Skip to main content

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน เวลา 17.00 ณ ห้อง 107 อาคารสำราญราษฎร์บริรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นิสิตรายวิชาปฏิบัติการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ ภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ร่วมกับวิทยากรจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน. ปทุมวัน ได้จัดงานสัมมนาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “มหาวิทยาลัย ปลอดภัยไว้ก่อน (Risk -  free campus)” เพื่อชี้แจงสาเหตุของการเกิดความไม่ปลอดภัย และแนวทางปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอาชญากรรมในมหาวิทยาลัยและพื้นที่โดยรอบ โดยมีผู้ร่วมสัมมนาคือ นายเริงศักดิ์ บุญบรรดาลชัย รองผู้อำนวยการ ศูนย์รักษาความปลอดภัยและกาจัดการจราจรแห่งจุฬาฯ และ ดร.จอย ทองกล่อมสี ผู้อำนวยศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ และวิทยากรจาก สน. ปทุมวัน ได้แก่ ร.ต.ต.สุทธิศักดิ์ มณเฑียรทอง, ร.ต.ท.พลวัฒน์ ชอบพล และ ร.ต.ท.ไพบูลย์ สอโส 

กลุ่มนิสิตวิชาปฏิบัติการพัฒนาสังคม เริ่มนำเสนอผลการวิจัยจากการยกกรณีศึกษาของมหาวิทยาลัยชิคาโก ที่มีการจัดการความปลอดภัยในมหาวิทยาลัยและพื้นที่โดยรอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจปรากฏการณ์เชิงกายภาพ ได้แก่ สาเหตุของการเกิดอาชญากรรม สำรวจมุมมองทางสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ กลุ่มนิสิตได้ใช้วิธีการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจ, เจ้าหน้าที่เทศกิจ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัย ใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูลจากนิสิตจุฬา ฯ จำนวน 400 คน จาก 19 คณะเป็นเครื่องมือในการหาข้อมูลทำการวิจัยดังกล่าว

ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยเชิงกายภาพที่เอื้อต่อการเกิดอาชญากรรม คือโครงสร้างของพื้นที่ในมหาวิทยาลัยและพื้นที่โดยรอบ อาทิเช่นระบบไฟส่องสว่างมีปัญหาในด้านความขาดแคลน ไม่เปิด-ปิดไฟฟ้าแบบอิงตามฤดูกาลที่เวลากลางคืนมีความยาวนานแตกต่างกัน ทางเท้าของถนนรอบมหาวิทยาลัยบางเส้นมีความแคบ ผู้ก่ออาชญากรรมสามารถเข้าถึงผู้สัญจรบนทางเท้าได้สะดวก ทัศนียภาพรอบมหาวิทยาลัยบดบังแสงสว่าง และบริเวณที่เป็นตึกร้างไม่มีการปิดกั้นพื้นที่ ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นแหล่งซ่องสุมรวมทั้งบริเวณสะพานลอยและป้ายรถโดยสารประจำทางที่มีป้ายใหญ่บดบัง ทำให้กลายเป็นจุดอับและเกิดอาชญากรรมได้ง่าย จำนวน รปภ. ไม่เพียงพอต่อการสอดส่องดูแล การดูแลภายในและนอกมหาวิทยาลัยมีหน่วยงานรับผิดชอบคนละหน่วยงานกัน ซึ่งทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนทางการบังคับบัญชาและดูแลความสงบ  

