Skip to main content

ท่ามกลางความวุ่นวายสับสนของการจราจรในช่วงสายของวันเสาร์ สลับกับเสียงจอแจของผู้คนบนถนนเจริญกรุง ฉันตบไฟเลี้ยวรถจอดบนที่ว่างริมถนนเมื่อถึงที่หมาย รีบเร่งเท้าก้าวขึ้นฟุตบาทหลังจากเห็นเมฆก้อนมหึมาม้วนตัวจากไกลลิบทำเอาท้องฟ้ามืดครึ้มมาแต่ไกลเป็นสัญญาณของฝนที่กำลังจะตกลงมาในไม่ช้า ขณะเดียวกันก็พยายามสอดส่องสายตาเพื่อตามหาห้องสมุดเล็กๆแห่งหนึ่งได้ซ่อนตัวอยู่ในตรอกแคบๆระหว่างซอย 20 และ 22 บนถนนเจริญกรุง...

ฉันเร่งฝีเท้าเข้าไปตามทางเดินเล็กๆพร้อมกับสายฝนที่ไล่มาตามหลัง สถานที่นัดหมายของฉันวันนี้อยู่บนชั้นสองของเรือนร้อนฉนำ สวนเงินมีมา บนพื้นที่มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป หรือ ห้องสมุดประชาสันติธรรม” ห้องสมุดของคนรุ่นใหม่ที่เป็นที่จับตามองจากหลายภาคส่วนในขณะนี้ เพราะมิใช่ว่าห้องสมุดแห่งนี้เป็นเพียงห้องสมุดใหม่ที่น่าสนใจ แต่เพราะจุดมุ่งหมายที่มากกว่าการเป็นเพียงแหล่งรวบรวมทรัพยากรสารสนเทศที่ให้บริการแก่สังคมนั้นน่าจะเป็นคำตอบได้ดีที่สุด

“ห้องสมุดคือแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ทุกคนสามารถหาความรู้และใช้บริการเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพชีวิตของตนเอง”

เพราะหลักการดังกล่าวนี้...ทำให้หลังกลับมาจากการไปศึกษาที่อินเดีย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล หรือ แฟรงค์ วัย 18 ปี อดีตเลขาธิการกลุ่มศึกษาเพื่อความเป็นไทและเยาวชนผู้เคลื่อนไหวเพื่อการศึกษาไทย ได้ริเริ่มจัดทำห้องสมุดชุมชนเล็กๆตามแนวความคิดที่ตนเชื่อเพื่อหวังว่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้แลกเปลี่ยนและพื้นที่การแสดงความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ในชื่อ ห้องสมุดประชาสันติธรรม

ห้องสมุดแห่งนี้เป็นห้องสมุดที่มีพื้นที่ไม่ใหญ่โตนัก อาจจะมีขนาดเล็กกว่าห้องเรียนทั่วไปด้วยซ้ำ ภายในห้องมีเพียงแค่โซฟาหนึ่งชุด โต๊ะเตี้ยๆสองตัวพร้อมเบาะรองนั่ง ตู้หนังสือมีประมาณแค่สิบตู้เท่านั้นแต่ทุกตู้ก็อัดแน่นไปด้วยหนังสือที่ถูกจัดหมวดหมู่เป็นอย่างดี หนังสือเก่าอายุกว่าร้อยปีก็หาได้ที่นี่โดยถูกเก็บรักษาในตู้ลั่นกุญแจไว้หลังโต๊ะบรรณารักษ์ที่ตั้งทักทายผู้มาใช้บริการตั้งแต่หน้าประตู เนติวิทย์บอกกับเราว่าที่นี่เป็นห้องสมุดเก่าที่ไม่มีใครดูแล เขาจึงอาสาเข้ามาปรับปรุงพร้อมกับกลุ่มเพื่อนของเขา ที่น่าสนใจมากๆสำหรับห้องสมุดแห่งนี้คือหนังสือที่ถูกบรรจุอยู่บนชั้นที่นี่ล้วนเป็นหนังสือหายากทั้งนั้น ส่วนใหญ่เป็นหนังสือของ อ.สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ บุคคลที่เขานับถือ

