Skip to main content

 

เมื่อหลายวันก่อน “คิดเล็ก คิดน้อย” ได้มีโอกาสลงพื้นที่ศึกษาชุมชนกรณีศึกษาศิลปะการแสดงในพื้นที่ ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี และมีโอกาสได้รู้จักกับลุงคนหนึ่งผ่านอ.นิปาติเมาะ หะยีหามะ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ ลุงคนนี้มีชื่อว่า นายเซ็ง อาบู วัย 60 ปีซึ่งมีอาชีพรับจ้างทั่วไป บ้านของลุงรับบริการซักรีดเสื้อผ้า ดูผิวเผินลุงเซ็งดูเหมือนชายสูงวัยคนหนึ่งแต่เมื่อได้ลองพูดคุย กลับได้สัมผัสถึงความมหัศจรรย์อะไรในหลายด้านเกี่ยวกับความสามารถของลุงเซ็ง โดยเฉพาะในเรื่องของความงดงามการแสดงพื้นบ้านที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของสามจังหวัดชายแดนใต้นั่นก็คือการแสดง “ร็องเง็ง” นั่นเอง

เมื่อได้ยินชื่อของ “ร็องเง็ง” ผู้อ่านหลายท่านก็คงจะรู้ถึงบางอ้อและนึกถึงบรรยากาศ กลิ่นอายของความเป็นใต้มลายูกันเลยทีเดียว แล้ว “ร็องเง็ง จังหวะ ซัมเป็ง” คืออะไรสกู๊ปนี้ คิดเล็ก คิดน้อย จะขอนำเสนอผ่านคำบอกเล่าของ ลุงเซ็ง ชายสูงวัยที่ได้ชื่อว่าเป็นครูภูมิปัญญาด้านศิลปะการแสดงพื้นบ้านชายแดนใต้ท่านนี้

ครูเซ็ง อาบู ครูภูมิปัญญาด้านศิลปะการแสดงพื้นบ้านชายแดนใต้

ลุงเซ็งเล่าว่า “รองเง็ง ทุกคนก็รู้จักทั่วไปใช่ไหม ว่าเป็นการแสดงของคนใต้สามจังหวัด ฟังจากดนตรีการแสดงก็รู้แล้ว ยิ่งคนแสดงนุ่งโสร่งก็ยิ่งชัดเจนว่าเป็นคนใต้ แล้วร็องเง็งก็เป็นวัฒนธรรมของเราเพียวๆ แสดงในวังยะหริ่งตั้งแต่โบราณ คนธรรมดาไม่ค่อยได้ดูหรอก แต่หลังจากนั้นการแสดงก็แพร่หลายเรื่อยๆจนถึงทุกวันนี้ แล้วมันก็ไม่ผสมกับวัฒนธรรมอะไร แต่ ร็องเง็ง-ซัมเป็ง เป็นการรวมสองวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ซัมเป็ง มาจากคำว่า สเปน ก็แสดงว่ารับมาจากสเปนตามตัว  เพราะช่วงนั้นพวกสเปนเขาเข้ามาค้าขายในแถบลังกาสุกะ มาอยู่ที่นี่ก็พาวัฒนธรรมเข้ามาด้วย คนบ้านเราก็เห็น ก็สัมผัสถึงความแปลกใหม่ก็เลยลองเอาวัฒนธรรมของตัวเองประยุกต์กับวัฒนธรรมที่รับจากชาวสเปน แล้วมันก็เกิดความลงตัวกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เรียกว่าการแสดงรองเง็ง จังหวะ ซัมเป็ง นั่นเอง”

