Skip to main content

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้รูปแบบแรงงานจากแรงงานอุตสาหกรรมกลายเป็นหนุ่มสาวออฟฟิศ แต่สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนคือ ความต้องการของแรงงาน เนื่องด้วยความมั่นคงในสวัสดิการและค่าตอบแทนคนรุ่นใหม่เริ่มหันหลังให้องค์กร เพื่อไปเป็นนายตัวเองเป็นฟรีแลนซ์กันมากขึ้น แม้จะอยู่บนความเสี่ยงไม่น้อยเลยก็ตาม

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม 2558  เวลา 17.00  - 19.00 น. ไทยพีบีเอส และ AfterShake ได้จัดเวทีเสวนา#แรงงานหนักมาก #ฟรีแลนซ์ก็เช่นกัน : จากขบวนการแรงงาน จนถึงการเติบใหญ่ของเจนวาย”ณ ห้องกระจก ชั้น 6 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ภาพรวมของงานมีการเล่าเรื่องการต่อสู้ของแรงงาน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จากอดีตจนถึงปัจจุบันและมองไปถึงอนาคต โดยนำเสนอปัจจัยที่ส่งผลต่อมุมมองทัศนคติที่มีต่อแรงงาน การทำงาน สิทธิและสวัสดิการ การต่อสู้ของแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งร่วมหาทางออกในการปฏิรูปแรงงานในอนาคต มีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุย ได้แก่ ธนา เธียรอัจฉริยะ อดีตผู้บริหารบริษัท DTAC แบ๊งค์ งามอรุณโชติ อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ปรัชญา สิงห์โต ผู้ประกอบอาชีพอิสระเจ้าของเว็บไซต์ f0nt.com รวมทั้งเหล่านักวิชาการชื่อดังได้แก่ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ วิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และมีคุณอาบู-ยุวบูรณ์ ถุงสุวรรณ มาร่วมบรรเลงบทเพลงทั้งก่อนเปิดเวทีเสวนาและหลังจบการเสวนา

แรงงานคือใคร ใครคือแรงงาน

ผู้ร่วมเสวนากล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานไม่ได้จำกัดกรอบแค่คนในโรงงานเท่านั้น แต่แรงงานคือ ทุกคนที่ทำงานเพื่อผลตอบแทนและรายได้ ไม่ว่าจะใช้แรงกาย แรงสมอง เพราะต้องนำเวลาของตัวเองไปขายให้คนอื่นแลกกับผลตอบแทน สมัยนี้ทุกคนเป็นแรงงานอิสระไม่เหมือนไพร่ทาสที่เปรียบเหมือนแรงงานบังคับและถูกยกเลิกในสมัยรัชกาลที่ 5 

แล้วฟรีแลนซ์ ถือว่าเป็นแรงงานหรือไม่  

ฟรีแลนซ์อาจถือว่าเป็นแรงงานนอกระบบ ไม่มีกฎหมายคุ้มครองสวัสดิการ อาจจะต้องทำงานหนักแต่ได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าแรงงานในระบบหรือพวกกรรมกรห้องแอร์

คุณปรัชญา ผู้ประกอบอาชีพอิสระเจ้าของเว็บไซต์ f0nt.com กล่าวว่าได้ออกจากมนุษย์เงินเดือนมาเป็นนายตัวเอง แล้วหาช่องทางทำเงิน ทำให้ปัจจุบันมีรายได้มากกว่าเดิมถึง 2-3 เท่า แต่การมาทำฟรีแลนซ์ต้องคำนวณเรื่องผลตอบแทนและสวัสดิการให้สมดุล

