Skip to main content

ชี้พัฒนาคุณภาพการศึกษาต้องได้รับ “สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์”  จึงสามารถตอบสนอง-รับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพของพลเมือง  

การศึกษาไทยภายใต้กระแสความเปลี่ยนแปลงทางสังคมควรมีคุณภาพมาตรฐานอย่างไร เพื่อให้รู้เท่าทันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ จากการติดตามข่าว สถานการณ์ปัญหา รายงานข้อมูลจากแหล่งข้อมูลในเว็บไซด์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การเมือง และการศึกษา เช่น กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ข่าวหนังสือพิมพ์ออนไลน์สำนักข่าวต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงระหว่างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมกับการสร้างคุณภาพการศึกษาไทย  เนื่องจากสังคมมีลักษณะพลวัต ในบางเรื่องเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น ด้านเทคโนโลยีการผลิต ด้านการเมือง ในบางครั้งก้าวหน้าและบางครั้งถดถอยจนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ การศึกษาจึงควรผลิตพลเมืองที่รับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้

คุณภาพการศึกษาไทยอยู่ภายใต้บริบทสังคม 3 บริบทที่ซ้อนกันคือ 1) บริบทสังคมไทย 2) บริบทอาเซียน และ 3) บริบทสากล โดยผู้นำประเทศ ผู้บริหารด้านการศึกษาต้องการทำระบบการศึกษาไทยให้มีความเป็นมาตรฐานสากลและได้รับการเชื่อมั่นจากประชาชน เพื่อให้ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

1.    บริบทสังคมไทย ณ ปัจจุบัน อยู่ในสถานการณ์ปัญหา 4 สถานการณ์หลัก ได้แก่

1.1           พื้นที่ในประเทศได้รับการพัฒนาอย่างไม่เท่าเทียม (Uneven development)  และเชื่อมโยงกับระบบการจัดการศึกษาที่ไม่ทั่วถึงด้วย คือ การกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นยังน้อยเกินไปและไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ความเป็นเมืองศูนย์กลางเทียบกับความเป็นชุมชนท้องถิ่น และความเป็นมหานครกับความเป็นต่างจังหวัดมีความแตกต่างกันมากเกินไป  รัฐไม่ให้ความสำคัญกับกับความเสมอภาคของประชาชน และการจัดสรรทรัพยากรให้ทั่วถึง โดยเฉพาะเรื่องการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพไม่เท่าเทียมกัน และขยายปัญหาความไม่ยุติธรรมซึ่งเป็นที่มาของการวิพากษ์วิจารณ์ และความขัดแย้งทางสังคม

1.2           การผลิตและคุณภาพของแรงงานไทย   แรงงานไทยส่วนใหญ่ยังมีทักษะฝีมือขั้นกลาง-ต่ำ ทำงานในสถานประกอบการที่ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีการผลิตที่ยังไม่ก้าวหน้า เช่น การใช้แรงงานเข้มข้นในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม งานบริการที่ใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมากขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมในไทยเป็นการลงทุนจากกลุ่มทุนข้ามชาติ ผลิตเพื่อส่งออก แต่ทุนของไทยยังไม่ได้พัฒนาสร้างสรรค์เครื่องมือการผลิตให้ทันสมัย  อีกทั้ง ผู้ใช้แรงงานยังมีเงินเดือนและสวัสดิการระดับกลางถึงต่ำ เนื่องจากยังมีการใช้รูปแบบการจ้างงานที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น การทำงานแบบเหมาช่วง สัญญาจ้างระยะสั้น มีกระแสการเคลื่อนย้ายของแรงงานเพื่อแสวงหารายได้ที่สูงกว่า เช่น ไปทำงานต่างประเทศ แต่มีความจำกัดในการเตรียมความพร้อมด้านทักษะและกฎหมายคุ้มครองแรงงานก่อนไปทำงาน และในบริบทอาเซียนก็จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือมากขึ้น ที่ท้าทายต่อมาตรฐานแรงงานในประเทศ

