Skip to main content

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เผยแนวทางดำเนินการตามนโยบายของนายกฯ ลดเวลาเรียนของเด็กให้น้อยลง และการเน้นการสอนอาชีพเฉพาะด้านของกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.อ. สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุมกับผู้บริหาร 5 องค์กรหลัก ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.), สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.), สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)  และ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.), สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)  และ ณ ห้องประชุม MOC อาคารราชวัลลภ ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

โดย พล.อ.ดาว์พงษ์ ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุมว่า ได้รับฟังแนวทางการดำเนินงานของ 5 องค์กรหลักตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งปัญหาอุปสรรคและข้อขัดข้องต่างๆ ซึ่งเป็นการขยายความเพิ่มเติมจากที่ได้นำเสนอไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อวานนี้ (24 ส.ค.) โดยตนได้ขอให้เพิ่มเติมแนวทางดำเนินการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีใน 2 ประเด็น คือ

การลดเวลาเรียนของเด็กให้น้อยลง โดยให้ สพฐ. ไปพิจารณาปรับลดชั่วโมงเรียนของบางวิชาให้น้อยลง เพื่อต้องการให้เด็กผ่อนคลาย ไม่เครียดในการเรียนมากเกินไปหรือต้องหอบการบ้านไปทำต่อที่บ้าน ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีเวลาที่จะอยู่กับพ่อแม่มากขึ้น หรือมีเวลาว่างเรียนรู้ตามวัย คิดบ้างทดลองปฏิบัติบ้าง ไม่ใช่ท่องตำราอย่างเดียว โดยอาจจะเลิกเรียนในชั้นเรียนเวลาประมาณ 14.00 น. ส่วนเวลาที่เหลือให้ สพฐ.ไปพิจารณารายละเอียดและกิจกรรมว่าควรดำเนินการอย่างไรกับเด็ก 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่จะเดินทางกลับบ้าน หรือกลุ่มซึ่งรอกลับบ้านพร้อมผู้ปกครองหลังเลิกงาน

ทั้งนี้ สพฐ.จะนำร่องโรงเรียนในสังกัดประมาณร้อยละ 10 จากทั้งหมด 38,000 โรงเรียนก่อน เริ่มต้นได้ทันทีในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 ดังนั้นจึงขอให้ สพฐ.จัดระบบนิเทศและเตรียมการให้ดีในช่วงปิดภาคเรียนนี้ รวมทั้งสร้างความเข้าใจร่วมกันกับโรงเรียน นักเรียน ครู ผู้ปกครองในการดำเนินการด้วย

การเน้นการสอนอาชีพเฉพาะด้านของกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) เพื่อต้องการให้ มทร.แต่ละแห่งมีจุดเด่นในการผลิตผู้เรียนในแต่ละสาขาอาชีพเฉพาะทางแตกต่างกันไป ซึ่งนอกจากจะต้องปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรแล้ว จะต้องพัฒนาครูผู้สอนและเครื่องมือช่วยสอนให้มีประสิทธิภาพ โดยขอให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เร่งดำเนินการในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นโดยเร็วภายในเดือนกันยายน 2559 อาจจะเริ่มต้นจาก 2-3 แห่งก่อน โดยจัดให้มีทั้งสถาบันหลักและรองลงไปในแต่ละสาขา เช่น มทร.ตะวันออก แม้จะมีความชำนาญด้านการสอนต่อเรือ แต่ก็ต้องวางแผนจัดระบบสำหรับเด็กที่อยู่ห่างไกลในภาคอื่นเช่นภาคใต้ที่ต้องการเรียนในสาขาอาชีพนี้ ซึ่งอาจต้องมี มทร. ระดับรองลงไปในภาคใต้ที่มีความพร้อมในการสอนสาขาอาชีพดังกล่าวรองรับด้วย

 

เรียบเรียงจาก กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