านการตั้งฐานทัพอเมริกันในไทย ต่อต้านเศรษฐกิจและการครอบงำทางวัฒนธรรม และเสนอให้ประเทศเป็นอิสระ พึ่งตนเอง เห็นได้ชัดว่า การเคลื่อนไหวทางสังคมจะแสดงเป้าหมายในการต่อต้านและยังมีข้อเสนอที่เป็นคู่ตรงข้ามอีกด้วย ยิ่งการเผยแพร่ลัทธิมาร์กซ์ในตอนนั้นมีมาก โดยใช้ระบบคิดชุดตรงข้ามเข้ามาวิเคราะห์ เช่น เป้าหมายของการยกย่องเชิดชูอยู่ที่กรรมาชีพ (ไม่ใช่ชนชั้นสูงอีกต่อไป) แสดงให้เห็นว่า 14ตุลาเป็นขบวนการที่ Radical หรือถอนรากถอนโคนมาก วิพากษ์สังคมและชนชั้นนำอย่างรุนแรง และยังมีการนำเสนอการวิพากษ์ในประเด็นใหม่ๆอีกเป็นจำนวนมาก เช่น วิพากษ์มหาวิทยาลัย ระบบการศึกษาว่าเป็นของชนชั้นสูง วิพากษ์หลักสูตร เผาวรรณคดี และที่ถูกวิพากษ์มากคือวิชาประวัติศาสตร์เพราะประวัติศาสตร์รับใช้ชนชั้นนำมองข้ามชนชั้นล่าง(ประชาชน)
และยังเป็นครั้งแรกที่ปัญหาสตรีได้รับการพูดถึง ว่าด้วยการกดขี่ทางเพศ จนเกิดหนังสือของจิตร ภูมิศักดิ์ที่โด่งดังมากคือ หนังสืออดีต ปัจจุบัน อนาคตของสตรีไทย มีการพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม การทำลายป่า การสร้างเขื่อน ปัญหาสาธารณสุข ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงการรักษา ฐานะทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดสุขภาพ มีการวิพากษ์แพทย์ว่า หมอรักษาคนที่มีเงินจ่ายเท่านั้น แพทย์หากินบนความทุกข์ของคนอื่น ขบวนการนักศึกษาจึงเป็นขบวนการใหญ่ที่ครอบคลุมในหลายด้าน
เชาวฤทธิ์ : การเคลื่อนไหวทางสังคมของนักศึกษาทั่วโลก
เชาวฤทธิ์ ได้พูดถึงการเคลื่อนไหวทางสังคมในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่ามีการก่อตั้งของมหาวิทยาลัยในยุคกลางซึ่งเป็นของชนชั้นสูง การเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้เป็นไปเพื่อประชาชนแต่เกิดเพราะความขัดแย้งระหว่างนักศึกษากับคนในเมืองนั้น เช่น การแต่งตัวของนักศึกษาที่ดูน่าอึดอัดสำหรับชาวเมือง (นักศึกษาอ็อกซ์ฟอร์ดใส่ครุยยาว) และยังขัดแย้งกันเกี่ยวกับบทบาทหน้าสำคัญในเมือง ซึ่งนักศึกษาในยุคนั้นสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ แต่หลังจากการปฏิวัติต่างๆ (ทั้งปฏิวัติวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม) การศึกษาขยายไปสู่ชนชั้นกลางและชนชั้นล่างมากขึ้น
การเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่เป็นรูปเป็นร่างครั้งแรกเกิดขึ้นที่เยอรมัน (ศตวรรษที่19) ซึ่งเรียกร้องให้กษัตริย์ปรับปรุงการศึกษา ในปี 1848 เกิดขบวนการปฏิวัติของนักศึกษาในเวียนนาที่สามารถยึดและตั้งรัฐบาลของตนเองได้ แต่ผ่านไปไม่นานก็ถูกยึดอำนาจคืน ในโลกตะวันออก จีนเริ่มมีระบบการศึกษา(ขงจื้อ) ในยุคราชวงศ์ฮั่นเกิดการเคลื่อนไหวให้กษัตริย์ปล่อยตัวขุนนางคนหนึ่ง เกิดการต่อต้านผู้ปกครอง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในจีนนั้นมาก่อรนสัญญาประชาคมของ จอห์น ล็อค เสียอีก ปี 1126 เป็นครั้งแรกที่การประท้วงของนักศึกษาได้รับการยอมรับจากจักรพรรดิจีน แต่หลังการแพ้สงครามฝิ่นก็เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในจีน ระบบการศึกษาจึงถูกเปลี่ยนไปใช้ในรูปแบบตะวันตก
หลังศตวรรษที่ 19 ขบวนการเคลื่อนไหวที่สำคัญเกิดขึ้นที่รัสเซีย เพราะรัสเซียมีการพัฒนาที่ล้าหลังกว่าประเทศอื่นมาก จึงเกิดขบวนการอนาธิปัตย์ที่พยายามล้มล้างระบบการปกครองแบบผู้นำ(กษัตริย์) นักศึกษาใช้การสู้แบบแมวจับหนู ลอบโจมตี ลอบวางระเบิก ซึ่งรัฐบาลรัสเซียเลือกใช้วิธีการปราบปรามที่รุนแรง และยิ่งหลังการเปลี่ยนผ่านกษัตริย์ ยิ่งส่งผลให้การปราบปรามนักศึกษามาเพิ่มมากขึ้น ในยุคนั้นขบวนการเคลื่อนไหวเริ่มขยายไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา จีนเกิดการปฏิรูประบบการศึกษา ยกเลิกการสอบจองหงวน ปี 1906 มีการจัดตั้งสภานักศึกษาจีนเป็นครั้งแรก ในอินโดนีเซียเกิดขบวนการนักศึกษาเพื่อต่อต้านฮอลแลนด์ ในพม่ามีการเคลื่อนไหวต่อต้านจักรวรรดินิยม โดยผู้นำในขบวนการนักศึกษาที่กล่าวมา ท้ายที่สุดผู้นำเหล่านั้น (นายพลอองซาน ฯลฯ) จะกลายมาเป็นผู้นำทางการเมือง ในขณะที่สังคมไทย ผู้นำขบวนการนักศึกษาไม่ได้ก้าวขึ้นไปมีบทบาทในการเป็นผู้นำประเทศ
ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นสูง คือสังคมที่แนวคิดคอมมิวนิสต์เติบโตได้เป็นอย่างดี นักศึกษาในละตินอเมริกาจึงลุกมาเคลื่อนไหวต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา สิ่งที่เกิดขึ้นในละตินคือมีรัฐบาลทหารและสังคมนิยมจำนวนมาก เพราะเชื่อว่าสังคมนิยมจะทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน ด้านขบวนการนักศึกษาในอเมริกาเริ่มในปี 1920 ซึ่งยึดเอาแนวคิดเสรีนิยมมาใช้ บทบาทของนักศึกษาอเมริกันจึงมีมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่2แล้ว
เชาวฤทธิ์ ได้ทิ้งท้ายว่า ในประเทศไทยนั้นขบวนการเคลื่อนไหวของยุวชนในสังคมมีอยู่ตลอดเวลาเพียงแต่เรามองข้ามมันไป ที่เห็นได้ชัดคือโครงการ To Be Number 1 ซึ่งมีสมาชิกถึง 20 ล้านคน
- 60 views