ในส่วนของการผลิตที่ก้าวหน้า แต่คุณภาพหรือสำนึกของพลเมืองไม่ได้ก้าวไปพร้อมกัน มีช่องว่างในแง่มีเครื่องมือเทคโนโลยีทันสมัย แต่การให้ความรู้และความระมัดระวังในการใช้เครื่องมือนั้นยังไม่เพียงพอ ก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือในขณะข้ามถนน ในขณะขับรถ การใช้เทคโนโลยีสื่อสารออนไลน์ แหล่งข่าว/ข้อมูลมีมากมายหลากหลายขึ้น แต่ผู้รับสารขาดวิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร เพราะขาดการศึกษาที่เพียงพอจึงขาดจิตสำนึก

1.3     ปัญหาสังคมที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาอาชญากรรม การใช้ความรุนแรงในบ้าน อุบัติเหตุบนท้องถนน การทุจริตคอรัปชั่นอยู่ในระดับรุนแรง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า สะท้อนวัฒนธรรมที่ผิดพลาดบางประการของคนในสังคม ที่มาจากกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม หรือนโยบายของรัฐไทยที่ผ่านมา รวมทั้งสื่อต่างๆ ที่ขาดความรับผิดชอบต่อเยาวชนและสังคม เช่น สื่อลามกอนาจาร เผยรูปผู้ต้องหา ผู้เสียชีวิต เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายกรณีต่างๆ อย่างโจ่งแจ้ง

1.4    การพัฒนาการศึกษาไทยกระทำภายใต้กรอบการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล คสช. ที่ยึดอำนาจจากประชาชน ซึ่งยังคงมีความขัดแย้งสำคัญดำรงอยู่ระหว่างการพยายามกระชับอำนาจการเมืองการปกครองกับความสืบเนื่องในการปฏิรูปการศึกษาจากหลายรัฐบาลก่อนหน้า ความพยายามในการปฏิรูปก่อนหน้ามีอาทิเช่น  การปรับหลักสูตรให้สมดุลกันระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น สร้างเสริมวิธีการเรียนให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น ปรับปรุงคุณสมบัติครูตรงสาขาและการยกระดับคุณภาพชีวิตของครู บุคลากรทางการศึกษา เพิ่มความสอดรับระหว่างชั่วโมงเรียนกับกิจกรรม ที่เล็งเห็นความสำคัญของการใช้เวลาในห้องเรียนให้ได้ประโยชน์สูงสุด และลดภาระของนักเรียน

จากวาระการปฏิรูปการศึกษาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยสรุปคือ ระบบการศึกษาใหม่ต้องเป็นการศึกษาเพื่อ “สัมมาชีพ คุณภาพชีวิต และการมีส่วนร่วมต่อสังคม” โดยหน้าที่การจัดการศึกษาจะไม่ใช่ของรัฐแต่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป ปรับบทบาทรัฐให้กลายเป็นผู้สนับสนุน ส่งเสริมภาคส่วนต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา รวมถึงการ “กระจายอำนาจ” ไปยังสถานศึกษาและสังคมอย่างแท้จริง ให้เกิด “หลากหน้าที่ หลายผู้จัด” สร้างกลไกให้สังคมเป็นผู้ร่วมจัดการศึกษาและร่วมรับผิดชอบผลหรือคุณภาพของการจัดการศึกษามากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงการยกระดับประชาชนให้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบคุณภาพการศึกษา ไม่ใช่แค่ส่วนกลางเท่านั้น และเปิดพื้นที่การแสดงออกให้แก่ทุกภาคส่วน ทั้งนี้เพื่อป้องกันอนาคตประเทศชาติทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมจากความเสี่ยงนานัปการ รวมทั้งเป็นการเตรียมพร้อมที่จะต้องเผชิญกับโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคต

แต่ความสืบเนื่องในความพยายามดังกล่าวกระทำหรือจำกัดอยู่ในกรอบที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้  เปิดช่องทางในการเสนอแนะที่จำกัดและควบคุม รวมศูนย์ความคิดผู้เรียนผ่านวิชาหน้าที่พลเมืองและค่านิยม 12 ประการ

2.    บริบทอาเซียน  คือ การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การยอมรับและเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน และในภูมิภาคเดียวกัน เปิดมุมมองโลกทัศน์กว้างขึ้น การเทียบมาตรฐานการศึกษาระหว่างกัน การสร้างโอกาสทางการศึกษา การมีงานทำ การลงทุน การแก้ไขปัญหาแรงงานอพยพร่วมกันในภูมิภาคนี้

เมื่อศึกษาระบบการจัดการศึกษาประเทศบางประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนโดยสังเขป เช่น ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย มีลักษณะการนำการศึกษารองรับการแข่งขันทางเศรษฐกิจ นโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาล วิสัยทัศน์ของผู้นำ คือ วิสัยทัศน์ของชาติที่การศึกษาต้องนำไปสู่การสร้างความมั่งคั่ง แต่สิ่งที่ควรเปรียบเทียบอีกประเด็น  คือ นโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาล เพราะจะทำให้เห็นบริบทการเมืองการปกครองที่แตกต่างจากไทย เช่น สิงคโปร์มีรูปแบบการบริหารการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจแตกต่างจากไทย ที่ล่าสุดศาลตัดสินลงโทษกักขังเอมอส ยี (Amos Yee) นักเรียนอายุ 16 ปีไว้ในสถานพินิจ ข้อหาวิพากษ์วิจารณ์ละเมิดอดีตผู้นำลีกวนยู หลังจากที่เสียชีวิต เผยแพร่ทางยูทูป มาเลเซียมีประเด็นความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่เข้มข้นกว่าไทย

3.    บริบทสากล  กระแสโลกาภิวัตน์ที่ท้าทายปัจจัยภายในประเทศ อาจสร้างความอ่อนแอหรือโอกาสที่จะเข้มแข็ง

ประเทศไทยมักถูกนำไปเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และกับประเทศในแถบเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบเรื่องความสามารถในการแข่งขัน การจัดอันดับคุณภาพการศึกษา เช่น

·         การจัดอันดับประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก

·         การจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก

·         การจัดอันดับการสอบแข่งขันระหว่างประเทศ เช่น PISA และอื่นๆ

·         การจัดอันดับประเทศที่นักเรียนอายุ 15 ปีทำการบ้านมากที่สุดต่อสัปดาห์

·         การเปรียบเทียบชั่วโมงเรียนของประเทศสมาชิกองค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD เทียบกับประเทศในแถบเอเชีย

อีกทั้ง ในกระแสสากล เช่น แถบยุโรป อเมริกา เคยประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2551 (ค.ศ. 2008) และยังมีปัญหาค้างคามาจนถึงปัจจุบัน ดังกรณีที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศกรีซ ที่ไทยควรเรียนรู้วิธีคิด แนวทางแก้ปัญหา และการรับมือกับปัญหาในอดีตและติดตามปัญหาในปัจจุบัน ผ่านระบบการศึกษา (หลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน ครูผู้สอน นักการศึกษา) รวมไปถึงกระแสการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติ ผู้อพยพลี้ภัยจำนวนมากที่เป็นผลมาจากการก่อสงครามกลางเมืองของประเทศแถบตะวันออกกลางกับบทบาทของประเทศมหาอำนาจที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง เราจึงควรเตรียมพร้อมรับการปรับเปลี่ยนมุมมอง การระมัดระวังเรื่องของการเหยียดเชื้อชาติ สีผิว และศาสนา

ดังนั้น  คุณภาพการศึกษาต้องคำนึงถึงสถานการณ์ทั้งหมดดังกล่าว โดยเฉพาะในสถานการณ์ข้อ 1.4 ในบริบทสังคมไทยที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร  การพัฒนาคุณภาพการศึกษาต้องได้รับ “สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์” จึงจะสามารถตอบสนองและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพของพลเมือง  โดยสร้างความสามารถในการผลิต ยกระดับการคิดวิเคราะห์ การปกป้องคุ้มครองตนเองของผู้เรียน ยกระดับความเป็นอยู่ที่ดี และสามารถปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเองได้ เมื่อถูกเอารัดเอาเปรียบ สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์คือการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ผู้นำอาจไม่ต้องการจริงๆ