“เราอยากให้คนได้อ่านหนังสือ” เนติวิทย์บอกสั้นๆถึงจุดมุ่งหมายในการจัดทำห้องสมุดแห่งนี้หลังจากเรานั่งลงคุยกันและเริ่มต้นด้วยคำถามว่าทำไมเขาถึงอยากทำห้องสมุด “ผมคิดว่าสังคมควรเป็นสังคมของการเรียนรู้ตลอดชีวิต”

เป็นเรื่องน่ายินดีที่คนหนุ่มคนสาวจะลุกขึ้นมาจัดสร้างหรือเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างให้สังคมเหมือนที่เนติวิทย์ได้ทำ ห้องสมุดแห่งนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นที่สำหรับแสวงหาความรู้และการศึกษาเพียงเท่านั้น แต่ยังเปิดพื้นที่เสรีให้กับเยาวชนได้เข้ามาขบคิดและทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การจัดงานเสวนาของเยาวชนจากกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทหรือกลุ่มของห้องสมุดเอง เพื่อให้เกิดการแสดงความคิดเห็นและให้ความรู้เป็นแรงขับเคลื่อนสังคมจากคนรุ่นใหม่

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล หรือ แฟรงค์ 

เนติวิทย์บอกในฐานะผู้เคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงการศึกษาอีกว่าการได้จัดทำห้องสมุดแห่งนี้ทำให้เขาได้มีพื้นที่สำหรับการรวมตัวของกลุ่มเยาวชนที่เคลื่อนไหวทางการศึกษาเช่นเดียวกันกับเขา จากแต่ก่อนที่เราต้องเช่าหรือยืมสถานที่ ตอนนี้ไม่ต้องอีกต่อไป ห้องสมุดแห่งนี้สามารถเป็นฐานทัพของกลุ่มเยาวชนได้ และยังมีความรู้มากมายให้ได้ศึกษาในพื้นที่แห่งนี้

“การเคลื่อนไหวทางการศึกษาจะต้องให้ปัญญาแก่คนให้มากที่สุด เราต้องไม่ทำตัวเป็นนักเรียนที่ไม่คิดและไม่วิจารณ์ เราต้องอ่าน เราต้องคิด และที่นี่คือพื้นที่สำหรับการรวมตัวได้ บางคนมีไอเดียดี บางคนมีความคิดจะทำสารพัดอย่างแต่ไม่มีพื้นที่ที่จะทำได้ อย่างล่าสุดก็มี อัลไตวิทยาคม เป็นโปรเจ็กต์เกี่ยวกับศิลปะที่เขาไม่มีพื้นที่ แต่เขามีไอเดียและก็มีกำลังคน พอเขามาคุยกับเรา เราก็ให้พื้นที่กับเขาไป สิ่งที่เราอยากได้คือแบบนี้ พื้นที่ที่เปิดให้คนใช้ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องผลิตคนแบบนั้นออกไปด้วยควบคู่กัน”

พูดกันตามจริงคือห้องสมุดหรือพื้นที่การเรียนรู้เช่นนี้ควรจะเป็นสิ่งที่รัฐฯจัดหาให้กับเด็กและเยาวชนในฐานะแหล่งเรียนรู้ที่ต้องมีในทุกชุมชนหรือสถานศึกษา แต่กลับกลายเป็นว่าห้องสมุดบางแห่งเช่นที่นี่ถูกดำเนินการโดยเยาวชนที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง เนติวิทย์มีความคิดว่าเขาจะใช้ห้องสมุดในฐานะตัวแทนการโต้ตอบและตั้งคำถามต่อระบบการศึกษาและผู้มีอำนาจบริหารการศึกษาไทย ซึ่งอาจบอกเป็นนัยๆได้ว่าสังคมไทยของเรากำลังขาดพื้นที่แห่งการเรียนรู้...

ซึ่งดูจะเป็นจริงดังนั้นเพราะหลังจากที่เรานั่งคุยกันไปได้สักพักท่ามกลางอากาศเย็นสบายภายในห้องสมุด ฉันขอให้เนติวิทย์เล่าเรื่องของตนเองในรั้วโรงเรียนและห้องสมุดของโรงเรียนเขาให้ฟัง ระหว่างนี้เขาอยู่ในช่วงดร็อปเรียนซึ่งทำให้เขาสามารถลงแรงกับห้องสมุดได้เต็มกำลังและจะกลับไปเรียนต่อในเดือนพฤษภาคม อีกไม่กี่วันที่จะถึงนี้... โดยมีความตั้งใจอย่างยิ่งว่าจะกลับไปเปลี่ยนแปลงโรงเรียนให้ดีขึ้นให้ได้

“สมัยเรียนผมก็เป็นเด็กนักเรียนธรรมดาน่ะครับ” เขาตอบหลังจากนิ่งคิดสักพัก ถึงจะถ่อมตัวเช่นนั้น แต่เขาไม่ธรรมดาเลยทีเดียวทั้งความคิดและการกระทำ เห็นได้จากแววตาที่มุ่งมั่นไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามแม้กระทั่งการตอบคำถามของฉัน “แต่ผมสนใจเรื่องการศึกษาหรือการเคลื่อนไหวต่างๆเพราะว่าชอบอ่านหนังสือ แต่ก่อนผมทำหนังสือในโรงเรียนตัวเอง ชื่อ จุลสารปรีดี’ แล้วก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มีปัญหาในโรงเรียน โรงเรียนไม่ให้ทำหนังสือ เราเลยต้องมาทำหนังสือด้านนอกโรงเรียนต่อ แล้วก็ทำให้เรารู้จักคนเยอะขึ้นครับ”

เนติวิทย์ถามฉันว่าอยากจะเห็นจุลสารปรีดีที่เขาทำไหม ฉันตอบทันทีว่าแน่นอน... เขาสัญญาว่าหลังจากจบการพูดคุยเขาจะเอาต้นฉบับจริงๆของเขามาให้ดู จากนั้นเขาก็พูดถึงปัญหาที่ได้เผชิญในรั้วการศึกษาซึ่งได้สะท้อนถึงการไม่มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น หรือแม้กระทั่งการคิดนอกกรอบ นอกจากจุลสารปรีดีแล้ว เนติวิทย์เคยพยายามปรับปรุงห้องสมุดโรงเรียนมาแล้วหลายครั้งแต่ก็ไม่ได้ผลเมื่อผู้บริหารไม่เอาด้วย นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่เขาออกมาทำห้องสมุดของตัวเองและเพื่อนๆกลุ่มการเคลื่อนไหวนอกสถานศึกษา ในเมื่อพื้นที่ของโรงเรียนซึ่งควรเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้ไม่เปิดโอกาสให้กับเขา

“ผมพยายามทำเท่าที่ทำได้ ผมจัดเสวนาในห้องสมุดสิบกว่าครั้งเลยนะ หนึ่งสัปดาห์เราจะมีคาบว่างหนึ่งคาบ เราก็ใช้ตรงนั้น ถึงจะน้อยแต่ก็พอมีช่องทางทำได้ครับถ้าจะทำจริงๆ”

เนติวิทย์ยังเล่าติดตลกอีกว่าเขาเคยสมัครลงเลือกตั้งประธานนักเรียนเพื่อที่จะได้มีส่วนร่วมในอำนาจบริหารแล้วได้รับตำแหน่งอีกด้วย แต่น่าเสียดายที่ทำได้ไม่ถึงสัปดาห์ก็โดนไล่ออกมาเพราะความเห็นไม่ตรงกับผู้บริหาร เขามองว่าจุดนี้ชี้ชัดให้เห็นถึงความไม่ใจกว้างพอของสถานศึกษาและความถดถอยของระบบการศึกษาที่ผู้สอนบางคนไม่ได้มีอุดมการณ์ในการเป็นครูแต่ก็เข้ามาเป็นจึงกลายเป็นปัญหาไม่รับฟังเด็กและเยาวชน อีกทั้งความยึดติดยศอย่างของผู้บริหารที่มองโรงเรียนของเขาเป็นทางผ่านไปสู่โรงเรียนที่ใหญ่กว่าก็ด้วย ซึ่งนั่นทำให้การศึกษาเป็นเชิงพานิชย์มากขึ้น หลักสูตรเองก็ถูกปรับให้เรียนหนักมากขึ้นด้วย คาบว่างที่เคยมีหลายคาบต่อสัปดาห์หายไปทำให้พวกเขาไม่มีเวลาว่างในการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองที่ห้องสมุดหรือสถานที่อื่นๆในโรงเรียนก็แล้วแต่ ดังนั้นสถานศึกษาจึงไม่ได้เป็นแหล่งเรียนรู้ร้อยเปอร์เซ็นต์ดังที่ควรจะเป็น และห้องเรียนถูกมองเป็นเพียงแหล่งเรียนรู้เพียงแหล่งเดียวเท่านั้น...

“ผมจะกลับไปทำให้โรงเรียนดีขึ้นแล้วในปีสุดท้ายของผม ผมพยายามเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย มามาก แต่ก็ไม่รอดเพราะเราไม่มีโมเดล ผมจะกลับไปทำโมเดลการเปลี่ยนแปลงที่โรงเรียนของผม จากระดับการเรียกร้องในสังคมใหญ่ ผมจะกลับมาสู่ระดับโรงเรียนแล้วในปีสุดท้ายแล้ว” เนติวิทย์ยังคงยืนยันว่าสถานศึกษาควรเป็นที่ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้และแสดงความคิดเห็นและการศึกษาจะต้องไม่ได้เกิดแค่ภายในรั้วโรงเรียนเท่าน้ัน พื้นที่ทางการศึกษาในสาธารณะเองก็ควรมีการจัดสร้างให้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ห้องสมุดประจำชุมชนต่างๆที่ยังขาดแคลนหรือถูกละทิ้ง และนอกจากการศึกษาในระบบโรงเรียนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เขาอยากจะให้เกิดเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ที่แท้จริงอีกอย่างคือพวกกลุ่มการศึกษานอกระบบซึ่งสังคมควรเปลี่ยนความคิดค่านิยมการแห่เข้าเรียนในการศึกษาในระบบเพียงเท่านั้น เพราะนอกจากการศึกษาในระบบแล้ว การศึกษาด้วยตนเองหรือการศึกษานอกระบบเองก็เป็นการศึกษาที่ดีที่ควรได้สนับการสนับสนุนมิใช่ถูกกีดกันจากค่านิยมในสังคม

แต่เมื่อตั้งคำถามกับเขาว่าในอนาคตอยากเห็นการศึกษาไทยเป็นอย่างไร เขากลับนิ่งคิดไปสักพักแล้วจึงค่อยเผยคำตอบที่ฉันและใครอีกหลายๆคนคงจะนึกไม่ถึง...เขาบอกว่าการศึกษาคือสิ่งที่ทุกคนต้องร่วม ออกแบบ เพราะเนติวิทย์มองการศึกษาโดยนัยว่าเป็นสิ่งที่คนรุ่นเก่าต้องการให้เรารู้หรือต้องการให้เราเป็นอย่างไร ดังนั้นเราอาจจะคิดได้ว่าเราอยากจะกำหนดให้การศึกษาในอนาคตเป็นอย่างไร แต่ต้องไม่ลืมว่ามันจะเป็นสิ่งที่ตกทอดให้กับคนในอนาคตซึ่งเป็นผลกระทบต่อสังคมถัดๆไป เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่ต้องคิดอย่างถี่ถ้วน

“เพราะคนรุ่นอนาคตเขาควรได้คิด” นี่คือประโยคเด็ดของเนติวิทย์ “เราต้องมีพื้นที่ให้เขาคิดเองมากขึ้น สำหรับผม ในอนาคต...นักเรียนต้องมีการออกแบบจัดการการเรียนรู้ด้วยตนเองได้มากยิ่งขึ้น”

ฉันนั่งคิดตามและพบว่ามันสำคัญจริงๆกับการสอนวิธีคิดมากกว่าการสอนว่าต้องคิดอย่างไร อย่างไรก็ตามเราก็อาจจะมองได้ว่าการศึกษาในปัจจุบันกำลังดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อการศึกษาเริ่มให้ความสำคัญที่ตัวบุคคลมากกว่าความต้องการผลิตคนที่เหมือนๆกันในสังคมเหมือนสมัยก่อน เห็นได้จากหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนให้แสดงความคิดเห็น เน้นการทำรายงานศึกษาค้นคว้าและนำเสนอต่อเพื่อนร่วมชั้น แต่มันยังต้องพัฒนาให้มากกว่านี้ ซึ่งนั่นคงเป็นสิ่งที่เนติวิทย์คิดจะทำในโรงเรียนเขาต่อไป

