Skip to main content

11 พ.ค.2558 ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อธิการบดี 27 มหาวิทยาลัยรัฐ ซึ่งเป็นสมาชิกประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เดินทางเข้าพบ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดย ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า ทปอ. ได้ขอให้ รมว.ศึกษาธิการ ช่วยผลักดันร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา พ.ศ... ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากทุกฝ่ายได้แก่ ทปอ., ทปอ. มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย, ทปอ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชน คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ซึ่งเห็นชอบให้มีการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา และล่าสุด เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ประชุมกรรมาธิการการศึกษา และการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ โดย ทปอ. ได้เสนอว่าการจัดตั้งกระทรวงใหม่ จะก่อให้เกิดประโยชน์ คือ จะสามารถแก้ไขปัญหาคุณภาพการจัดการศึกษาในสถาบันการศึกษาที่เป็นปัญหา และจะขยายการจัดการศึกษาครอบคลุมประชากรวัยแรงงานตั้งแต่อายุ 15 - 60 ปี ที่ไม่จบอุดมศึกษา ซึ่งพบว่าประชากรวัยแรงงาน 40 ล้านคน 50% จบประถมศึกษา 30% จบมัธยมศึกษา และ 20% จบอุดมศึกษา

ขณะเดียวกัน การแยกจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาออกมาก็ไม่ใช่กระทรวงใหม่ ในอดีตเคยมีทบวงมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ทั้งนี้ นอกจากวามเห็นของ ทปอ.แล้ว ทางที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ทปอ.ม.ราชมงคล สมาคมอุดมศึกษาเอกชน ก็เห็นด้วยกับการตั้งกระทรวงอุดมศึกษาเช่นกัน รวมไปถึง กกอ.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ด้วย โดยในวันนี้ กรรมาธิการการศึกษาและกีฬา ได้มีการประชุมวันนี้และได้ให้ความเห็นชอบร่างมตินี้ด้วยเสียงเอกฉันท์

ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าวด้วยว่า "ในประเด็นนี้ รมว.ศธ.ไม่ขัดข้องกับการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา แต่ให้อยู่ในช่วงเวลาเหมาะสม ซึ่งก็สอดคร้องกับความเห็นของ สนช. ที่เห็นว่าควรจะรอดูในสองสามเรื่อง เรื่องแรก ให้รอดูร่าง รธน.ฉบับใหม่และให้รอดูความพร้อมของฝ่ายบริหาร ซึ่งก็คือ ครม.และกระทรวงศึกษาธิการ แต่ทั้งนี้ก็ได้ชี้แจงกับ รมว.ศธ.ไปว่าการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณก่อสร้างกระทรวงใหม่ สามารถใช้อาคารเดิมของทบวงได้รวมถึงไม่ต้องจัดตั้งตำแหน่งปลัดเพิ่มโดยให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นปลัดได้เลย ทั้งนี้ การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา จะทำให้กระทรวงสามารถเข้าไปดูแลการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยได้มากขึ้น หากการจัดการศึกษาของสถาบันใดมีปัญหาก็สามารถอาศัยข้อกฏหมายเข้าไปควบคุมดูแลได้ นอกจากนั้น ยังเป็นการขยายขอบเขตการทำงานของอุดมศึกษา

จากเดิมจะดูแลเฉพาะการจัดการศึกษาให้ประชากรวัย 18-25 ปี ให้สามารถเข้าไปดูแลวิทยาลัยชุมชน และแรงงานในวัยทำงาน ที่อายุ 15-60 ปี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 47 ล้านคนด้วย ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งจบการศึกษาระดับประถมศึกษา. มีเพียง 1 ใน5 เท่านั้นที่จบระดับอุดมศึกษา ปัญหาดังกล่าวยากที่จะผลักดันให้ประเทศไทยพ้นจากการเป็นประเทศกลับดักรายได้ปานกลาง เข้าสู่ดิจิตอลอิโคโนมีได้ จำเป็นต้องยกระดับทักษะคุณภาพของแรงงานก่อน”

ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังได้ขอให้ รมว.ศธ.ช่วยติดตามเรื่องเงินเยียวยาของพนักงานมหาวิทยาลัยทั้ง 3 กลุ่มด้วย คือกลุ่มที่ก่อนเข้าทำงาน 1 ม.ค. 2555, กลุ่มที่เข้าทำงานก่อน 1 ม.ค. 2556 และกลุ่มที่เข้าทำงานก่อน 1 ม.ค. 2557 ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีกลุ่มใดได้รับเงินเยียวยาครบตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติไว้ ขณะเดียวกันก็มีปัญหาข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้รับเงินเดือนน้อยกว่าข้าราชการพลเรือนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ถึง 8% ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.)ได้มีมติให้เสนอเรื่องนี้ให้ ครม.พิจารณาแล้ว จึงขอให้ รมว.ศธ.ติดตามเรื่องนี้ให้ โดยรมว.ก็รับปาก

ด้าน พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า เห็นด้วยในหลักการการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา แต่ต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการแยกกระทรวงใหม่ และพร้อมจะติดตามเรื่องเงินตกเบิกเยียวยาพนักงานมหาวิทยาลัย

 

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ และ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์