Skip to main content

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2558 เวลา 13.00-16.00 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้โครงการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน จัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “สุโขทัยกับอาเซียน : มองปัจจุบันผ่านอดีตจากมิติประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี” โดยมีวิทยากรทั้งหมด 4 ท่านด้วยกันคือ ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์, อ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร และ อ.ดร.สายป่าน ปุริวรรณชนะ โดยมี อ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ศักดิ์ชัย ได้ให้มุมมองว่า สุโขทัยก่อนจะสถาปนาอาณาจักรนั้นมีหลักฐานการอาศัยอยู่ของคนก่อนประวัติศาสตร์ เริ่มต้นอารยะธรรมมาจากเขมรแล้วค่อยๆ พัฒนาศิลปกรรมมาจากลังกา จนสุดท้ายพัฒนาเป็นแบบเฉพาะของตนเอง และสิ้นสุดลงในตอนที่ถูกผนวกเข้ากับอยุธยา สิ่งที่สะท้อนอัตลักษณ์ในแต่ละยุคสมัยนั้นคือศิลปกรรม และศิลปกรรมเองยังเชื่อมโยงวัฒนธรรมและศาสนาเข้าด้วยกัน

ด้านพิพัฒน์ มองว่า ประวัติศาสตร์สุโขทัยมีลักษณะเป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นเส้นตรงและหลายส่วนถูกมองข้ามไป ทำให้ขาดมุมมองในแง่เศรษฐกิจและสังคม เวลาพูดถึงรัฐโบราณเหล่านี้ว่ามีความสัมพันธ์กับประเทศในอาเซียนอย่างไรจึงถูกพูดถึงในแง่ของสงคราม ประวัติศาสตร์สุโขทัยจึงถูกนำมาใช้ในการสร้างชาติ ทำให้ความจริงถูกตีความไปอีกแบบหนึ่ง

ขณะที่รุ่งโรจน์ กล่าวว่า การรับรู้เรื่องราวที่เกี่ยวกับสุโขทัยหายไปจนสุดท้ายเหลือตกค้างอยู่ในพงศาวดารจำนวนน้อย การศึกษาสุโขทัยจริงๆ เริ่มต้นที่รัชกาลที่ 4 ซึ่งเริ่มต้นจากการอ่านศิลาจารึก แต่ปัญหาของงานศึกษาประวัติศาสตร์สุโขทัยเกิดขึ้นเพราะ เรายึดติดว่าสุโขทัยเป็นรัฐแห่งแรก และยังมองว่ายุคหลังพ่อขุนรามคำแหงคือยุคมืด ประวัติศาสตร์หลังจากนั้นจึงถูกรวมศูนย์การศึกษาอยู่ที่อยุธยา รุ่งโรจน์เสนอว่า เราต้องมองรัฐสุโขทัยในฐานะรัฐโบราณ ไม่ใช่ Nation State ความสัมพันธ์แบบอาเซียนของสุโขทัยจึงต้องเป็นลักษณะรัฐโบราณ

ประภัสสร์ ที่ทำงานศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสุโขทัยกับนครศรีธรรมราช ใช้การวิเคราะห์ภาพงานศิลปกรรมของนครศรีธรรมราชกับสุโขทัยซึ่งได้ผลการอธิบายว่าแม้ข้อความในจารึกหลักที่ 1 ของสุโขทัยจะมีชื่อของนครศรีธรรมราชปรากฎอยู่ในข้อความเกี่ยวกับศาสนาและเขตแดน แต่ลักษณะทางศิลปกรรมขององค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชกลับไม่แสดงความสัมพันธ์กับเจดีย์ของทางสุโขทัยแม้จะมีการอ้างกันเสมอว่ารูปแบบของทางนครศรีธรรมราชนั้นส่งขึ้นไปให้กับสุโขทัย เราอาจจะลากเส้นความสัมพันธ์ของสุโขทัยกับนครศรีธรรมราชได้ว่า สุโขทัยในต้นพุทธศตวรรษที่ 19 รู้จักนครศรีธรรมราชผ่านสุพรรณภูมิในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างอันเป็นทางออกสู่ทะเลทิศใต้ ส่วนนครศรีธรรมราชในพุทธศตวรรษที่ 21 รู้จักสุโขทัยผ่านกรุงศรีอยุธยาในฐานะศูนย์กลางในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีอำนาจขึ้นไปทางตอนเหนือ

ด้านสายป่าน ที่ศึกษาสุโขทัยตำนานในประวัติศาสตร์กับบทบาททางสังคม ให้มุมมองเกี่ยวกับตำนานว่า คนในสังคมเชื่อว่าตำนานเป็นความจริงแม้ว่าจะมีอภินิหารมากมาย แต่ในฐานะของมนุษย์ที่ต้องการสิ่งที่เรียกว่าอัตลักษณ์ และความเป็นไทยแท้กลับถูกตั้งคำถาม มนุษย์ไม่อยากโดดเดี่ยวจึงมีชุดเรื่องเล่าขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว คนทั่วไปมักคิดว่าเมืองในอุดมคติมีอยู่จริงและภาพสุโขทัยในอุดมคตินั้นตอบสนองความต้องการที่เลือกจะเชื่อ สุโขทัยจึงถูกประกอบสร้างให้เป็นรัฐอุดมคติผ่านตำนาน อาทิเช่น ตำนานพระร่วงซึ่งทับซ้อนกับกษัตริย์อย่างพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ในประวัติศาสตร์ จนถูกผลิตซ้ำในวรรณกรรม (จนนำไปสู่การสรรเสริญกษัตริย์ในแบบพระร่วง) การเล่าประวัติศาสตร์แบบตำนานนี้ทำให้เกิดความรู้สึกภูมิใจในความเป็นชาติ สร้างความทรงจำและจิตสำนึกร่วมของคนในชาติ

คุยกับ พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้จัดงาน

ในการจัดงานเสวนาครั้งนี้มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานประมาณ 300 กว่าคน ทำให้ผู้เขียนมองเห็นว่าเป็นการจัดงานเสวนาทางวิชาการที่ประสบความสำเร็จครั้งหนึ่ง จึงได้สัมภาษณ์ผู้จัดงานอย่างอาจารย์พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ เพิ่มเติมถึงเรื่องการจัดงานดังกล่าว

เด็กหลังห้อง : อาจารย์ได้แรงบันดาลใจหรือมีเหตุผลอะไรในการจัดงานหัวข้อ "สุโขทัยกับอาเซียน" ?

พิพัฒน์ : เหตุผลของการจัดเสวนาครั้งนี้คือ เมื่อปีที่แล้วผมได้จัดเสวนาเรื่อง “ยุคมืดของประวัติศาสตร์ไทย หลังยุคพุทธเถรวาท และการเข้ามาของคนไท” ปีนี้จึงเลือกจัดเสวนาเรื่องสุโขทัยในฐานะที่เป็น “ยุคสว่าง” หรือ “รุ่งอรุณแห่งความสุข” เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศการเปิดประชาคมอาเซียน ซึ่งเหมือนกับสุโขทัยถึงจะเป็นรัฐที่ตั้งอยู่ตอนในของแผ่นดินก็จริงแต่ไม่ใช่เป็นรัฐปิด แต่เป็นรัฐที่เปิดสู่ประชาคมโลกรัฐหนึ่งในยุคนั้น

ดังนั้นวัตถุประสงค์หลักของงานเสวนานี้ก็คือ การเข้าใจเรื่องเครือข่ายการค้า (Trade network) โดยเฉพาะการค้าตอนในของแผ่นดิน โดยมองผ่านความสัมพันธ์ของรัฐสุโขทัยที่มีต่อรัฐอื่นๆ โดยจงใจเลือกให้สุโขทัยเป็นศูนย์กลางของเรื่อง ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตเราก็สามารถอธิบายรัฐอื่นเช่น เชียงใหม่ เวียงจันทน์ เมาะตะมะในฐานะที่เป็นศูนย์กลางได้เช่นกัน

