15 มิ.ย.2558 พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านการฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยตั้งเป้าหมายที่จะฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นในปีนี้ 1.2 ล้านคน และปีหน้าอีก 1.5 ล้านคน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา สอศ.ได้รายงานต่อที่ประชุมเกี่ยวกับการฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นว่า สืบเนื่องจากนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายทั่วไปข้อที่ 2 การสร้างโอกาสทางการศึกษาในสังคมไทย จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยการน้อมนำแนวทางการพัฒนาระบบการจัดการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ได้โดยสะดวกและสามารถพัฒนาประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับมีความต้องการกำลังคนสาขาขาดแคลนอย่างเร่งด่วนในการพัฒนาประเทศ และเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่จะต้องมีแรงงานฝีมือคุณภาพมาตรฐานระดับสากล สอศ.จึงได้จัดฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือ (Skill Labour) เป็นปีที่ 2 เพื่อยกระดับทักษะอาชีพของประชาชนทั้งประเทศในทุกกลุ่มอายุ จำนวน 1.2 ล้านคน ภายในปีงบประมาณ 2558
สำหรับแนวทางการดำเนินการ ในช่วงเดือนมิถุนายน - กันยายน 2558 สถานศึกษาในสังกัด สอศ.ทั้ง 421 แห่งทั่วประเทศ จะร่วมจัดการฝึกอบรมโดยใช้หลักสูตรที่ดำเนินการในปีแรก รวมทั้งสำรวจอาชีพที่มีความต้องการเร่งด่วน และกำหนดพื้นที่ให้สอดคล้องกับอาชีพและความต้องการ มีการพัฒนาครูในการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรม การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้นเพิ่มขึ้น ตลอดจนการนำหลักสูตรไปทดลองใช้ และการติดตามประเมินผลการฝึกอบรม
โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 1,200,000 คน ประกอบด้วยผู้ว่างงาน ผู้มีรายได้น้อย แรงงานในสถานประกอบการ แม่บ้าน ผู้สูงอายุ ผู้เกษียณอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส บุคคลไร้สัญชาติ คนต่างด้าว บุคคลวัยทำงาน บุคคลวัยเรียน ผู้ต้องขัง ฯลฯ
ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย 1.2 ล้านคน แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
1) จัดหลักสูตรฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น 5 ประเภทวิชา รวม 638 รายวิชา ดังนี้
- ประเภทวิชาอุตสาหกรรม 7 สาขาวิชา รวม 119 รายวิชา
- ประเภทวิชาบริหารธุรกิจ 4 สาขาวิชา รวม 48 รายวิชา
- ประเภทวิชาศิลปกรรม 6 สาขาวิชา รวม 133 รายวิชา
- ประเภทวิชาคหกรรม 4 สาขาวิชา รวม 179 รายวิชา
- ประเภทวิชาเกษตรกรรม 4 สาขาวิชา รวม 159 รายวิชา
2) จัดประเภทสถานศึกษา 421 แห่ง โดยแบ่งสัดส่วนรับผิดชอบ ดังนี้
- วิทยาลัยการอาชีพ 370,000 คน
- วิทยาลัยสารพัดช่าง 446,000 คน
- วิทยาลัยอาชีวศึกษา 30,000 คน
- วิทยาลัยเทคนิค 100,000 คน
- วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ 30,000 คน
- วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยว 12,000 คน
- วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 12,000 คน
คาดว่าในปีงบประมาณ 2558 จะสามารถจัดฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นให้แก่กลุ่มเป้าหมายได้จำนวน 1.2 ล้านคน โดยใช้งบประมาณ 1.8 ล้านบาท หรือ 1,520 บาทต่อคน และในปีงบประมาณ 2559 ได้วางแผนที่จะจัดฝึกอบรมแก่กลุ่มเป้าหมายอีกจำนวน 1-1.5 ล้านคน โดยจะใช้งบประมาณ 1,520-2,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มอบให้ สอศ. ดำเนินการติดตามผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นในปีแรกด้วยว่า มีงานทำเป็นจำนวนเท่าใด เพื่อที่จะศึกษาแนวโน้มความต้องการกำลังคนในสาขาวิชาต่างๆ ของตลาดแรงงานและกระแสของสังคม ที่จะนำไปสู่การปรับปรุงหลักสูตรฝึกอบรมในระยะต่อไป
ที่มา : ศูนย์สื่อทำเนียบฯ
- 1 view