Skip to main content

คนพิการเดินทางในกรุงเทพฯลำบาก บีทีเอสบางสถานีไม่มีบันไดเลื่อน-ลิฟท์ รถเมล์ไม่มีทางขึ้นสำหรับคนพิการ ทางลาดบนถนนมีน้อย ฟุตบาทเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวาง นักเคลื่อนไหวเพื่อคนพิการระบุคนพิการมีสิทธิ์ที่จะออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้เหมือนคนปรกติ ดังนั้นรัฐฯจึงควรเร่งแก้ไข

ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์เจตน์ หาญนุสสร นิสิตปี4 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้พิการช่วงขา ต้องใช้ขาเทียมในการช่วยเดิน เกี่ยวกับการเดินทางในกรุงเทพฯ ซึ่งพบว่า เจตน์พบปัญหาในการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ เนื่องจากสวัสดิการและการบริการจากทางรัฐ โดยเฉพาะด้านขนส่งมวลชนที่ไม่รับรองต่อความต้องการคนพิการ

เจตน์กล่าวว่าตนยังคงประสบปัญหาชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในส่วนขนส่งมวลชน “ผมอยู่แถวสะพานควาย ใกล้กับบีทีเอสสะพานควาย จึงมักจะเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นประจำ การใช้ขาเทียมแม้จะทำให้เดินทางได้เกือบเหมือนคนปรกติ แต่ก็ยังมีปัญหาในการเดินทาง อย่างรถไฟฟ้าที่ใช้เป็นประจำนั้น บางสถานีไม่มีลิฟท์หรือบันไดเลื่อนให้บริการ ซึ่งความสูงจากพื้นดินถึงตัวสถานีสูงเท่าตึกสามชั้น จึงเป็นปัญหาและเสียเวลาอย่างยิ่งในการเดินทางแต่ละครั้งเพื่อเดินขึ้นไปยังสถานี อย่างสถานีสะพายควายก็ไม่มีทั้งลิฟท์และบันไดเลื่อน”

เจตต์ระบุเพิ่มเติมว่า การที่ตนได้ใช้ขาเทียมนั้นถือว่าโชคดีกว่าคนพิการคนอื่นๆที่อาจขยับตัวไม่ได้หรือต้องนั่งวีลแชร์ ก่อนหน้านี้ตนต้องตัดขาข้างหนึ่งออกด้วยโรคมะเร็ง ช่วงแรกที่ยังไม่ได้ขาเทียมต้องใช้รถเข็นหรือไม้ค้ำทำให้ตนหมดสิทธิ์ที่จะใช้บริการรถสาธารณะ รถเมล์ก็ขึ้นไม่ได้เพราะทางขึ้นสูงมาก ตนจึงต้องเดินทางด้วยรถส่วนตัวหรือแท็กซี่ หรือต้องมีคนเดินทางไปด้วยเท่านั้น อย่างไรก็ตามเสีย ข้อดีสำหรับคนพิการคือสามารถใช้บริการรถบีทีเอสและเอ็มอาร์ทีได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนรถเมล์ต้องจ่ายครึ่งราคา ตนอยากให้รัฐพัฒนาเรื่องรถสาธารณะสำหรับคนพิการมากที่สุด รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกตามอาคาร เช่น ห้องน้ำคนพิการ ทางลาด ทางเดิน ด้วย เพราะจะทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น และตนคิดว่าตนมีสิทธิ์ที่สามารถออกไปใช้ชีวิตในสาธารณะได้อย่างราบรื่นเช่นเดียวกับคนอื่น

ธนบวร นุ่มเจริญ อายุ 27 ปี พนักงานคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งประสบอุบัติเหตุทำให้อวัยวะช่วงล่างเคลื่อนไหวไม่ได้จึงต้องนั่งวีลแชร์ตลอดเวลา กล่าวว่าตนเองก็เดินทางลำบากมาตลอด 5 ปีหลังประสบอุบัติเหตุ การใช้บริการรถสาธารณะเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เลย ทุกวันนี้จึงต้องดัดแปลงรถยนต์ของตนเองให้ใช้ระบบคันเร่งมือเพื่อให้เดินทางได้ด้วยรถยนต์ส่วนตัวเท่านั้น ซึ่งก็ยังถือว่าโชคดีกว่าผู้พิการรายอื่นๆ ที่ไม่มีกำลังจัดหาเช่นตน แต่ที่ตนตั้งข้อสังเกตและคิดว่าควรแก้ไขโดยเร็วคือพื้นที่ฟุตบาทซึ่งสำหรับตนเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเดินทางไปยังใจกลางเมืองในบริเวณที่ฟุตบาทเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวางทั้งแผงลอย ป้ายโฆษณา ร้านค้า ฯลฯ นอกจากนี้ ทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน ตนต้องวางแผนอย่างละเอียดว่าจะขึ้น-ลงทางลาดบริเวณใดจึงจะไปถึงจุดหมายได้

อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องด้านสิทธิ สวัสดิการและการบริการสำหรับการเดินทางของผู้พิการ ได้มีหลายองค์กรออกมาเคลื่อนไหวเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงก็ยังไม่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมมากนัก มานิตย์ อินทร์พิมพ์ หรือ ซาบะ ผู้พิการซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการ จากองค์กรไม่แสวงหากำไร “องค์กรรณรงค์ด้านสิทธิการเข้าถึงและใช้สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานสำหรับผู้พิการ” หรือที่รู้จักกันในชื่อ Accessibility Is Freedom กล่าวถึงปัญหาการเดินทางและการใช้ชีวิตของคนพิการว่า สาเหตุหลักสองส่วนคือ กฏหมายที่มีการบังคับใช้ไม่หนักแน่นพอ และ จิตสำนึกโดยรวมของสังคมซึ่งยังมองว่าคนพิการเป็นคนนอกของสังคม โดยเห็นได้จากการที่คนปรกติแย่งใช้ที่จอดรถของคนพิการ ซึ่งมานิตย์เคยได้เรียกร้องเรื่องนี้ผ่านสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คไปหลายครั้ง รวมถึงสิ่งก่อสร้างต่างๆ เช่น สถานีรถไฟฟ้าสถานีที่ไม่ใช่ส่วนต่อขยายบางสถานีไม่มีลิฟท์และบันไดเลื่อนสำหรับคนพิการ ซึ่งภายหลังกลุ่มคนพิการได้มีการเรียกร้องจนมีการสร้างเพิ่ม 5 สถานี หรือสกายวอล์คจากสยามสแควร์ไปยังห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิร์ล ในทางต่างระดับมีขั้นบันไดสามขั้นแต่ไม่มีทางลาด มานิตย์ตั้งคำถามว่าแล้วจะให้คนพิการเดินทางอย่างไร เหตุใดวิศวกรหรือสถาปนิกผู้ออกแบบจึงไม่ใส่ใจในจุดนี้ การที่คนพิการจะสามารถลงจากขั้นบันไดได้นั้น จะต้องรอให้คนอื่นช่วยเข็นให้ สะท้อนให้เห็นถึงการบังคับใช้กฏหมายที่หละหลวมและการสร้างสถาปัตย์ที่ไม่เป็นไปตามกฏกระทรวง กําหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอํานวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ หรือบริการสาธารณะอื่น เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ. 2555

“คนพิการไม่ได้ต้องการความสงสารหรือความช่วยเหลือ แต่พวกเขาอยากใช้ชีวิตอิสระในสังคมได้ด้วยตนเอง ปัญหาต่างๆของคนพิการที่เกิดขึ้นนำมาสู่คำถามว่าคนพิการ พิการด้วยตนเอง หรือปัจจัยทางสังคมทำให้พวกเขาเป็นคนพิการกันแน่” มานิตย์กล่าว

การรณรงค์ในส่วนของมานิตย์นั้น สอดคล้องกับทฤษฎีการจัดสร้างยูนิเวอร์แซล ดีไซน์  (Universal Design) ซึ่งเป็นการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวก สิ่งของ สถานที่ เครื่องใช้เพื่อเอื้ออำนวยต่อทุกความสามารถ  ธวัชชัย แสงธรรมชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วาย น็อต โซเชียล เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด ที่ปรึกษาโครงการ “เข้า ใจ ให้” ซึ่งรณรงค์การจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกตามหลักยูนิเวอร์แซล ดีไซน์ ได้ให้ความเข้าใจถึงความสำคัญของยูนิเวอร์แซล ดีไซน์ ว่าเกิดจากแนวคิดที่พยายามสร้างความเข้าใจว่าคนพิการ พิการเพราะอะไร หากบอกว่าคนที่ไม่มีขา คนตาบอด คือคนพิการ ก็จะไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้เลย ซึ่งการมองเช่นนี้ ความพิการจะหมายถึงความด้อยจากความปรกติ

ธวัชชัยอธิบายต่อว่า “หากมองใหม่ว่าจริงๆแล้วความพิการไม่ได้เกิดจากคน แต่ความพิการเกิดจาก  ‘ความสามารถที่มีร่วมกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม’ เราก็จะเข้าใจว่าเราเปลี่ยนคนที่ไม่มีขาให้มีขาไม่ได้ แต่เราสามารถสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับพวกเขาได้ แนวคิดนี้จึงเป็นที่มาของยูนิเวอร์แซล ดีไซน์ การออกแบบสิ่งของ สถานที่ เครื่องใช้ใดๆก็ตาม เพื่อเอื้ออำนวยต่อทุกความสามารถ โดยในทีนี้ไม่ได้หมายถึงเพื่อผู้พิการอย่างเดียว เพราะหากมองความพิการเกิดจากความสามารถที่มีร่วมกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม คนที่ขาหักชั่วคราว คนที่แบกของหนักๆ หรือคนที่บางวันขี่จักรยานไปทำงาน พวกเขาก็สามารถใช้ยูนิเวอร์แซล ดีไซน์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ตนเองได้ เพราะมันคือการออกแบบที่รองรับความสามารถที่แตกต่างกัน จะเห็นได้ว่าการจัดสร้างสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญกับผู้พิการและทุกคนๆในสังคมมากๆ เพราะจะทำให้ทุกๆคนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้อย่างสะดวกสบาย อย่างเช่นในส่วนของการขนส่งมวลชน ก็มีการรณรงค์ให้ทาง ขสมก. จัดซื้อรถเมล์ชานต่ำ ซึ่งออกแบบให้มีทางลาดเพื่อให้คนพิการที่นั่งรถเข็น เข็นตนเองขึ้นไปได้ ทำให้คนพิการช่วยเหลือตนเองได้ ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากคนอื่น”

