Skip to main content

6 มิ.ย. 58  ประชาไท รายงานว่า กลุ่ม ANTI - SOTUS จัดประชุมใหญ่ประจำปี 2558 ‘ถอดบทเรียนกับเครือข่ายนักศึกษาทั่วประเทศ’ ที่ตึกกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ โดยแบ่งออกเป็นสองช่วง ในช่วงเช้าเป็นการรายงานผลการทำงานของเครือข่ายตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาและให้สมาชิกเสนอแนะแนวทางในอนาคต ช่วงบ่ายเป็นวงเสวนาวิชาการหัวข้อ ‘โซตัส-พลเมือง ทางคู่ขนานที่นักศึกษา(จำเป็น)ต้องเลือก’ นำเสวนาโดยนายเจนวิทย์ เชื้อสาวะถี โดยมีวิทยากรคือ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ.

ข้อเสนอในการล้มเลิกระบบโซตัส

โดย ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวถึงข้อเสนอว่า 1.ควรให้มีการจัดอันดับหรือตัวชี้วัดโซตัสของทุกมหาวิทยาลัยในทุกๆ ปี เช่นเดียวกับการจัดอันดับประชาธิปไตยของแต่ละประเทศที่จัดขึ้นในทุกปลายปี ตรงนี้จะทำให้เกิดการเอาจริงเอาจังต่อการตระหนักเรื่องสิทธิและความเสมอภาคมากขึ้น

2.เมื่อในปี 2549 ที่มีปัญหาความรุนแรงในการรับน้องที่ม.เกษตรฯ และลงเป็นข่าวใหญ่บนหน้าหนังสือพิมพ์ ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้งดรับน้องในปีนั้น และเกิดความตระหนักถึงปัญหาการรับน้องจึงประกาศเงื่อนไขการรับน้องไม่ให้มีเรื่องลามกและรุนแรง หากมีปัญหาผู้บริหารต้องรับผิดชอบ ในช่วงนั้นตนเองได้เสนอข้อเสนอเข้าไปด้วยว่าให้เติมประเด็นความเสมอภาคเข้าไปด้วย ดังนั้นประกาศในตอนนี้จึงมีทั้งเรื่องสิทธิและความเสมอภาค แต่การประกาศก็ไปไม่ค่อยถึงตัวนักศึกษาเท่าไร ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องช่วยด้วย ประกาศเรื่องนี้ออกมา 5 ปีแล้วว่าการรับน้องต้องไม่ขัดต่อสิทธิความเสมอภาค

3.การรับน้องรุนแรงมีความผิด มีโทษทางอาญา การรณรงค์ในเรื่องนี้ถือว่าดีและควรทำให้มากขึ้น บอกก่อนฤดูรับน้องจะมาถึงให้รู้กัน และหากเกิดอะไรขึ้นอีกในปีนี้ก็ให้ทำเป็นคดีตัวอย่างไปเลย ในธรรมศาสตร์ 2-3 ปีที่ผ่านมาเคยมีการจัดการกันเองโดยมีนโยบายและวิธีการคือ หากนักศึกษาถูกละเมิดหรือการรับน้องขัดกับหลักความเสมอภาคให้แจ้งมหาวิทยาลัยผ่านทางฮ็อทไลน์ทันที เราจะจัดการให้ โดยมากก็ได้ผลเมื่ออธิการบดีลงไปจัดการด้วยตนเอง

โครงสร้างอำนาจแนวดิ่งที่ยังคงอยู่ แนะสร้างความสัมพันธ์แนวราบขึ้นมาสู้

กนกรัตน์ กล่าวถึงปัญหาและความสำเร็จในการรณรงค์ลดความสำคัญของระบบโซตัสว่า สิ่งที่พึงพิจารณาก็คือโครงสร้างอำนาจและความสัมพันธ์ในแบบแนวดิ่งที่ยังคงอยู่ในมหาวิทยาลัยและสังคมไทยเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขให้ได้

กนกรัตน์  เสนอว่าทางออกของปัญหา คือการสร้างโครงสร้างทางอำนาจและเครือข่ายที่มีลักษณะความสัมพันธ์ของบุคคลที่เป็นแนวราบ การสร้างกลุ่มกิจกรรมในรั้วสถาบันที่แยกย่อย หลากหลาย ตอบสนองความต้องการของนิสิตนักศึกษานอกเหนือจากกิจกรรมรับน้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทดแทนการสูญสลายของโครงสร้างแนวดิ่งและระบบโซตัส เพราะโครงสร้างที่ตอบสนองความแตกต่างหลากหลายจะเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นเสรีนิยม คือไม่มีความจริงหรือโครงสร้างที่สมบูรณ์จริงแท้เพียงแค่อันเดียว ทั้งนี้ความสามารถในการจัดสรรงบประมาณสู่กลุ่มที่แยกย่อยนั้นมีความสำคัญในฐานะที่เป็นส่วนสนับสนุนให้กิจกรรมขับเคลื่อนไปได้ และกลุ่มเหล่านี้เองที่จะรองรับผู้ที่ไม่เอาระบบโซตัสให้มีที่ยืน ทำให้เขารู้สึกปลอดภัย และตระหนักว่าพวกเขาอยู่ได้โดยไม่ต้องขึ้นกับระบบโซตัส

กนกรัตน์กล่าวว่า ขบวนการเครือข่ายนิสิต นักศึกษาในปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในความหวังของการท้าทายระบอบเผด็จการเพราะมีทั้งพื้นที่และความสามารถ ในขณะที่กลุ่มทางการเมืองต่างๆ ไม่มีที่ยืน  แต่การเคลื่อนไหวในปัจจุบันนั้นก็ไม่สามารถใช้วิธีการในแบบเดิมๆ ได้เนื่องจากเงื่อนไขทางสังคมและลักษณะของโครงสร้างของขบวนการที่เปลี่ยนไป

สำหรับช่วงถาม-ตอบท้ายเสวนา พร้อมทั้งประเด็นมุมมองของวิทยากรต่อ เส้นแบ่งระหว่าง พลเมือง-โซตัส จุดเริ่มต้นโซตัสในประเทศไทยและระบบโซตัสในปัจจุบัน อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://prachatai.org/journal/2015/06/59663