พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการฯ เปิดระบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Distance Learning Information Technology : DLIT) ชี้ทำให้โรงเรียนสังกัด สพฐ.กว่า 3 หมื่นแห่ง ได้รับการพัฒนาผ่านกิจกรรม 5 รูปแบบ ได้แก่ ห้องเรียนต้นแบบ คลังสื่อการสอน ห้องสมุดดิจิทัล คลังข้อสอบ และการพัฒนาวิชาชีพครู
พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การเปิดระบบ DLIT ถือว่าเป็นวันสำคัญของการศึกษา เนื่องจากเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (Distance Learning Television : DLTV) ที่มีความก้าวหน้าต่อเนื่องมาโดยลำดับ
ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 ที่ผ่านมา โรงเรียนขนาดเล็กจำนวน 15,369 แห่งที่ได้ดำเนินโครงการ DLTV มาอย่างต่อเนื่องประสบความสำเร็จในเชิงประจักษ์ โดยมีผลการสอบวัดผลที่ดีขึ้นอย่างน่าชื่นชม และเป็นที่พิสูจน์แล้วว่าปัญหาเรื่องการขาดแคลนครู ครูสอนไม่ครบชั้น ไม่ครบวิชาในโรงเรียนขนาดเล็ก สามารถแก้ไขได้ด้วยการรับสัญญาณถ่ายทอดผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนต้นทาง คือ โรงเรียนวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
จึงได้มีความคิดที่จะต่อยอดการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จมากขึ้นด้วยการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศในโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่จำนวน 15,553 แห่ง
ดังนั้น การเปิดระบบ DLIT จะสามารถทำให้โรงเรียนสังกัด สพฐ.กว่า 3 หมื่นแห่ง ได้รับการพัฒนาผ่านกิจกรรม 5 รูปแบบ ได้แก่ ห้องเรียนต้นแบบ คลังสื่อการสอน ห้องสมุดดิจิทัล คลังข้อสอบ และการพัฒนาวิชาชีพครู ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยยึดถือภารกิจและพื้นที่ปฏิบัติงานเป็นฐาน หรือ “ระบบ TEPE Online” (Teachers and Educational Personnels Enhancement Based on Mission and Functional Areas as Majors) หลังจากจัดหาสื่อ อุปกรณ์ และวางระบบเรียบร้อยแล้ว สถานศึกษาจะสามารถนำเนื้อหาและสื่อดิจิทัลไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ การดำเนินงานครั้งนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนของครูทั้งประเทศที่สำคัญโดยมีเป้าหมายที่ห้องเรียน ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปการเรียนรู้อย่างแท้จริง
ระบบ DLIT มีทุกอย่างที่ครูและนักเรียนต้องการเพื่อการเรียนรู้ มีเครื่องมือและพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การแบ่งปันเทคนิคการสอนให้แก่ครูทั่วประเทศ เพื่อให้มีความทันสมัยเหมาะกับศตวรรษที่ 21 และยุคดิจิทัล ทุกคนสามารถใช้ระบบ DLIT ได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านเครื่องมือทุกชนิด (โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์) โดยไม่มีข้อจำกัด จุดเด่นของระบบ DLIT คือ เป็นเครื่องมือที่มีพร้อมทั้งเนื้อหาและเทคโนโลยีสำหรับการจัดการเรียนรู้แบบครบวงจร ทั้งการออกแบบ การเตรียมการสอน การสอบเพื่อพัฒนาตนเอง การแบ่งปันความรู้ รวมถึงการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ ระบบดังกล่าวจะช่วยสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ ขอให้ทุกฝ่ายติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน พร้อมทั้งให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะในเรื่องที่ควรมีการปรับปรุง เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานตามนโยบายของรัฐบาลประสบความสำเร็จมากขึ้น อีกทั้งเพื่อให้การศึกษาของชาติมีความมั่นคง เข้มแข็ง ยั่งยืน และเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าจะได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ที่จะช่วยให้ระบบ DLIT มีพัฒนาการเกิดขึ้น
ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การเปิดระบบ DLIT จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสและความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการศึกษา โดยการใช้กิจกรรมซึ่งแบ่งออกเป็น 5 รูปแบบ ได้แก่
1) DLIT Classroom (ห้องเรียน DLIT) เป็นการสอนจากห้องเรียนต้นแบบ ถ่ายทอดไปสู่โรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีครูที่มีความสามารถจากโรงเรียนชั้นนำ ไม่เฉพาะสังกัด สพฐ.
2) DLIT resources (คลังสื่อการสอน) โดยจะดึงข้อมูลหรือคลังสื่อการสอนทั้งหมดของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำไว้ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันมารวมกันไว้เพื่อให้ครูและนักเรียนสามารถเข้าไปใช้ผ่านเครื่องมือทุกชนิด ครูและนักเรียนก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ทุกที่ทุกเวลา อีกทั้งจะมีการคัดแยกสื่อที่มีคุณภาพสูงมาก สมควรเข้าไปดู และสื่อทั่วไปที่เป็นสื่อประกอบก็จะมีการให้คำแนะนำ
3) DLIT Digital Library (ห้องสมุดดิจิทัล) เป็นคลังข้อมูลสำหรับนักเรียนในการค้นคว้าเนื้อหาที่นอกเหนือจากหนังสือเรียน มีทั้งสื่อที่เป็นหนังสือ วีดิทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่น
4) DLIT Professional Learning Community : PLC (การพัฒนาวิชาชีพครู) โดยใช้สื่อวีดิทัศน์ที่นำมาจากรายการต่างๆ ของโทรทัศน์ครูที่มีแบบปฏิบัติการสอนที่ดีของครูไทยและครูทั่วโลก
5) DLIT Assessment (คลังข้อสอบ) เป็นการรวบรวมคลังข้อสอบที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อให้นักเรียนสามารถประเมินตนเองได้ตลอดภาคเรียนและพัฒนาการเรียนรู้ให้ตรงกับความสามารถเฉพาะบุคคล
การแถลงข่าวในวันนี้ถือเป็นการประมวลภาพรวมของทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาของประเทศอย่างชัดเจน เป็นการก้าวเดินจากโครงการ DLTV สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กไปสู่ DLIT สำหรับโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม สพฐ.จะดำเนินการพัฒนาเรื่องดังกล่าวต่อไป โดยเฉพาะเรื่องของกระบวนการเรียนการสอนที่ต้องมีการสนับสนุนและพัฒนาสื่อที่ดีเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตรกับ สพฐ. และจะต้องมีระบบการนิเทศ ติดตาม และประเมินผลกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็นระบบด้วย
ทั้งหมดนี้จะเป็นการพลิกโฉมโรงเรียน ปฏิวัติการเรียนรู้ที่ห้องเรียนโดยตรง เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา (ซุปเปอร์บอร์ดการศึกษา) เช่น นักเรียนชั้น ป.1 อ่านออกเขียนได้ภายใน 1 ปี นักเรียนสายสามัญเรียนคู่สายอาชีพ นักเรียนมีทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ เป็นต้น
เชื่อว่าระบบดังกล่าวจะส่งไปถึงครู นักเรียน และประชาชนทุกคนสามารถศึกษาในระบบที่มีความพร้อมในแง่ของเนื้อหาสาระ กระบวนการจัดการเรียนการสอน วิธีการต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน มีความพร้อมทางเทคโนโลยีซึ่งจะครอบคลุมทุกระดับการศึกษาและทุกสถานศึกษาในอนาคต โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าระบบ DLIT จะเป็นการตอบโจทย์เรื่องของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ทั่วถึง เท่าเทียมและมีคุณภาพยั่งยืนอย่างแท้จริง
ที่มา : ศูนย์สื่อทำเนียบฯ
- 12 views