ด้าน ถนอมนวล หิรัญเทพ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ ผู้สอนวิชาวรรณคดีกับความพิการในเชิงสังคมวิทยา สังคมมักมองคนพิการว่าเป็นคนกลุ่มน้อย ความพิการเป็นเรื่องปัจเจกที่สังคมไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้ ภาพคนพิการที่ปรากฏบนสื่อทำให้คนในสังคมเข้าใจว่าคนพิการอยู่ในฐานะคนที่ไม่เข้าพวกและน่าสงสาร ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนพิการยังมีปัญหาในการเดินทางและการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ เพราะสังคมที่ยังไม่เข้าใจในความพิการและการไม่ปรับปรุงโครงสร้างเพื่อให้คนพิการเป็นส่วนหนึ่งในสังคม 

“ภาพคนพิการบางส่วนที่ปรากฏบนสื่อนั้น ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและสวัสดิการคนพิการในหลายแง่ ในแง่หนึ่งความรับรู้ของคนทั่วไปคิดว่า คนพิการยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับสวัสดิการเหล่านี้หรือเปล่า เพราะภาพที่ปรากฏโดยทั่วไปโดยเฉพาะบนสื่อกระแสหลักไม่ค่อยมีภาพการนำเสนอคนพิการในแง่ของความต้องการในการใช้การคมนาคม สิ่งอำนวยความสะดวก ลิฟท์ ทางลาด สังคมยังมองว่าคนพิการเป็นคนกลุ่มน้อยซึ่งสร้่างไปอาจจะไม่คุ้มค่า หรือไม่เราก็อาจจะเหมารวมไปเองว่าคนพิการอาจจะไม่ได้อยากออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธาณะเพราะลำบาก โดยส่วนใหญ่แล้วภาพคนพิการที่ปรากฏบนสื่อ เช่น ในละครก็จะนำเสนอพื้นที่คนพิการแค่ในบ้าน ไม่นำเสนอภาพกระบวนการการออกไปใช้ชีวิตข้างนอกของพวกเขาว่าต้องเจอกับอุปสรรคอะไรบ้างที่เกิดขึ้นจากการไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก หรือภาพอีกแบบนั่นคือภาพคนพิการที่ดูสงสารน่าเวทนา ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ รอคอยแต่ความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นความคิดแบบกระแสหลักที่ปรากฏตามรายการหรือข่าวต่างๆ”

ถนอมนวลกล่าวเพิ่มว่า การจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆเพื่อคนพิการ ทั้งอาคาร สถานที่ การขนส่งมวลชน ฯลฯ เป็นเรื่องที่รัฐฯควรให้ความสนใจและดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะตนคิดว่าพวกเขาควรได้รับสวัสดิการและการบริการจากรัฐฯเท่าเทียมกับคนอื่นตามหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน มีสิทธิ์ในการออกมาดำเนินชีวิตในพื้นที่สาธารณะ และไม่ควรถูกกีดกัดจากสังคม

 

----------

หมายเหตุ : รายงานข่าวนี้ เขียนโดย นริศรา สื่อไพศาล (แหวน) ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็น Final Project รายวิชา Advanced Reporting ภาคเรียนที่ 1/2557 โดยนริศราได้ส่งผลงานเข้าร่วมกิจกรรม'ปล่อยของหลังห้อง' กับเว็บเด็กหลังห้อง สำหรับนักเรียนนักศึกษาท่านใดสนใจร่วมกิจกรรมอ่านรายละเอียดได้ที่นี่

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมาศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ กรณีคนพิการนำโดย สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ฟ้อง กรุงเทพมหานคร และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กรณีไม่จัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งศาลปกครองกลางได้เคยมีคำสั่ง "ยกฟ้อง" แล้วครั้งหนึ่ง เมื่อ 22 กันยายน 2552 ระบุว่า เนื่องจากกฏหมายไม่มีผลย้อนหลัง  เพราะมีการทำสัญญาการก่อสร้างรถไฟฟ้าในปี 2539 ก่อนที่จะมีกฏกระทรวงมหาดไทยที่กำหนดว่าต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการและคนชรา ได้มีผลบังคับใช้ในปี 2542 โดยศาลฯสั่งให้ติดตั้งลิฟท์และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการทั้ง 23 สถานี ดำเนินการภายใน 1 ปี ขณะที่ปัจจุบันมีลิฟต์แล้ว 5 สถานีได้แก่ สยาม หมอชิต ช่องนนทรีย์ สนามกีฬาแห่งชาติ และอ่อนนุช โดยมีลิฟต์เพียงสถานีละ 1 ทางออก(อ่านรายละเอียดคำสั่งศาลฯเพิ่มเติม)