Skip to main content

6 พ.ค.2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ตามที่องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(อมธ.)และสภานักศึกษามธ.เรียกร้องให้นักศึกษาได้มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นเข้าไปมีส่วนร่วมในร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจะมีการล่ารายชื่อนักศึกษาประมาณ 1,000 คน เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ให้ชะลอการออกนอกระบบของมธ. นั้น

เท่าที่ดูนักศึกษายังมีข้อสงสัยเนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ที่ไม่มีการกำหนดให้มีตัวแทนนักศึกษาเข้าไปเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยและไม่มีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของสภามหาวิทยาลัยซึ่งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้ทำความเข้าใจกับนักศึกษาไปแล้ว

โดยในส่วนของตนเองเห็นด้วยที่ให้มีตัวแทนนักศึกษาเข้าไปร่วมเป็นกรรมการสภาฯ แต่ที่ไม่เห็นด้วยคือการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการสภาฯ เพราะผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถหายาก

ซึ่งในการชี้แจงต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ตนก็ได้ยืนยันตามความเห็นเดิม แต่เมื่อร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ก็ได้มีการปรับแก้รายละเอียด มาเป็นไม่ให้มีตัวแทนนักศึกษาร่วมเป็นกรรมการสภาฯ และไม่มีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของสภาฯ เพราะเห็นว่าหากให้นักศึกษาเข้าไปร่วมเป็นกรรมการสภาฯ อาจจะไม่เหมาะสมโดยเฉพาะการพิจารณาเรื่องที่มีส่วนได้ส่วนเสียก็อาจจะไม่สมควร อาทิ การพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ จะให้ลูกศิษย์เข้ามาร่วมตัดสินก็อาจไม่สมควร โดยร่างนี้ถือว่าออกมาจากรัฐบาลที่ผ่านการพิจารณาจากหลายฝ่าย

“ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใช้เวลาในการยกร่างมานานถึง 16 ปี ผ่านการสอบถามความคิดเห็นและปรับแก้มาหลายรอบ ผมอยากให้นักศึกษาเคารพเสียงข้างมากตามระบบประชาธิปไตย เพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้มีเฉพาะนักศึกษาเท่านั้น แต่ยังมีบุคคลากรส่วนอื่น ๆ ด้วย ไม่ใช่ว่า ถ้าเขาไม่ทำตามที่ต้องการก็จะออกมาเรียกร้อง แบบนี้ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย” อธิการบดีมธ.กล่าวและว่า

ในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเข้าสู่การพิจารณาของสนช.วาระ 2 และ3 ซึ่งคาดว่าจะผ่านความเห็นชอบอย่างไม่มีปัญหา จากนั้นจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งเมื่อมธ. ออกนอระบบ จะยังคงยืนหยัดตามปณิธานเดิมของนายปรีดี พนมพยงค์ ผู้ก่อตั้งมธ. คือการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อส่วนรวม แต่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางวิชาการในระดับนานาชาติ เพื่อก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก