Skip to main content

วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน 2558 กลุ่มสภาหน้าโดม จัดเวทีเสวนา "โซตัส เท่ากับ รักน้อง? ความรุนแรงซ่อนรูปภายใต้สถาบันการศึกษา" โดยมีวิทยากรคือ ลลิตา หาญวงษ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปิยรัฐ จงเทพ อดีตเลขาธิการ Anti-SOTUS ดำเนินรายการโดย เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี ณ ห้อง 301 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ปิยรัฐ จงเทพ  ได้กล่าวว่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมายังมีความรุนแรงในการรับน้องอย่างต่อเนื่อง มีการเผยแผ่ผ่าน social network กระแสสังคมค่อนข้างไม่ยอมรับกับเรื่องนี้  และกรณี ลลิตา ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ไม่ใช่กรณีแรกเพราะอาจารย์สอนคณิตที่บางมดก็เคยโดนหลังวิพากษ์วิจารณ์การแห่เสื้อช็อป แต่ไม่มีเสนอข่าวและปัจจุบัน Social Network เสนอข่าวมากขึ้นเท่านั้นเอง

ปิยรัฐ กล่าวถึงกรณี ลลิตา ด้วยว่า ตนโดนหางเลข มีผู้เข้ามาต่อว่าทางแชท แม้ภายหลังจะมีการกล่าวขอโทษว่าเกิดจากความมึนเมา อย่างไรก็ตามผู้บริหารและมหาวิทยาลัยใดๆ ไม่ควรปฏิเสธการรับรู้ต่อรูปแบบกิจกรรมที่เกิดขึ้นในสถานศึกษาของตน

สมัยที่ตนเรียนอยู่ไม่ค่อยโดนการแตะเนื้อต้องตัวจากกระแสโซตัส เนื่องจากมีกลุ่มเพื่อนที่เข้าใจ มองว่าการรับน้อง หลายคนทำเพื่อให้อยู่ได้ ไม่ให้เป็นแกะดำ บางทีก็เป็นแกะดำในฝูงหมาป่า การที่เราตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบโซตัส เพราะอยากให้สังคมหาวิธีการแก้ไขปัญหาและทางออกที่ยั่งยืน 

"งานหนักไม่เคยฆ่าคน  แต่ใช่ต้องจำทนเพราะเราเป็นคนไม่ใช่ควาย" ปิยรัฐ กล่าว   

ยุกติ  ได้กล่าวถึงปรากฏการณ์ของ ลลิตา ว่า ไม่เรียกว่าการรับน้อง  เรียกว่าการรับเพื่อนใหม่ แต่ทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นอยู่ที่เราจะจริงจังแค่ไหนและมีเพื่ออะไร เพื่อตอบโจทย์สังคมหรือรองรับระบบคุณค่าแบบไหน

ยุกติ อธิบาย สิ่งที่เรียกว่า ‘พิธีกรรม’ ว่า มนุษย์ประกอบพิธีกรรมตลอดเวลา มนุษย์ไม่ได้อยู่กับหลักเหตุผลเลย แต่ส่วนตัวไม่ได้ปฏิเสธพิธีกรรม พิธีกรรมที่ใหญ่ขึ้น คือ พิธีกรรมของการเปลี่ยนสถานะ และไม่มีสังคมไหนที่ปราศจากพิธีกรรม

สำหรับ การรับน้อง ยุกติ กล่าวว่า ต้องถามว่า  เพื่อตอบโจทย์สังคม หรือรองรับระบบคุณค่าแบบไหน ขอพูดในมุมมองการผลิตซ้ำระบบอาวุโส หรืออำนาจนิยมนี้อีกครั้ง เพราะการให้การศึกษาด้วยความรุนแรง