และเมื่อเราได้ถามถึงความต่างวัฒนธรรมที่รับเข้ามานั้นคืออะไรบ้างและใช้วิธีการแบบไหน ลุงเซ็งจึงได้อธิบายว่า “ความต่างวัฒนธรรรมตรงนั้น บรรพบุรุษเรารับมาแต่เขาจะไม่ให้ชาติอื่นมากลืนความเป็นเราไปทั้งหมดนะ เพราะความเป็นเราคือความเป็นเราที่ต้องรักษาไว้ เราใช้ท่าเต้นรองเง็งของเรา ท่ารำทุกท่วงท่า บรรพบุรุษเราประดิษฐ์คิดจากการใช้ชีวิตประจำ เช่น ท่าโปรยดอกได้ ที่แสดงถึงความยินดี ปีติ รื่นรมย์ต่างๆ เพราะอย่างที่เคยบอกว่ารองเง็งจะแสดงในวัง โอกาสที่แสดงก็ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง งานอภิเษกของเจ้าเมือง ส่วนสิ่งต่างที่รับมา คือดนตรีตะวันตกที่มาเพิ่มสีสันในช่วงจังหวะ และทำนองให้โดดเด่นขึ้น เช่น บาราคัส  ไวโอลีน รำมะนา  ฆ้องเล็ก ฆ้องใหญ่ที่เป็นของไทย แต่หากรำมะนาไป ร็องเง็ง จังหวะซัมเป็ง ก็จะกล่อยไปทันที แต่ชุดที่ใช้แสดงก็แต่งแบบชาวบ้านมาก นุ่งโสร่ง ทัดดอกไม้ ผู้ชายก็ผ้าคาดเอว หรือนุ่งผ้าสั้นทับกางเกง สบายๆ เท่านี้เมื่ออะไรลงตัวอะไรพร้อมก็ทำการแสดงได้ทันที” การพูดคุยเล่าความเป็นมาของลุงเซ็งดูสนุกสนานและเป็นกันเองกับเรามาก ลุงเซ็งดูมีความสุข และภูมิใจกับเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นที่มีความหมายทั้งตัวของลุงเซ็งเองและลูกหลานเยาวชนรุ่นใหม่ให้สืบทอดวัฒนธรรมต่อไปเพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นตัวตนของคนชายแดนใต้

และก่อนที่จะจบการสนทนาระหว่างเรากับลุงเซ็ง ท่านก็ได้ฝากข้อความถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ว่า “ตอนต้นลุงเซ็งก็พูดถึงการเกิดขึ้นของเอกลักษณ์ ทุกคนก็คงเข้าใจว่าสิ่งไหนที่มันยิ่งใหญ่ คนธรรมดาๆในสมัยก่อนจะมีโอกาสได้ดูยากนะ เพราะสิ่งเหล่านั้นถูกเก็บไว้เฉพาะที่ แต่ทุกวันนี้เรามีโอกาสได้ดู ได้เรียนรู้ ได้สัมผัสทั่วกัน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงที่เป็นศิลปวัฒนธรรมไม่ว่าภาคไหน ก็ควรที่จะรักษาไว้ คงไว้เช่น โปงลางของอีสาน มโนราห์ของภาคใต้ หรือแม้แต่รองเง็งของเราที่สะท้อนความเป็นตัวตน อย่าให้วัฒนธรรมชาติอื่นเข้ามามีบทบาท ครอบงำ และกลืนตัวตนของเราจนไม่เหลือความเป็นตัวเองไว้ ถ้าลูกหลานทำได้บรรพบุรุษที่เขาสร้างไว้ทุกยุค ทุกสมัยที่เขาสร้างมันขึ้นมาจะได้ตายตาหลับ เพราะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ยังคงถูกอนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญหาย”

สกู๊ปนี้ “คิดเล็ก คิดน้อย” หวังว่าผู้อ่านหลายท่านคงได้สัมผัสถึงหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจในพื้นที่ชายแดนใต้ ความมีเอกลักษณ์ และความเป็นตัวตนผ่านศิลปะการแสดง และ ความรู้ดีๆจากลุงเซ็งของเรา

จากนี้ก็ต้องขอขอบคุณ ลุงเซ็ง อาบู ครูภูมิปัญญาด้านการแสดงพื้นบ้านสามจังหวัดชายแดนใต้ และขอขอบคุณอ.นิ นิปาติเมาะ หะยีหามะ ที่แนะนำลุงเซ็งให้รู้จักกับเราเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวดีๆแก่สังคม และที่สำคัญขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามงานของ “ คิดเล็ก คิดน้อย” ตลอดมา