คุณแบ๊งค์ ได้พูดถึงฟรีแลนซ์ทั่วโลก ว่าน่าจะหมายถึงคนที่มีการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป มีทักษะเฉพาะ และเลือกที่จะไม่ทำงานในระบบ ไม่มีสัญญาระยะยาว หรือไม่ทำงานในระบบที่ผูกพันกับค่าจ้าง เช่น ศิลปิน นักออกแบบ อาจเปรียบเทียบคนเป็นสามรุ่น ได้แก่ Baby Boomer (ปัจจุบันอายุราว 50-70 ปี)  รุ่น Generation X อายุราว 35-50 ปี และรุ่น Generation Y อายุต่ำกว่า 35 ปี ความคิดของคนที่อยากไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า ปรากฎการณ์เช่นนี้ก็เกิดขึ้นตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 ที่คนชนบทดิ้นรนเข้ามาสู่กรุงเทพฯ ยุค Baby Boomer ข้าราชการเป็นที่นิยมเพราะมีการจ้างงานตลอดชีพ ผู้ทำงานจึงเกิดความรักในองค์กร   ในขณะที่คนรุ่นหลังเป็นแรงงานในระบบมากกว่ารุ่นก่อน แม้ว่าโอกาสในการออกไปทำงานอิสระหรือฟรีแลนซ์จะมีมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีทางSocial Media ทำให้เห็นโอกาสในการพัฒนาตัวเองและผลตอบแทนที่มากขึ้น รวมทั้งมองว่าระบบไม่ตอบโจทย์การดำเนินชีวิต อยากทำงานอยู่บ้านและใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ แต่ผู้ทำงานฟรีแลนซ์ไม่ถึง 10% ที่ประสบความสำเร็จ เพราะยังเป็นแหล่งที่ไม่มั่นคง คนมักเข้าสู่ระบบเพื่อหาความมั่นคงมากกว่า อาจมีการสร้างมาตรฐานคุ้มครองให้มีความเสมอภาคมากขึ้น ผู้ร่วมเสวนายังกล่าวอีกว่าคนที่เลือกเป็นฟรีแลนซ์ได้ ที่บ้านมักมีความมั่นคง หรือมีสมาชิกสักคนมีความมั่นคงเพื่อรองรับความเสี่ยงหากงานตนเกิดข้อผิดพลาดหรือล้มเหลว และมีหลายปัจจัยที่กำหนดการอยู่รอดของธุรกิจใหม่ เช่นการหาแหล่งเงินทุน ดังนั้นฟรีแลนซ์ไม่ได้เหมาะกับทุกคน นอกจากกายพร้อมใจพร้อม หากไปไม่รอดอาจมาตายรังที่ออฟฟิศได้

การปฏิรูปแรงงานในอนาคตควรไปในทิศทางไหน

ศิโรตม์กล่าวว่า “การสนับสนุนแรงงาน รัฐต้องเปลี่ยนฐานคิด แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องเลิกคิดเรื่องการดูแลมาตรฐานแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ” บทบาทของรัฐก็มีผล เช่น โครงการกองทุนหมู่บ้าน การวางโครงสร้างพื้นฐานยังมีความจำเป็น ระบบ 4G ที่ประชาชนเปิดดูได้ ให้ประชาชนเข้าถึงความรู้ และหากดูแลแรงงานนอกระบบไม่ได้ แรงงานในระบบ ฟรีแลนซ์ก็จะเกิดปัญหาเช่นกัน

ศักยภาพของแรงงานไม่ควรเกี่ยวกับแรงงานอย่างเดียว ควรคำนึงถึงระบบเศรษฐกิจด้วย

พรรคแรงงานอาจเป็นการรวมกลุ่มอีกทางเลือกหนึ่ง เพราะที่มาของระบบประกันสังคม แรงงานขั้นต่ำ ลาคลอด ต่างเป็นกฎหมาย ที่ผ่านการต่อสู้ของสหภาพแรงงานทั้งนั้น ซึ่งกระบวนการรวมกลุ่มที่เป็นไปได้ต้องสร้างการอุทิศตนเพื่อสังคมที่ดีกว่า ให้เห็นภาพสังคมอุดมคติที่มีชีวิตที่ดีกว่า “มีฝีมือ ตรงเวลา นิสัยดี” แรงงานที่ดีมีคุณสมบัติ 2 ใน 3 ข้อนี้น่าจะเพียงพอ