editor
3 July 2015
การเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดินที่ต้องเผชิญกับอำนาจเผด็จการและการใส่ร้ายป้ายสี ข้าพเจ้าคลับคล้ายคลับคลาความรู้สึกแบบนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนสถานการณ์ภาคใต้เริ่มปะทุขึ้นรอบใหม่เมื่อปี 2547
ข้าพเจ้าอยากจะกล่าวให้กระชับและรัดกุมเป็นข้อๆ เพื่อให้เห็นถึงความไม่เปลี่ยนแปลงของทัศนะเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและการเผชิญกับทัศนคติของเพื่อนร่วมสังคม
- เริ่มจากการเคลื่อนไหวลงพื้นที่ เพื่อหาข้อมูลคนหายและสืบประวัติคนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547 จำนวนร้อยกว่าศพ ระหว่างเก็บข้อมูลลงพื้นที่ตามหมู่บ้าน จะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะค่อยสอบถามเจ้าบ้านที่เราลงไปเก็บข้อมูล และค่อยสอบถามว่านักศึกษามาทำอะไร และสอบถามเรื่องอะไร และระหว่างเดินทางกลับจะเจอด่านเจ้าหน้าที่อยู่เป็นระยะๆ กลุ่มนักศึกษาก็จะถูกค้นรถและสอบถามว่าไปทำอะไร วิธีการตอบก็คือ ลงไปเยี่ยมเพื่อนๆ แต่เจ้าหน้าที่มักจะบอกตอบเองว่า ลงพื้นที่ไปปลุกระดมชาวบ้านหรือเปล่า ?
- ข้อกล่าวหาที่เจ้าหน้าที่รัฐมักจะปล่อยข่าวว่า กลุ่มนักศึกษาคือแนวร่วมกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนสำหรับข้อกล่าวหานี้ อาจจะใช้ได้กับนักศึกษาคนพื้นเพเมลายูในพื้นที่ วิธีการตอบก็คือ เราตอนนั้นต้องมีความหลากหลายมากที่สุด โดยเฉพาะส่วนผสมของคนนอกพื้นที่ ภาคใต้ตอนบน ภาคกลาง กรุงเทพฯ เพื่อเป็นการปกป้องข้อกล่าวหาข้างต้น เหตุเพราะขบวนการต่อสู้ในสามจังหวัดภาคใต้ ไม่รับคนนอกพื้นที่ อันนี้เป็นที่ทราบกันในแนววิเคราะห์การศึกษากลุ่มขวนการต่อสู้ในสามจังหวัดภาคใต้
- ข้อกล่าวหาเรื่องพัวพันยาเสพติด จากการค้นบ้านนักศึกษาครั้งแรก และฝ่ายทหารได้แถลงข่าวว่านักศึกษาติดยา วิธีการตอบโต้ก็คือ เผชิญความจริง สอบสอนตามกระบวนกฎหมาย
- กิจกรรมทางด้านสิทธิมนุษยชนหรือการเปิดเผยความจริง ที่เก็บข้อมูลมาจากในพื้นที่ เจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานความมั่นคงมักจะบอกว่า กิจกรรมเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่ม"ขบวนการแบ่งแยกดินแดน" วิธีการตอบก็คือ เราพบข้อมูลการละเมิดสิทธิไม่ใช้เกิดจากการกระทำของรัฐแต่เพียงอย่างเดียว มีหลายกรณีที่เกิดจากการตอบโต้กันเองของชาวบ้านในพื้นที่ หากทว่าประเด็นอยู่ที่ว่า รัฐไม่สามารถคุ้มครองชีวิตผู้คนในพื้นที่ให้เกิดความปลอดภัยได้ ซ้ำร้ายในหลายกรณีเจ้าหน้าที่รัฐกลับทำลายความไว้วางใจจากชาวบ้านในพื้นที่ ฉะนั้นเรื่องสิทธิมนุษยชนและการเปิดเผยความจริง เป็นเรื่องที่จะเป็นผลดีต่อรัฐ หากว่ารัฐไม่ได้ทำการละเมิดสิทธิและปกปิดความจริง ด้วยการปิดกั้นการลงพื้นที่ของนักศึกษา สำหรับกลุ่มนักศึกษาในปี 2547 ถือว่าโชคดีที่ยังเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดแรกที่มีการทำงานอย่างจริงจังควบคู่กับ วุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง และมีวุฒิสมาชิกหลายคนที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
- ข้อกล่าวหาว่าพวกหัวรุนแรงจากคนในรั้วมหาวิทยาลัยเดียวกัน การทำงานเก็บข้อมูลเรื่องสามจังหวัดภาคใต้ตอนนั้น มักจะดูมองจากเพื่อนนักกิจกรรมด้วยกัน แต่สนใจคนละด้าน มองว่าเป็นพวกหัวรุนแรงและพวกคลั่งสิทธิมนุษยชน ชอบหาเรื่องใส่ตัว และที่หนักที่สุดก็คือ คำกล่าวหาของครูบาอาจารย์ ที่กล่าวว่า พวกนักกิจกรรมพวกนี้ ชอบหาเรื่องเข้าบ้านตนเอง หลังจากการบุกค้นบ้านของทหาร และเป็นข่าวใหญ่ ครูบาอาจารย์หลายท่านกลับซ้ำเติมและไม่มีการปกป้องใดๆ วิธีการตอบของข้าพเจ้าและเพื่อนๆก็คือ ทำต่อไปและหามวลมิตรจากเพื่อนต่างสถาบันนอกมหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกัน พบปะเครือข่ายชาวบ้าน กลุ่มทำงานด้านสังคม หาความรู้จากวงเสวนาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ่านหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ และหาตำราทฤษฎีต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และสร้างกัลยาณมิตรให้กว้างขวางที่สุด
- การข่มขู่และคอยติดตามจากเจ้าหน้าที่พวกสันติบาล เช่น การขับรถมอเตอร์ไซด์ตามโดยไม่ติดป้ายทะเบียนของเจ้าหน้าที่ การนั่งเข้ามานั่งฟังในงานสัมมนาที่ข้าพเจ้าและเพื่อนๆจัดขึ้นในมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสามจังหวัดภาคใต้ โดยทำทีว่าเป็นคนนอกที่สนใจหัวข้อการเสวนา แต่การแต่งตัวรองเท้าขัดมันแว๊บแถมด้วยทรงผมสั้นดูเรียบร้อยเหมือนโรงเรียนเตรียมทหารหรือนายร้อยจบใหม่ๆ วิธีการคือต้องทำตัวเปิดเผยมากที่สุด ไปไหนมาไหนกับเพื่อนๆ เพื่อว่ามีคนติดตาม และหากมีงานสัมมนาก็จะเปิดเป็นเวทีสาธารณะให้มากที่สุด เชิญเหล่าสันติบาลหน้าห้องสัมมนาเข้าร่วมด้วย แต่ห้ามเอาลายชื่อผู้เข้าร่วม บางคนไม่ค่อยมีมารยาททางสังคม เข้ามาขอรายชื่อผู้เข้าร่วมงานเสวนาจากโต๊ะลงทะเบียน แต่ตัวเองมักจะไม่ค่อยเซ็นชื่อ บ่อยครั้งทำให้ลำบากในการเคลียร์งบกับทางองค์การบริหารนักศึกษามหาวิทยาลัย
- 1 view