ยุกติ กล่าวต่อว่า ต่างกับการศึกษาด้วยการให้เหตุให้ผล  การว๊ากจึงจำเป็นในการรับน้องโดยใช้อำนาจนี้ รุนแรงกว่านั้น คือการรับน้องที่ทำให้คนไม่เป็นคน เช่น การแสดงออกที่คล้ายการร่วมเพศของสัตว์ บางทีการรับน้องไม่ใช่การสร้างสังคมเล็กๆในมหาลัย เพราะไมได้ให้เป็นเพียงรุ่นพี่ในมหาลัย แต่กำลังผลิตซ้ำเรื่องราวในสังคมใหญ่ๆ เช่น การกระทืบเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ การยึดอำนาจก็ยอมรับได้ เป็นการปลูกฝังระบบอำนาจนิยมในสังคม

ยุกติ  กล่าวด้วยว่า ตนเคยเป็นรุ่นพี่ในชั้นมัธยม แต่เข้ามาในมหาวิทยาลัยภาพลักษณ์อ.ป๋วย อ.ปรีดีไม่มีภาพลักษณ์การใช้อำนาจ ตนจึงปฏิเสธการรับน้องตั้งแต่นั้นมา ที่กล่าวมาทั้งหมดอยากบอกว่า สังคมเปลี่ยนได้ วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนได้

ด้าน  ลลิตา  กล่าวว่า เด็กในอุดมศึกษามีการศึกษาเล่าเรียนที่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ทำให้ต่างกันคือ ความรู้รอบตัว รู้รอบ แต่ดันถูกจำกัดโดยการรับน้อง เข้าห้องเชียร์ กลับหอมาก็เหนื่อย ตอนเช้าก็ตื่นไปเรียนทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้ และเชื่อว่าพิธีกรรม ประเพณีเป็นสิ่งที่วิจารณ์ได้ สามารถถกเถียงว่าดีอย่างไรไม่ใช่สักแต่โพสต์ต่อว่า ไม่ได้หวั่นไหวกับประเด็นเหล่านี้ แต่หวั่นไหวต่อกระแสสังคมการซุบซิบนินทา จนป่านนี้ยังไม่มีการมาขอขมา แต่ไม่ได้คาดหวังให้มีการขอขมา เพราะไม่ได้เห็นด้วยกับระบบโซตัส หรือระบบอาวุโส ไม่ต้องการมีเรื่องกับใคร

ลลิตา  กล่าวว่า ผิดหวังมากๆ กับตัวศิษย์เก่าที่โพสต์รูป ข้อความรุนแรง  ในมุมมองนักประวัติศาสตร์ สังคมไทยลืมง่าย  และซึมซับความเป็นนิยายน้ำเน่ามาเยอะ หลายอย่างกลายเป็นเรื่องดราม่าทั้งหมดไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเรื่องใดๆ ทั้งที่คนไทยมักอ้างคำว่าการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ รวมทั้งการเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Center)  ที่คนไทยใช้คำนี้มากว่า 10 ปี ซึ่งสวนทางกับระบบโซตัสมาก

ลลิตา กล่าวอีกว่า การเรียนการสอนวรรณคดีไทยก็เช่นกัน คนไทยชอบโยนให้ท่องวรรคทอง แต่ไมได้ให้เด็กไปหาวรรคที่ตัวเองประทับใจ เราเลือกวรรคทองให้เด็กไปท่อง แต่ไม่ได้ใส่ใจวรรคทองของเด็กเอง การศึกษาไทยรวมศูนย์มากเกินไปไม่ได้วัดความต้องการของเด็ก ที่มหาวิทยาลัยโซแอสที่ตนเรียนไม่มีการรับน้อง มีการจัดงานครึ่งวันก็เพื่อปฐมนิเทศชีวิตในมหาวิทยาลัย อีกทั้งในผับอังกฤษความงอกงามทางความรู้เกิดบนโต๊ะเบียร์ 