และเมื่อขึ้นปีการศึกษาใหม่ ฉันถามเขาว่าห้องสมุดจะต้องปิดตัวหรือไม่เพราะเขาไม่ได้มาดูแลเต็มเวลาอีกแล้ว เนติวิทย์ส่ายหน้าก่อนชี้ไปยังกลุ่มเพื่อนของเขาอีกสองคนที่เขาเรียกว่า คุณเบิร์ด และ คุณจอห์น ซึ่งต่างคนต่างกำลังทำกิจกรรมส่วนตัวของตนอยู่กันคนละมุมห้องสมุด เบิร์ดเป็นลูกจ้างประจำของห้องสมุดแห่งนี้ซึ่งเป็นงานที่เขาได้เลือกที่จะทำด้วยตนเองหลังเรียนจบระดับมหาวิทยาลัยด้านครุศาสตร์ เนติวิทย์บอกว่าห้องสมุดแห่งนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิเดือนละหนึ่งหมื่นห้าพันบาทสำหรับเงินเดือนพนักงานและค่าใช้จ่ายภายในและตัวเขาเองก็ไม่ได้จะไปไหนไกล เพราะยังมีภารกิจของกลุ่มเคลื่อนไหวใหม่ ‘Rise Up Thai Students Network’ หรือกลุ่มผู้ก่อการอภิวัฒน์สังคมไทย ที่จะใช้พื้นที่ห้องสมุดแห่งนี้เป็นที่ประชุม ถกเถียง และจัดกิจกรรม ซึ่งตอนนี้สิ่งที่กำลังเดินเนินการคือทำหน้าที่จับตาการปฏิรูปการศึกษาของคณะรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการชุดใหม่ถึงการปฏิรูปการศึกษาไทยที่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมว่าจะไปในทิศทางไหน รวมถึงต้องการเรียกร้องให้ทางกระทรวงศึกษาฯรับฟัง เอาใจใส่ และเคารพความคิดเห็นของเยาวชนบ้าง ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ที่จะถึงนี้ พวกเขาจะเดินหน้ายื่นข้อเสนอหกประการให้กับกระทรวงศึกษาธิการ

ปณต ศรีโยธา 

คุณเบิร์ด ตามที่เนติวิทย์เรียก หรือ ปณต ศรีโยธา พนักงานประจำห้องสมุดวัย 24 ปีและหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Rise Up Thai Students Network ดึงกระดานที่แอบอยู่ข้างชุดโซฟาออกมาเผยให้เห็นค่านิยมสิบสามประการที่พวกเขาเพิ่งร่างขึ้นหลังประชุมเสร็จสดๆร้อนๆก่อนที่ฉันจะมาถึงแล้วจึงอธิบายยิ้มๆ “นี่คือส่วนหนึ่งที่เราจะไปยื่นครับ โต้ตอบค่านิยมสิบสองประการ”

ในจดหมายที่เนติวิทย์และกลุ่มร่างขึ้นนั้น ระบุถึงข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาไทยหกข้อ ได้แก่ ค่านิยมสิบสองประการที่ถูกใช้สอน, การปรับปรุงระบบแนะแนวและสายวิทย์-สายศิลป์, การปรับปรุงอาชีวะศึกษา, คิดใหม่เรื่อง ‘วิชาลูกเสือ’, หน่วยงานร้องทุกข์และรับฟังข้อเสนอของนักเรียน, การตั้งคำถามต่อการทำงานภายในของกระทรวงศึกษาฯ ซึ่งเบิร์ดได้ให้ความคิดเห็นต่อหัวข้อเหล่านี้บางข้อว่ามันมีปัญหาและถูกละเลยมานาน โดยเล่าผ่านประสบการณ์ตรงที่ตนพบเจอในระดับอุดมศึกษา อย่างเรื่องการเรียนต่อที่เด็กหลายๆคนเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยโดยไม่ได้ตั้งใจที่จะมาศึกษาเล่าเรียนจริงๆแต่เรียนตามค่านิยมสังคมหรือพ่อแม่บังคับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการศึกษาการเรียนไม่ตรงสายส่งผลต่อการหางานทำที่ไม่ตรงตามที่เรียนทำให้เกิดความบกพร่องทางการขับเคลื่อนสังคม เชื่อมโยงกับการเรียนนอกระบบ เช่น ระบบอาชีวะศึกษาที่เบิร์ดจบมาซึ่งหลักสูตรไม่เอื้อให้เรียนต่อในบางคณะได้ เบิร์ดมองว่าจริงๆคนเราถนัดต่างกัน ดังนั้นสายอาชีพจึงควรจะเป็นคำตอบ แต่เพราะว่าการเรียนนอกระบบนี้ถูกกีดกันจากระบบการศึกษา เด็กจึงแห่เข้าเรียนการศึกษาในระบบซึ่งมีแค่สายวิทย์และสายศิลป์เท่านั้นๆ จึงเกิดการเรียนไม่ตรงตามความชอบเกิดขึ้น การศึกษาอาชีวะจึงควรได้รับการปรับปรุงเพื่อให้มีศักดิ์ศรีทัดเทียมกับสายสามัญ