นอกจากนี้ ความตระหนักรู้หรือระแวดระวังภัยของนิสิตจุฬา ฯ อยู่ในระดับ “กลางถึงต่ำ” โดยสะท้อนจากผลการสำรวจที่มีนิสิตถึงร้อยละ 77.7 ที่เล่นหรือใช้งานเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ขณะเดินทาง อีกทั้งยังมีมายาคติที่เชื่อว่าผู้ก่อเหตุอาชญากรรมเป็นบุคคลในท้องที่ แต่จากหลักฐานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่าในความจริงแล้วเป็นบุคคลจากที่อื่น ไม่ใช่เด็กช่างกล หรือกลุ่มคนที่นิสิตจุฬา ฯ ส่วนมากมีความวิตกกังวล ผลวิจัยยังชี้ว่า สื่อ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เป็นสาเหตุหลักในการบิดเบือนทัศนคติ และสื่อที่ทางมหาวิทยาลัยใช้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านความปลอดภัยที่มีให้นิสิตนั้นไม่ได้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง โดยนิสิตร้อยละ 93.7 ไม่ทราบว่ามีโครงการส่งน้องกลับบ้านของจุฬา ฯ และร้อยละ 89.6 ไม่ทราบหมายเลขฉุกเฉินของจุฬา ฯ (80000)  ทั้งนี้ ยังได้กล่าวถึงสภาวะทางสังคมรอบมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนไปจากการเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยเป็นแหล่งการค้า ผนวกกับความคิดของนิสิตที่มีความเป็นปัจเจกมากขึ้น ทำให้ระดับความสัมพันธ์ของนิสิตกับคนในชุมชนอยู่ในลักษณะของผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งทางนิสิตการวิจัยยังได้เสนอแนวทางแก้ไขว่าต้องใช้สื่อและสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างนิสิตและเจ้าหน้าที่ เพื่อสร้างทัศนคติเรื่องการระแวดระวังภัยและความเข้าใจที่ถูกต้องต่อชุมชนโดยรอบเพื่อลดความเข้าใจผิด เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและยั่งยืน ซึ่งจะต้องใช้เวลาแก้ไขนานกว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องโครงสร้างทางกายภาพโดยรอบมหาวิทยาลัย โดยกลุ่มนิสิตเสนอให้มีการเพิ่มรอบรถโดยสารในมหาวิทยาลัย (ปอพ.) รวมทั้งเส้นทางปลอดภัยยามกลางคืน (Safe Walk Path)

ดร.จอย ทองกล่อมสี: การใช้สื่อเหมือน “ดาบสองคม”

ดร.จอย ทองกล่อมสี กล่าวถึงประเด็นการจัดการความปลอดภัยว่าด้วยเงื่อนไขของการเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างให้ทั้งนิสิตและประชาชนเข้าออกได้ตลอดเวลา และเงื่อนไขของการจัดการความปลอดภัยผ่านการใช้สื่อ ว่าการทำการสำรวจข้อมูลมีความยากลำบากเนื่องจากขาดแคลนทรัพยากรบุคคล และยังกล่าวถึงความเข้าใจผิดที่มาจากการใช้สื่อว่า สื่อทุกวันนี้ควบคุมไม่ได้เพราะเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว นิสิตและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นมีพื้นที่มีข้อเรียกร้องที่หลากหลาย ซึ่งบางครั้งนำไปสู่การเข้าใจผิดและส่งผลกระทบทางลบต่อมหาวิทยาลัย เช่นการแสดงความเห็นในสังคมออนไลน์โดยนิสิตที่ได้รับผลกระทบในช่วงที่มหาวิทยาลัยใช้หอพักนิสิตเป็นที่พักนักกีฬาในกิจกรรมกีฬาสาธิต ฯ ครั้งที่ผ่านมา ทั้งๆที่ทางจุฬา ฯ ก็มีการใช้สื่อดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น อินสตาแกรม เฟซบุ๊ค หรือเว็บไซต์ แต่ก็มีนิสิตจำนวนน้อยที่ตระหนักว่ามีสิ่งเหล่านี้อยู่ การใช้สื่อ สำหรับมหาวิทยาลัยจึงเป็นดาบสองคม ที่ทั้งเอื้อประโยชน์และสร้างความเสียหายได้ในทางกลับกัน

เริงศักดิ์ บุญบรรดาลชัย:ความยากลำบากของหน่วยรักษาความปลอดภัย จุฬา ฯ 

คุณเริงศักดิ์ บุญบรรดาลชัย ได้อธิบายข้อจำกัดที่ศูนย์รักษาความปลอดภัยประสบ ทั้งหน้าที่รับผิดชอบที่นอกเหนือจากงานรักษาความปลอดภัยเช่นการจัดการจราจร การระงับอัคคีภัย รวมไปถึงการช่วยพยาบาลนิสิต ทั้งยังอธิบายต่อว่า ขอบเขตการรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจำกัดอยู่แค่ภายในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์ในการพกพาอาวุธและไม่มีอำนาจการจับกุม ปัจจุบัน จำนวนเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่นั้นน้อยกว่าที่จำเป็น คือต้องการประมาณ 300 คนแต่มีเพียง 260 คนเท่านั้น ซึ่งมีสาเหตุจากเกณฑ์การรับสมัครเรื่องวุฒิการศึกษาที่ถูกใช้เป็นตัวชี้วัดศักยภาพด้านความรู้และความเข้าใจ ที่เพิ่มจาก ป. 6 ในอดีตมาเป็น ม.3 เป็นอย่างต่ำในปัจจุบัน สวนทางกับค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ไม่คุ้มค่าต่อการเสี่ยงเข้าไปช่วยเหลือนิสิต ผนวกกับความต้องการเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของคณะมีสูง ทำให้การจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมต่อพื้นที่มีความยากลำบาก การสอดส่องดูแลมีช่องโหว่ แต่ปัจจุบันได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการฝึกและสร้างจุดตรวจร่วมกับ สน.ปทุมวันทางเข้ามหาวิทยาลัยในยามกลางคืนแล้ว อีกทั้งยังมีการพูดคุยกับทางห้างร้านและผู้เกี่ยวข้องให้มีการจัดตั้งไฟส่องสว่างและเชื่อมต่อโครงข่ายกล้องวงจรปิดเพื่อประสิทธิภาพในการสร้างความปลอดภัยและสอดส่องเหตุการณ์