ประการสุดท้าย การอธิบายประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัยยังคงอยู่ภายใต้แนวคิดประวัติศาสตร์แบบเส้นตรงแบบแนวดิ่ง (Vertical history) ที่เรียงลำดับจากสมัยก่อนสุโขทัย-สุโขทัย-อยุธยา-ธนบุรี-รัตนโกสินทร์ ทำให้ขาดมิติการมองประวัติศาสตร์ในแนวระนาบ (Horizontal history) ประวัติศาสตร์แนวระนาบคือประวัติศาสตร์ที่รัฐๆ หนึ่ง อาณาจักรๆ หนึ่งมีความสัมพันธ์กับอาณาจักรข้างเคียงหรือแม้กระทั่งเมืองบริวารของตนเอง ดังนั้น เราจึงควรมาพิจารณาประวัติศาสตร์สุโขทัยในสองแนวทาง เพื่อให้เข้าใจประวัติศาสตร์สุโขทัยเองและความสัมพันธ์ในระดับภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น เหตุผลลึกไปกว่านั้นก็คือ ประวัติศาสตร์ไทยมักพูดว่าเริ่มต้นสมัยสุโขทัย แต่อยากชี้เห็นได้ว่ามันมีรัฐอื่นที่เกิดขึ้นพร้อมกัน และสุโขทัยก็ต้องปฏิสัมพันธ์กับรัฐพวกนี้ เพราะฉะนั้นสุโขทัยไม่ใช่เมืองหลวงแห่งแรกของไทย

อาจารย์คาดหวังว่าคนจะมาร่วมงานจำนวนมากแค่ไหน และจำนวนคนที่มาร่วมงานเกินความคาดหมายหรือเปล่า?

ผมคะเนไม่ถูกหรอกครับ ผมคาดหวังแค่สัก 100 คนเท่านั้น เพราะไม่มากไปสำหรับห้องประชุมของคณะ

ผมว่าสมัยนี้ระบบลงทะเบียนและระบบออนไลน์มันดีขึ้น ผมทำคนเดียวมันก็ยังทำอะไรได้ไม่สะดวก ปรากฏว่าคนลงทะเบียนตั้ง 300 กว่าคน เกินที่คาดการ สุดท้ายก็เลยต้องย้ายห้องเสวนากะทันหัน

อาจารย์มีความเห็นอย่างไรที่มีคนจำนวนมากสนใจประเด็นนี้ หรือเพราะเหตุผลใดที่ทำให้งานครั้งนี้ได้รับการตอบรับอย่างดี ?

หนึ่ง คนไทยทุกคนเรียนประวัติศาสตร์สุโขทัย เพราะฉะนั้นมันขายง่าย ไม่ว่าคนที่มาจะถูกปลูกฝังมันในแง่มุมใดก็ตาม สอง สุโขทัยเป็นแหล่งมรดกโลก เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นมีไกด์จำนวนมากที่เขาสนใจมาฟัง อีกอย่างส่วนหนึ่งคงอยากได้หนังสือเสวนา เพราะเวลามาฟังแล้วได้ความรู้ติดมือไปมันก็คงให้ความรู้สึกว่าได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันดีครับ

และผมยังคิดว่าคนในสังคมไทยพร้อมจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่มันเปลี่ยนไป แต่ปัญหาคือมันเข้าไม่ถึง และคนโดยทั่วไปเชื่อว่ามันไม่มีทาง ผมว่ามันเป็นไปได้ ถ้าเราทำให้งานเสวนาน่าเชื่อถือ มีสิ่งพิมพ์ที่เป็นความรู้ และไม่มัวแต่ประชดกันด้วยอคติ แล้วเอาคนฟังมาเป็นคนสนับสนุนความเชื่อของตนเองที่เป็นเพียงความเห็นไม่ใช่ความรู้

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับ E-book ได้ที่ https://drive.google.com/file/d/0B2-ffoow-9AMUU9mNVFNRzBNRXM/view