“จริงๆผมอยากเรียนต่อด้านคอมพิวเตอร์ แต่ต่อด้านนี้ไม่ได้เพราะจบอาชีวะ จึงมาเรียนครูแทน พอจบมาก็ไม่ได้อยากเป็นครู ได้มาทำห้องสมุดแทน” เบิร์ดเล่าให้ฟังถึงชีวิตหลังเรียนจบซึ่งไม่ตรงตามสิ่งที่ชอบ ปัญหาคือระบบการศึกษาซึ่งเหลื่อมล้ำและไม่เปิดพื้นที่ให้กับการศึกษาอื่นๆ เช่น การศึกษานอกระบบ เบิร์ด มองว่าการศึกษาควรขึ้นกับผู้เรียน ซึ่งหมายถึงพื้นที่การเรียนรู้อย่างแท้จริง “คือผมอาจจะมีมุมมองความคิดเก่านะ...แต่ผมคิดว่าไม่ใช่ทุกคนที่จำเป็นต้องเข้าเรียนอุดมศึกษา คนที่เข้าเรียนต่อควรเป็นคนที่อยากเรียน อยากศึกษาหรืออยากหาความรู้จริงจังจริงๆ ส่วนคนที่ชอบทางอื่นก็เรียนสายอาชีพหรือ ปวช. ปวส. และทำงานเลย สี่ปีนอกรั้วมหาวิทยาลัยมันสร้างอะไรอะไรได้เยอะกว่านั้นถ้ามันมีโอกาสที่เหมาะสม แล้วจึงค่อยย้อนกลับมาเรียนระดับอุดมศึกษาต่อก็ได้ถ้าอยากเรียนจริงๆ”

สาเหตุที่เบิร์ดได้มาทำห้องสมุดเพราะการได้มาเจอกับเนติวิทย์ซึ่งตอนนั้นยังค่อนข้างเด็กและยังอยากทำอะไรอีกเยอะเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม แต่สิ่งที่เนติวิทย์ขาดคือกำลังคนสายปฏิบัติงานจึงได้เข้ามาทำหวังเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง ส่วนงานที่ได้ทำก็เป็นงานชีวิตประจำวันทั่วไป เก็บหนังสือ ลงทะเบียนหนังสือ ฯลฯ แต่ก็ถือว่าเป็นงานที่อยากทำที่สุดแล้วในตอนนี้ เบิร์ดคิดว่าห้องสมุดชุมชนสมัยนี้จะเป็นห้องสมุดอย่างเดียวไม่ได้ มันจะหายไปตามกาลเวลา มันต้องมีอะไรมากกว่า อย่างที่เนติวิทย์คิดว่าควรเป็นแหล่งชุมนุมการเรียนรู้ก็จะทำให้มีคนเข้าสมุด

ระหว่างที่นั่งพูดคุยกัน เสียงซ้อมแซ็กโซโฟนดังมาจากมุมห้อง เบิร์ดหันไปมองก่อนเอ็ดจอห์นว่าเสียงดังเดี๋ยวคนด้านล่างจะว่าเอา ก่อนบอกกับฉันว่านอกเหนือจากการยื่นข้อเสนอหกประการแบบทื่อๆ พวกเขาจะจัดกิจกรรมแบบสร้างสรรค์ไปด้วยคือ เต้นแรง เต้นกา หน้ากระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1’ ซึ่งจอห์นจะเป็นผู้บรรเลงเพลงประกอบด้วย

