Skip to main content

เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา สมาคมวิจัยชายแดนอุษาคเนย์ (SEABORS) ร่วมกับ ร้านหนังสือบูคู BUKU CLASSROOM พร้อมกับกลุ่มนักศึกษา Soc-Anth PSU Pattani และ มอ.ปัตตานีประชาธิปไตย (PSPD) จัดกิจกรรมอ่านหนังสือ หัวข้อ "พรมแดนระหว่างเรา" ในโครงการ Pattani Review of Books ณ ร้านหนังสือบูคู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

           

กิจกรรมนี้ได้เชิญวิทยากร 2 ท่านมาบรรยายหนังสือ คือ อาจารย์งามศุกร์ รัตนเสถียร จากมหาวิทยาลัยมหิดล ปริทัศน์หนังสือเรื่อง "The Lemon Tree: An Arab, A Jew, and The Heart of Middle East" เขียนโดย Sandy Tolan อ.งามศุกร์ตั้งประเด็นต่อการอ่านหนังสือเล่มนี้ในมุมมองของ สันติวิธี มิตรภาพ และความขัดแย้ง ที่สามารถเป็นบทเรียนจากตะวันออกกลางถึงสามจังหวัดภาคใต้ หนังสือสะท้อนภาพปัญหาความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างและความขัดแย้งในเชิงอัตลักษณ์และคุณค่าของวัฒนธรรม การตั้งคำถามว่า มนุษย์ทดกับความขัดแย้งและจัดการมันได้อย่างไร โดยเล่าผ่านวิถีชีวิตของชาวพุทธและมุสลิมในบ้านเกิดที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

ขณะที่ อาจารย์ ฮารา ชินทาโร่ อาจารย์สอนภาษามาลายูจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ปริทัศน์หนังสือเรื่อง "Burmese Days" โดย George Orwell โดย อ.ชินทาโร่เลือกหยิบอ่านงานของนักเขียนชาวอังกฤษผู้มีผลงานอมตะอย่าง 1984 และ Animal Farm เพราะมองว่าหนังสือเล่มนี้อธิบายเรื่องราวสภาพสังคมการเมืองโดยเฉพาะในสังคมที่ยังตกอยู่ภายใต้การปกครองด้วยระบอบอยุติธรรมโดยเปรียบเทียบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนผ่านในหลายประเทศภูมิภาคอุษาคเนย์ หนังสือเล่มนี้ยังแฝงด้วยภาพสะท้อนแหลมคมของโครงสร้างสังคมที่เต็มไปด้วยการกดขี่ในประเทศพม่ายุคทศวรรษ 1920 และยิ่งสะท้อนให้เรามองเห็นภาพเหล่านั้นได้ชัดขึ้นเมื่อหันกลับมามองในสังคมรอบตัวเรา

อาจารย์สมัคร์ กอเซ็ม อาจารย์พิเศษ (มานุษยวิทยา) จาก ม.อ.ปัตตานี และผู้ก่อตั้ง SEABORS อธิบายถึงความคิดในการจัดสัมมนาปริทัศน์หนังสือในครั้งนี้เพื่อเป็นยืนหยัดพื้นที่การอ่านของคนรุ่นใหม่ที่สนใจต่อการตั้งคำถามกับสังคม การวิพากษ์วิจารณ์ และสร้างความรู้ของนักศึกษาในสามจังหวัดชายแดนใต้ การจัดวงคุยเสวนาทางวิชาการจึงควรเป็นพื้นที่สำคัญเพื่อหล่อเลี้ยงความคิดและอุดมการณ์ของคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ จึงได้เชิญชวนให้กลุ่มนักศึกษาทั้งสองกลุ่มจาก ม.อ.ปัตตานีมาร่วมจัดกิจกรรมด้วยกัน

นอกจากนี้ประจวบเหมาะกับร้านหนังสือบูคู ในปัตตานี ที่ยังคงเน้นส่งเสริมการจัดกิจกรรมกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ชื่อ Buku Classroom โดยมีจุดเน้นเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้เรื่องเพศสภาวะ เพศวิถี สุขภาวะทางเพศ สิทธิมนุษยชน และสิทธิความหลากหลายทางเพศ สำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ การทำงานสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องนี้เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ

ทางด้านผู้จัดกิจกรรมอย่างตัวแทนกลุ่ม ม.อ.ปัตตานีประชาธิปไตย กล่าวว่า กิจกรรม Pattani Review of Books เป็นกิจกรรมที่สร้างความตระหนักรู้เท่าทันสังคมโลก ที่เกิดขึ้นทั้งในอดีต และปัจจุบัน ให้แก่คนที่เข้าร่วม โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวสมัยใหม่ โดยผ่านการบรรยายของวิทยากรที่ศึกษาข้อมูลจากหนังสืออย่างตรึงแน่น แล้วปริทัศน์ออกมาเป็นภาษาพูด จากนั้นก็เปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมรับฟังสามารถตั้งคำถาม และโต้เถียงแลกเปลี่ยนความคิดได้ จนทำให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดที่สร้างสรรค์ออกมาและจะทำให้เกิดการพัฒนาความคิดต่อไปภายในตัว