วิทยากรจาก สน.ปทุมวันให้ความรู้เพิ่มเติมจากแง่มุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ร.ต.ต.สุทธิศักดิ์ มณเฑียรทอง ได้ให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาว่า องค์ประกอบของอาชญากรรมนั้นมีสามอย่าง ได้แก่ เหยื่อ, อาชญากร และโอกาส ซึ่งก็คือ เวลาและสถานที่ที่เหมาะแก่การทำอาชญากรรม เหยื่อจึงสามารถช่วยเหลือตนเองเบื้องต้นได้ด้วยการลดโอกาสการเกิดอาชญากรรม เช่นการหลีกเลี่ยงสถานที่รกร้าง เปลี่ยว หรือการเดินทางลำพัง

ร.ต.ท.พลวัฒน์ ชอบพล เสริมว่า สาเหตุที่มีการก่ออาชญากรรมบริเวณนี้เยอะ เพราะว่าบริเวณนี้มีผู้คนมาก อีกทั้งยังมีที่มีฐานะและทรัพย์สินติดตัวจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นชาวไทยและชาวต่างชาติ ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ตำรวจและกรุงเทพมหานครได้ร่วมมือกันสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยขึ้นรอบๆมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังชี้แนะวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการมีสติ หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นควรรักษาชีวิตเอาไว้ก่อน อย่ายึดติดกับทรัพย์สินมากจนเกินไป

ทาง ร.ต.ท.ไพบูลย์ สอโส อธิบายถึงปัญหาที่ทาง สน.ปทุมวันพบเจอในด้านการดูแลประชาชนในแต่ละวันซึ่งมีมาก เมื่อเทียบกับจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีเพียง 250 คนเท่านั้น และยังให้ความเห็นว่า การรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดมักสวนทางกับความสะดวกสบายเสมอ อีกทั้งอธิบายว่าตามระเบียบการว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2555 ได้ให้แนวทางปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จึงแนะนำให้นิสิตผู้ทำวิจัยไปศึกษาเพิ่มเติม และเสนอว่า ความปลอดภัยในมหาวิทยาลัยมีมากไปกว่าเรื่องการก่ออาชญากรรม แต่ยังหมายรวมถึงแง่มุมอื่น เช่นความปลอดภัยด้านการจราจร เป็นต้น

ความคิดเห็นจากผู้มีส่วนร่วมท้ายการสัมมนา

ผศ.ดร.จักกริช สังขมณี รองคณบดี ฝ่ายกิจการนิสิตและอาจารย์ประจำวิชา กล่าวว่าประเด็นความปลอดภัยควรถูกนำเสนออย่างถูกต้องและโปร่งใส ถึงแม้จะเกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยก็ตาม และมุ่งหวังให้สังคมมีความตระหนักรู้มากขึ้นว่าเรื่องของความปลอดภัยไม่ใช่หวังพึ่งคนอื่นอย่างเดียว

ณัฐมน เกตุแก้ว หนึ่งในนิสิตผู้จัดสัมมนาได้กล่าวกับทีมข่าวเด็กหลังห้องว่า การทำวิจัยเป็นการเปิดแง่มุมใหม่ๆ ที่คิดว่ารู้อยู่แล้วให้ลึกลงไปอีก อีกทั้งยังชี้ว่าการแก้ไขข้อบกพร่องเรื่องความปลอดภัยต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม เพราะทุกฝ่ายมีข้อจำกัดของตนเองที่แต่ละฝ่ายต้องช่วยเหลือกัน ไม่ใช่เถียงกัน

ฌาณัฐ อนันทปัญญสุทธิ์ ผู้เข้าร่วมฟังสัมมนา – “งานวิจัยชิ้นนี้พูดแทนนิสิตจุฬาฯ เกี่ยวกับปัญหาความปลอดภัยบริเวณมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง และเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่า เมื่อเสียงของนิสิตออกมาเช่นนี้แล้ว ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะปรับปรุงหรือพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยอย่างไรให้ดียิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”