มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดสำนักงานการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ (Gifted Education Office : GEO) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและผลักดันสร้างสรรค์ให้เกิดกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนเพื่อพัฒนานักศึกษา มจธ. ให้เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป
ผศ.ดร.วิมล ศิริปรีดาสวัสดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษา และรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ (GEO) เปิดเผยว่า มจธ. ได้จัดตั้งสำนักงานการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ เรียกสั้นๆว่า GEO ขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2557 ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนและประสานงานโครงการด้านการพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ พิเศษให้มีประสิทธิภาพ โดยเด็กที่จะเข้ามาร่วมใน GEO จะมาจากการผ่านการทำแบบทดสอบและการออกไปหาจากเด็กระดับชั้นมัธยมศึกษาที่ผ่านการทำกิจกรรมหรือโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งวิธีการคัดสรรเด็กกลุ่มนี้จากภายในมหาวิทยาลัย ทางอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจะออกแบบข้อสอบด้านคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ที่ต่างไปจากโรงเรียนกวดวิชาทั่วไป เพราะต้องการวัดความเข้าใจและความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ในเชิงลึกของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เพื่อเฟ้นหาเด็กที่มีพรสวรรค์ (Gifted) ซึ่งคะแนนที่ได้ต้องสูงกว่า
3 เท่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
กับอีกรูปแบบหนึ่งคือทางสำนักงานการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษจะออกไปเป็นแมวมองเฟ้นหาเด็กกลุ่ม Gifted จากกิจกรรมการแข่งขันโครงงานด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมจากเวทีต่างๆ ทั้งที่ มจธ. จัดขึ้นและ
ที่หน่วยงานภายนอกอื่นๆ จัดขึ้น เพื่อดึงเด็กกลุ่มดังกล่าวเข้ามาเรียนใน มจธ. และเข้าสู่โปรแกรมการพัฒนาความสามารถพิเศษ ซึ่งปัจจุบันสามารถเฟ้นหาเด็กในกลุ่มที่มีพรสวรรค์พิเศษได้แล้วประมาณ 50 คน ถือเป็นรุ่นแรกจากเด็กที่เข้าใหม่ทั้งหมดประมาณ 5,000 คน ในปีการศึกษา 2557 ที่ผ่านมา
ด้าน ดร.ปิติวุฒญ์ ธีรกิตติกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ (GEO) และอาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามกล่าวว่า เมื่อเฟ้นหาเด็กในกลุ่ม Gifted ได้แล้วจะจัดกิจกรรม ใน 2 รูปแบบ คือ กิจกรรมในห้องเรียน สำนักงานการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์จัดให้มีห้องเรียนที่มีการเรียนการสอนแบบ Honors Program ซึ่งนักศึกษาจะได้เนื้อหาความรู้ในวิชาเดียวกัน แต่เรียนในเชิงลึกมากกว่าชั้นเรียนปกติ ในรูปแบบที่ท้าทายความสามารถ เพื่อเพิ่มความเข้าใจทางวิชาการและทฤษฏีมากขึ้น อีกทั้งยังใกล้ชิดกับอาจารย์ผู้สอนด้วยจำนวนนักศึกษาไม่เกิน 20คน/ชั้นเรียน โดยเริ่มต้นใน 2 วิชาพื้นฐานที่นักศึกษาเกือบทุกสาขาวิชาจะต้องเรียน คือวิชาคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์
“สิ่งที่เราสอนเด็กกลุ่มที่มีความสามารถพิเศษ (Gifted) คือ กำหนดโจทย์ในหัวข้อเดียวกัน แต่มีมิติที่ลึกกว่ามากๆ ให้เขา เพื่อให้เด็กรู้ว่าวิธีการได้มาซึ่งหัวข้อนั้นเป็นอย่างไร อาจารย์จะใช้วิธีการพูดคุย กับเด็กจนสามารถโต้แย้งกันไปมาได้ จนเด็กรู้ว่า จริงๆ แล้วองค์ความรู้เหล่านั้นมันได้มาได้อย่างไร แต่อย่างไรก็ตามเราไม่อยากให้เด็กกลุ่มนี้เขาถูกแยกออกมาโดดเดี่ยวถึงแม้การป้อนความรู้ทางวิชาการบางอย่างจะต้องแยกเขาออกมา จึงต้องมีกิจกรรมเสริมนอกห้องเรียนตลอดเวลา เช่น ในปีที่ผ่านมาจัดกิจกรรมการสร้าง Leaning Tool โดยสำนักงานการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความสามารถพิเศษ จัดให้กับเด็กกลุ่มที่มีความสามารถพิเศษ และต้องการแสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ ในรูปแบบนวัตกรรมต่างๆ ที่ผ่านมาเราจัดให้มีโครงการประกวดนวัตกรรม Learning Tool ให้นักศึกษาทั้งในกลุ่ม Gifted และนักศึกษาทั่วไป ร่วมแข่งขันประกวดนวัตกรรมชิงทุนการศึกษา รวมกว่า 1 แสนบาท ซึ่งนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับโจทย์เพื่อพัฒนาเครื่องมือ /อุปกรณ์/เทคโนโลยี เพื่อช่วยในการถ่ายทอดองค์ความรู้ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นให้แก่ผู้อื่น โดยมีเวลาในการพัฒนาผลงานเป็นเวลา 5 เดือน ซึ่งนักศึกษาจะต้องนำเสนอความคืบหน้าทุกๆ เดือน”
ดร.ปิติวุฒญ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ซึ่งในช่วงเวลา 5 เดือนนี้เอง สำนักงานการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความสามารถพิเศษ จะเข้าไป Workshop เสริมทักษะต่างๆ ให้แก่นักศึกษาไปพร้อมๆ กัน อาทิ การพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ เป็นต้น ดังนั้น จากที่เขารู้ปกติ เขาก็จะสามารถรู้ในลูปที่ลึกกว่านั้นลงไปอีก ซึ่งอาจารย์คิดว่าต่อไปเด็กกลุ่มนี้ถ้ารู้ได้ขนาดนี้เขาอาจจะสามารถคิดทฤษฏีใหม่ๆ ขึ้นมาได้อีกมาก ซึ่งในปีการศึกษา 2558 สำนักงานการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความสามารถพิเศษ ได้จัดกิจกรรม KMUTT’s Challenge 2015 ให้นักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัย ช่วยกันโหวตปัญหาภายในรั้วมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาคิดว่าควรได้รับการแก้ไข เพื่อคัดเลือกปัญหามากำหนดเป็นโจทย์สำหรับให้นักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย ร่วมพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาจริงเหล่านั้น กระทั่งสามารถพัฒนาเป็น Prototype ได้ในที่สุด
“แรงจูงใจคือนอกจากจะมีทุนการศึกษาให้แล้วทางสำนักงานเองก็พยายามหาทางที่จะจดสิทธิบัตรให้ได้ หรือหาทางไปร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานอื่นให้สิ่งเหล่านี้ถูกผลิตออกมาจริงๆ นั่นคือเป็นการผลักดันให้เด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาดูเหมือนจะไม่ชอบงานวิชาการมากนัก แต่สามารถประยุกต์วิทยาศาสตร์มาเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ใช้จริงได้ หรือมีแนวคิดในการสร้างนวัตกรรมอย่างมีเหตุมีผลได้”
ในช่วงที่น้องๆ มัธยมปลายกำลังเลือกที่จะไปเรียนต่อที่ไหน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเด็กที่มีของในตัว (Gifted) เรียกได้ว่าเป็นเด็กเก่งและอยากปล่อยของที่นี่ก็เป็นอีกสถาบันการศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย
- 237 views