ขณะที่ ช่วงตอบคำถามผู้รับฟังการเสวนาได้มีการแลกเปลี่ยนและถามคำถามดังนี้

“นอกจากระบบความเชื่อรับน้อง โซตัส ยังมีการบนบานตามที่ต่างๆ ระบอบอำนาจนิยมฝังลึกในสังคมไทย จะเห็นได้จากเราไม่สามารถวิจารณ์สถาบันการศึกษา สถาบันการเมือง หรือสถาบันใดๆได้” คุณแชมป์ 1984 ศิษย์เก่าวิศวะจุฬาฯ จบมาแล้ว 15 ปี  แม้ปัจจุบันยกเลิกว๊ากและไม่บังคับการเข้าห้องเชียร์แล้ว แต่ต้องขอบคุณการว๊ากในวันนั้นที่ทำให้ตนเป็นซ้ายในวันนี้

เป็นไปได้ไหมที่คณะที่มี โซตัส เข้มๆกลับเป็นคณะสายวิทย์ที่ควรใช้ตรรกะเหตุผลมากๆ ?

ยุกติ:  เกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กร บริษัทห้าง ร้าน อาจไม่เกี่ยวกับสาขาที่เรียนก็ได้

เราจะอยู่กับโซตัส อย่างไร?

ยุกติ : อยู่การเลือกอยู่ เช่น จ่านิว ทำอะไรแปลกจากสังคมนิดหนึ่งแล้วถูกลากไป พรุ่งนี้จะทำต่อใหม่

ขึ้นอยู่ว่าจะเปลี่ยนระบบไม่ชอบได้อย่างไร แต่ยืนยันว่าทุกอย่างเปลี่ยนได้ ไม่ว่าจะอยู่ในระบบอะไร ไม่เฉพาะกับสถาบันการศึกษา

ประมาณไหนที่เรียกว่า โซตัส?

ปิยรัฐ : โซตัส เป็นเพียงเป้าหมายที่ต่างกันไปในแต่ละที่ กล่าวคือ โซตัสเป็นแค่เป้าหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับสังคมนั้นๆตามความหมาย แต่ละวิธีการรับน้องที่จะนำไปสู่โซตัสของแต่ละที่มันต่างกัน เช่น คณะวิศวะสองแห่งโซตัสเหมือนกัน แต่มีวิธีการที่มีความเข้มข้นมากน้อยแต่งต่างกันไป

ลลิตา :  ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการปลูกฝังในสังคม เช่น เอาตุ๊กแกมาขู่ให้กลัว ห้ามโต้แย้ง มีเส้นแบ่งเล็กๆระหว่างคำว่าคิดเป็น ขวางโลก ก้าวร้าว การรับน้องเป็นจริตของสังคมไทยที่นิยมอยู่กันเป็นกลุ่ม ไม่ออกไปนอกcomfort zone สำหรับตนชีวิตเปลี่ยนเมื่อได้ฟังสุนทรพจน์ที่นักวิชาการท่านหนึ่งพูดว่า "นักวิชาการไม่ได้มีหน้าที่สั่งสอน แต่ต้องชี้ให้สังคมเห็นว่ามีอะไรผิดพลาดบ้าง แล้วสังคมควรคิดอะไรต่อ ควรจะไม่ยึดติดอะไร นักวิชาการควรมีสิ่งที่เรียกว่าความกล้าหาญทางจิตวิญญาณที่จะออกมาพูด"

คำถามสุดท้ายที่พิธีกรได้ถามวิทยากรคือ หากจะเดินหลุดให้ออกจากโซตัส คนๆหนึ่งต้องเชื่ออะไรดี?

ปิยรัฐ :  สิ่งเดียวที่คุณมี คือ คุณต้องกล้าหาญในสิ่งที่ชอบธรรม ว่าเป็นทางเลือก เป็นเสรีภาพ

ลลิตา : เด็กไทยควรได้รับการปลูกฝังว่าคนก็คือคนเท่ากัน ปลูกฝังเรื่องสิทธิมนุษยชนให้ได้ 

ยุกติ : สังคมไทยทั้งระบบเป็นระบบโซตัส ถ้าจะถามว่าจะออกจากระบบโซตัสของโรงเรียน ได้อย่างไร ต้องถามต่อว่าออกจากระบบโซตัสในสังคมไทยได้อย่างไร