จอห์น หรือ ภูมิวัฒน์ แรงกสิวิทย์ 

จอห์น หรือ ภูมิวัฒน์ แรงกสิวิทย์ เป็นเด็กรูปร่างสูงใหญ่ เบิร์ดบอกว่าถึงจอห์นจะตัวโตสูงใหญ่เกือบร้อยแปดสิบเซนติเมตรแบบนี้แต่จอห์นก็อายุแค่ 15 ปีเท่านั้น ปัจจุบันจอห์นเป็นนักเรียนอิสระ เขาเพิ่งออกจากการศึกษาในระบบมาเรียน กศน. เมื่อปีีที่ผ่านมาหลังจากกลับมาจากอินเดียพร้อมเนติวิทย์และพบว่าการศึกษาในระบบไม่ตอบโจทย์เขาอีกต่อไป ทั้งอาจารย์ที่ไม่เข้าใจเขาแถมยังไล่เขาอีกว่าหากไม่พอใจก็ออกจากการศึกษาในระบบไปเสีย ปัจจุบันจอห์นที่เรียนการศึกษานอกระบบพักอยู่ที่ห้องสมุดสันติประชาธรรม นอกเวลาการศึกษาจอห์นจะใช้เวลาอยู่ที่นี่ร่วมกับกลุ่มการเคลื่อนไหวทางการศึกษา และคิดว่าจะอยู่ที่นี่ไปอีก 4-5 ปีเลยทีเดียว

จอห์นมองว่าการรวมกลุ่มของเยาวชนมีพลังที่จะปลุกมโนทัศน์การเรียนรู้ขึ้นมาในสังคม รวมถึงห้องสมุดนี้ที่เขาคิดว่าจะเป็นต้นแบบการเรียนรู้ได้เช่นกัน จอห์นเล่าถึงสมัยที่เรียนอยู่ที่นครสวรรค์ เขาชอบอ่านหนังสือจึงไปห้องสมุดประจำอำเภอทุกวัน แต่พบว่าที่ห้องสมุดมีเพียงแค่เขาคนเดียวเท่านั้นที่มาอ่านหนังสือ หนังสือไม่ถูกดูแลรักษาและจับฝุ่นเขรอะ จอห์นนึกย้อนไปในตอนนั้นแล้วเสียดายทรัพยากรที่มีอยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็มองในอีกแง่มุมว่ากระบวนการศึกษาที่มีอยู่ไม่สนับสนุนให้นักเรียนหาความรู้เพิ่มเติมหรือคิดต่าง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขาแตกหักจากการศึกษาในระบบ “ห้องสมุดอำเภอของผม ผมมองว่ามันเป็นการที่เรามีพื้นที่แต่เราไม่มีความรักที่จะเรียนรู้หรือแสวงหา คือโรงเรียนสอนเราว่าความรู้คือสิ่งที่จำเป็น...แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรากลัวการเรียนที่จะไปกดดันตัวเองจึงเรียนเท่าที่จำเป็น ซึ่งมันเป็นผลกระทบคือเด็กจะกลัวการเรียนรู้มาก...เพราะมองว่าเป็นเรื่องเข้าใจยาก มองว่าบางเรื่องเป็นเรื่องที่ โอ้...มันไกลเกินตัวเกินไป ไม่จำเป็นต้องรู้”

ภายใต้ชายคาของห้องสมุดเล็กๆนี้ ทั้งสามเห็นพ้องต้องกันถึงความสำคัญของการเปิดกว้างด้านการศึกษาและพื้นที่ที่จะมารองรับในจุดๆนั้นเหมือนกับที่ห้องสมุดสันติประชาธรรมพยายามจะทำ ฉันคิดว่าห้องสมุดแห่งนี้ประสบความสำเร็จในการพิสูจน์ตนเองต่อสังคมในระดับหนึ่งแล้ว นอกจากนั้นยังประสบความสำเร็จในฐานะตัวแทนและกระบอกเสียงเยาวชนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย... ถ้าผู้ใหญ่ทำให้เราไม่ได้ เราก็จะใช้กำลังและช่องทางเท่าที่เราสามารถทำด้วยตนเอง สิ่งต่อมาที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในเรื่องนี้ควรที่จะเปิดใจรับฟังและเคารพความคิดเห็นของเยาวชนให้มากกว่านี้ เพื่อเป็นพลวัฒน์ขับเคลื่อนสังคมของเราให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างเหมาะสม เป็นมรดกทางความคิดให้คนรุ่นหลังได้คิดต่อ คิดในแบบที่เขาเป็น...บนพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่เสรี

