เมื่อวานผมได้โพสต์สเตตัสอันหนึ่งลงไป เกี่ยวกับการรับน้อง ผ่านไป 1 วัน เพิ่งเห็นว่าดูมีผู้ที่สนใจประเด็นไม่น้อย (จากยอดแชร์ปัจจุบัน) ก็เป็นปกติที่มีคนโต้แย้ง (อ่านรายละเอียด) ผมจะขอขยายความดังนี้ เผื่อไม่เห็นว่าทำไมผมถึงขึ้นสเตตัสที่ถูกแชร์กันไป โดยก่อนอื่นมันจะมีประเด็นหลักสองอย่างที่คนแย้งผมเอาไว้ คือ เข้าใจว่าผมต่อต้านการไหว้อันเป็น "วัฒนธรรมอันดีงามของไทย" เพราะพวกเขามองว่าการไหว้เป็นระเบียบอันดีงามของสังคมไทย และ เข้าใจว่าผมเรียกร้องเสรีภาพมากเกินไป..
1. เรียกร้องเสรีภาพ กับ กฎระเบียบ (เพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้คน) มันมักจะขัดกันอยู่แล้วครับ
- เดิมทีสมัยก่อนก็มีกฎหมายห้ามผู้หญิง คนผิวสีมีสิทธิในการเลือกตั้ง เขาก็ต้องเรียกร้องกันเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นหลักการที่ทุกคนได้รับโดยไม่คำนึงถึงเพศ เชื้อชาติ ศาสนา อายุ
- และบางครั้งการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพก็ได้สร้างกฎระเบียบขึ้นใหม่ด้วย เช่น การเรียกร้องให้ผู้หญิงสามารถลาคลอดเลี้ยงลูกได้ 3 เดือน ก็ถูกเรียกร้องให้เป็นกฎหมาย จากที่มันไม่เคยมีอยู่เลย
ฉะนั้นอย่ามองแคบกับการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพมากไปหน่อยเลยครับ มันไม่ได้ทำร้ายใครขนาดนั้น (เพียงแต่มันมักจะไปกระตุกหนวดเสือผู้มีอำนาจเท่านั้น มันไม่มุ่งทำร้ายผู้ที่ไม่มีอำนาจขนาดนั้นหรอก - และผู้มีอำนาจมักสร้างหรืออ้างกฎระเบียบและความดีงามของสังคมเพื่อกดทับผู้คนเอาไว้)
2. ที่ผมคิดหนักคือ การทำให้เด็กต้องไหว้นั้น มันผ่านกระบวนการทำให้กลัว
- ทำให้กลัวว่า รุ่นน้องจะต้องกลัวที่จะมีรุ่นพี่มาด่า มาสั่งซ่อม ทำโทษต่างๆ นานา และยังต้องกลัวอีกขั้น เมื่อเพื่อนจำนวนมากยอมรับการทำแบบนี้รวมหมู่ เด็กต้องกลัวที่จะไม่มีเพื่อนไม่มีสังคมหากเพียงเขาไม่ทำการไหว้ (ซึ่งอันที่จริงมันเป็นเพียงการทักทายตามมารยาททางสังคมเท่านั้น ไม่ใช่กฎระเบียบที่อ้างด้วยซ้ำ)
3. ความกลัวที่ว่านี้ มันไปปิดกั้นกระบวนการตั้งคำถาม
- กระบวนการตั้งคำถามคือพื้นฐานสำคัญที่ทำให้มนุษย์ปรับปรุงตนเอง พัฒนาตนเองจนกลายเป็นผู้มีอารยธรรมและยิ่งใหญ่เหนือสัตว์อื่นบนโลก (อย่างที่ทราบ นักวิทยาศาสตร์หลายคนก็คิดค้นทฤษฎีสำคัญๆได้ส่วนหนึ่งจากความบังเอิญ แต่ก็เป็นเพราะสังเกตและตั้งคำถามทั้งนั้น) เราถูกสั่งสอนให้เข้าใจว่าการไหว้คือสิ่งสำคัญที่เราควรทำโดยไม่เคยตั้งคำถาม
อย่างในสเตตัส ผมก็บอกชัดเจนว่า ผมสงสัยมาก ทำไมตอนจะไหว้ เพียงแค่รุ่นพี่สั่ง ทำไมคุณถึงไม่ฉุดคิดว่า ไอ้ที่คุณไม่รู้จักเลยว่ามันคือใคร อยู่ดีๆคุณเดินไปสวัสดีเขาเนี่ย คุณรู้จักเขาเหรอ? (นี่มันยังกะมาเป็น salesman ขายเครื่องกรองน้ำ) คุณมีธุระอะไรกับเขาหรือเปล่า? แล้วไอ้หัวเกรียนๆขนาดนี้ ถ้าเรานับว่าจะไหว้มันเพราะมันอายุมากกว่าเรา ทรงผมแบบนี้มันไม่ใช่เด็กมัธยมหรอกหรือ? (นี่ยิ่งไม่รู้จักกันด้วยนะ ต้องไม่รู้อายุอีกฝ่ายแน่ๆ)
ผมหาคำตอบที่ดีกว่านี้ไม่ได้ เพราะดีที่สุดที่ผมหาได้ คือ การไหว้โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น คิดเพียงแค่ว่า
"รุ่นพี่สั่ง" "เดี๋ยวจะโดนทำโทษ" "เจอใครไม่รู้ต้องไหว้ไว้ก่อนเผื่อเป็นรุ่นพี่ ไม่งั้นเดี๋ยวถูกซ่อม(ทั้งๆที่ยังไม่ได้เริ่มเรียนสักวิชา)" "เราไหว้เพราะอาวุโส(ไม่ใช่เพราะความน่าเคารพ)"
ที่สุดแล้ว หากทำจนเคยชิน เราก็จะพบว่าที่จริงแล้วกิจกรรมแบบนี้ไม่ได้ให้อะไรกับรุ่นน้องเลยนอกจากการสะกดเขาไว้ด้วยความกลัว เปลี่ยนให้เขาต้องเป็นหุ่นยนต์ที่จะทำตามคำสั่งรุ่นพี่โดยไม่คำนึงถึงเหตุและผลที่ดีพอ ไม่อาจโต้แย้งโต้เถียงได้ ทั้งที่การตั้งคำถามนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญกับการเป็นมนุษย์อย่างยิ่ง (และยิ่งสำคัญมากต่อการเป็นนักศึกษา/ปัญญาชน)
ผมจึงต้องอัพสเตตัสนั้น เพราะรู้สึกว่าทำไมเด็กเหล่านี้รุ่นแล้วรุ่นเล่าคนแล้วคนเล่า ต้องมาได้รับอะไรแบบนี้หลังจากที่พวกเขาดิ้นรนหาที่เรียนเพื่อที่จะมาเอาความรู้ความสามารถกันแทบตาย แต่กลับมาถูกรุ่นพี่ที่คิดไม่มากพอ ทำให้เขาต้องยอมรับต่ออำนาจที่รุ่นพี่สร้างขึ้นมาเอง (ซึ่งถ้าให้พูดกันตามตรงหลายสิ่งที่รุ่นพี่ทำมันก็ผิดกฎหมายแบบที่คุณอ้างว่า "ไม่คำนึงถีงกฎระเบียบ" นั่นแหละ) รุ่นพี่ไม่เคยตั้งคำถามว่าตนมีสิทธิอะไรไปละเมิดเขาตั้งมากมาย ซ้ำยังพยายามทำให้น้องไม่อาจคิดโต้ตอบเมื่อเจอกับการละเมิดอีก นี่จึงเป็นเรื่องที่แย่ที่สุดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตมหาวิทยาลัย ที่แม้นักศึกษาหลายๆคนเอง (รวมไปถึงคนที่บอกว่าตนเป็นผู้ใหญ่แล้ว) จึงเข้าใจไปเองว่านั่นคือกฎระเบียบและมารยาทที่ดีที่ควรทำ..แต่กลับทำไปโดยไม่สงสัยว่าทำไปทำไม? ได้อะไร? แล้วดียังไง? ดีจริงหรือไม่?
ทำให้เด็กยอมรับกับอำนาจแบบนี้ได้ ในสังคมของเรา การยอมรับอำนาจเถื่อนที่ใหญ่กว่านี้จึงทำไม่ยากเลยเพราะเราไม่รู้จักต้องคำถามกับความไม่ชอบมาพากลของมันต้องแต่อำนาจหน่วยย่อยเล็กๆแบบนี้ตั้งแต่แรกแล้ว..แล้วการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น การแก้ปัญหาข้าราชการ ฯลฯ ที่เราชอบพูดกันในสังคมมันจะเป็นไปได้หรือ ในเมื่ออำนาจเล็กๆขนาดรุ่นพี่ที่มั่วขึ้นมายังถูกยอมรับและนับถือโดยไม่ต้องตั้งคำถามและโต้งแย้งเลย
ปล.อีกนิดนึง ถ้าหากท่านซีเรียสกับคำว่ากฎระเบียบมากพอ ผมขอให้คุณซีเรียสกับการกระทำของรุ่นพี่ที่ไม่เคารพกฎระเบียบมหาวิทยาลัยหรือไม่เคารพกฎหมายก่อนเลยครับ (ไม่นับกฎหมาย คำสั่ง และประกาศจากคสช. อันมีที่มาจากอำนาจเถื่อน)
**ที่จริงผมคิดว่าการที่ผมพูดถึงการรับน้องแบบนี้ มีลักษณะคล้ายกับการพูดถึงประเด็นข้อสอบของน้องไนซ์ Nattanan Warintarawet อยู่ประการหนึ่งคือ เรามีปัญหากับการใช้ "อำนาจเถื่อน" ซึ่งแทรกตัวโดยอาศัยผ่านวัฒนธรรม การทำกิจกรรม หรือ materials บางอย่างที่ดูเป็นสิ่งดีงาม เป็นเรื่องปกติที่คนทุกคนต้องทำ และมันทำให้ทุกคน "กลัวโดยละม่อม" อย่างแนบเนียนจนนานๆไปก็ไม่รู้ตัวว่าตนเองกระทำมันลงไปด้วยความกลัว
***ที่เขียนมายาวยืดนี้ ผมดัดแปลงจากการถกเถียงกับมิตรสหายท่านหนึ่งบนเฟซบุ๊ก
-----
หมายเหตุ : บทความนี้ รัฐพล หรือ 'บาส LLTD' เผยแพร่ครั้งแรกผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Ratthapol Supasopon’ วันที่ 22 ก.ค.2558
- 2 views