ก่อนจะกลับฉันได้ดูจุลสารปรีดีของเนติวิทย์ เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นที่เขาเขียนเรื่องราวเหล่านี้ตอนอายุสิบสาม-สิบสี่เพียงเท่านั้น จุลสารปรีดีเล่มแรกๆของเขาเขียนด้วยมือลงบนกระดาษเอสี่เย็บมุมธรรมดาประมาณ 3-4 หน้า มีปกที่วาดด้วยมือ เนื้อหาเกี่ยวกับการวิพากษ์สังคม การศึกษา การเมือง ส่วนเล่มถัดๆมามีพัฒนาการมากขึ้น มีอาจารย์เป็นที่ปรึกษาอนุญาตให้ทำฉบับคัดลอกขายในโรงเรียนราคาเล่มละห้าบาท มีการใช้ระบบการพิมพ์เข้ามาช่วยแทนระบบเขียนมือและมีการจัดหน้ากระดาษที่เป็นสัดส่วน รวมถึงรายนามผู้บริจาคให้จุลสารฯและหน้าจดหมายที่เขาเขียนข้อเสนอเรียนถึงผู้อำนวยการโรงเรียนเกี่ยวกับปัญหาต่างๆในโรงเรียน เนติวิทย์เล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำวารสารว่าเขาได้อ่านหนังสือของปรีดี พนมยงค์แล้วรู้สึกเคารพนับถือ แต่เพราะอาจารย์ให้ความรู้ผิดๆในห้องเรียน เขาจึงต้องเขียนจุลสารปรีดีเล่มแรกเพื่อตอบโต้ เขามองว่าในเรื่องที่มันไม่ถูกต้อง เราต้องมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง แม้ว่ามันจะทำให้อาจารย์ของเขาไม่พอใจมากก็ตามที...

ฉันถามต่อถึงหนังสือที่เยาวชนไทยควรอ่าน เนติวิทย์แนะนำมาเป็นชุด... “หนังสือทุกเล่มของ ส. ศิวรักษ์ หนังสือทุกเล่มของปรีดี หนังสือทุกเล่มของป๋วย แต่เอาจริงๆ...ดาบมังกรหยก อึ้งย้งก็ได้”

“หนังสืออะไรก็ตาม แค่อ่านก็ดีทั้งนั้น มันช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กว้าง เดี๋ยวก็ต่อยอดได้ พออ่านเล่มนึงก็เชื่อมโยงอีกเล่ม เราก็อ่านต่อๆไปนั่นทำให้ประตูความรู้มากขึ้น” 

ฝนซาพอดีกับที่ฉันสัมภาษณ์เสร็จ ได้ยินเพียงเสียงเปาะแปะของหยดน้ำใสตกกระทบหลังคาเป็นจังหวะ ฉับรวบรวมจุลสารปรีดีส่งคืนเนติวิทย์พร้อมกล่าวขอบคุณพวกเขาทั้งสาม...

ห้องสมุดแห่งนี้เต็มไปด้วยความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ แสวงหา ตั้งคำถาม และคาดหวังที่จะเห็นการศึกษาไทยเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ดีบนสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตเช่นเดียวกัน...

 

----------

หมายเหตุ : สารคดีข่าวนี้ เขียนโดย นริศรา สื่อไพศาล (แหวน) ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็น Final Project ส่งรายวิชา JR Writing ภาคเรียนที่ 2/2557 โดยนริศราได้ส่งผลงานเข้าร่วมกิจกรรม 'ปล่อยของหลังห้อง' กับเว็บเด็กหลังห้อง สำหรับนักเรียนนักศึกษาท่านใดสนใจร่วมกิจกรรมอ่านรายละเอียดได้ที่นี่