Skip to main content

งานเสวนาเปิดตัวหนังสือ"ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน:รวมบทความว่าด้วยประชาธิปไตย ความรุนแรง และความยุติธรรม" ของ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ สะท้อนคำถามหลักที่ว่าเหตุใดประชาธิปไตยของไทยที่เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านกลับนำผู้คนเข้าสู่ยุคเปลี่ยนไม่ผ่าน

เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันจัดงานเสวนาในหัวข้อ"ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน ยุคเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย" ที่ห้อง 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดขึ้นเนื่องในโอกาสเปิดตัวหนังสือ "ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน : รวมบทความว่าด้วยประชาธิปไตย ความรุนแรง และความยุติธรรม" ของ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โดยมีนักวิชาการร่วมเสวนาคือ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ดร.ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้ดำเนินรายการได้กล่าวถึงหนังสือว่าเป็นการรวมความคิดของอาจารย์ประจักษ์ ที่มองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาเนื้อหามองหลากหลายแง่มุมเช่น ความไม่เสมอภาคในสังคมไทย แง่มุมการเลือกตั้งทั้งในด้านมายาคติและความรุนแรง บทบาทของภาคประชาสังคมไทยที่ไม่เอื้อต่อสังคมไทย ความยุติธรรม โดยสะท้อนคำถามหลักที่ว่าเหตุใดประชาธิปไตยของไทยที่เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านกับนำผู้คนเข้าสู่ยุคเปลี่ยนไม่ผ่าน  

เริ่มต้นจากศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผู้เขียนคำนิยมในหนังสือเล่มนี้  กล่าวว่าการต่อต้านประชาธิปไตยในช่วงที่สังคมเปลี่ยนผ่าน กลุ่มที่เห็นได้ชัดคือฝ่ายขวา ซึ่งอ.ประจักษ์ เข้าไปศึกษาเรื่องนี้   และสิ่งที่น่าวิตกในสังคมไทยตั้งแต่ก่อนและหลังรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คือความรุนแรง และเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบในสังคมที่กำลังเปลี่ยนระดับโครงสร้างลึกๆ โดยเครืองมือที่จะขจัดความรุนแรง คือความยุติธรรมข้ามชาติ เพราะถ้ามีการเข่นฆ่าประชาชน จะทำให้ความยุติธรรมในประเทศเราที่ไม่ทำงานไปทำในประเทศอื่นแทน เช่น อาร์เจนตินา รวมทั้งประชาสังคมที่เป็นอารยะ เราจะทำให้ความขัดแย้งในสังคมไทยดำเนินไปตามกติกา โดยไม่ผ่านความขัดแย้งได้หรือไม่

สำหรับเรื่องนอกบทที่ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ สนใจคือหลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทำให้พบว่ามีประชาธิปไตยในยุคที่ไม่เปลี่ยนผ่านทั้งที่ก่อนหน้านั้นตนอยากให้เปลี่ยนผ่าน ซึ่งก็พบทั่วโลกรวมทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วถือว่าไม่ตอบสนองคนนำไปสู่การปกครองในระบอบอื่น เช่น เยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น  ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาก็เปลี่ยนไม่ผ่าน ทั้งที่ประเทศที่เกิดใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่างเอาใจอเมริกันซึ่งเป็นมหาอำนาจใหม่ในการต้องเป็นประชาธิปไตยหลังได้รับเอกราช เช่นในกัมพูชา พม่า

ทำไมบางสังคมถึงสามารถเปลี่ยนผ่านและไม่เปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้ คิดว่ามีเงื่อนไขทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ที่อธิบายได้ของแต่ละสังคม จึงอยากเห็นการศึกษาประชาธิปไตยในยุคที่ไม่เปลี่ยนผ่านของแต่ละสังคมอื่นๆทั้งโลกรวมทั้งในไทยด้วย เผื่อที่จะได้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในไทยตอนนี้

อย่างน้อยอาจทำให้เดาได้ว่าคสช.จะอยู่ต่อได้นานเท่าไหร่ หรือผู้สืบทอดที่บดบังการริดรอนอำนาจประชาธิปไตยได้ยิ่งกว่าคสช.

ด้านอ.ปิยบุตร แสงกนกกุล  ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญจากเผด็จการไปเป็นประชาธิปไตยว่ามี 6 ขั้นตอน แม้จะเป็นวงจรอุบาทว์แต่ก็มีพัฒนาการ ซึ่งแต่ละประเทศอาจวนกลับไปมา หรือไปสู่ขั้นที่ 6 ได้ เริ่มจากขั้นตอนแรกวิกฤตในรัฐธรรมนูญระบอบเผด็จการ อาจไม่ใช่รัฐธรรมนูญหนึ่งฉบับอย่างที่เห็น อาจจะมีกฎหมาย คำสั่งคณะปฏิวัติมากมายอย่างที่เห็น จะมีการก่อรูปของรัฐธรรมนูญแล้วถึงช่วงเวลาหนึ่งมักเกิดวิกกฤต อาจมีปัจจัยมาจากการแพ้สงคราม เศรษฐกิจ ขบวนการชาตินิยมในอาณานิคมของตัวเองเรียกร้องอิสรภาพ ความขัดแย้งรุนแรงภายในประเทศ การชุมนุมต่อต้านระบอบเผด็จการ ผู้นำสูงสุดตาย ต่างประเทศกดดันเช่น กัมพูชา

สิ่งที่ตามมาคือ การแก้วิกฤต เข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 คือการทำลายรัฐธรรมนูญของระบอบเผด็จการ มีสองรูปแบบคือ การปฏิรูปเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยปฏิรูปโดยค่อยเป็นค่อยไป และหากแก้วิกฤตไม่ทันอาจกวาดล้มกระดาน(tabula lasa)  เช่น การปฏิวัติโดยประชาชน รัฐประหารโดยกองทัพ เช่น ในโปรตุเกส ในไทย พ.ศ.2475 แบบแรกขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำที่เห็นอนาคตว่าจำเป็นต้องเปลี่ยน ข้อดีคือดำเนินไปอย่างราบรื่นทุกฝ่ายแต่จะสะสางกับฝ่ายผู้ก่อความเสียหายย้อนหลังไม่ได้ ส่วนแบบสองที่สามารถเอาผิดย้อนหลังอีกฝ่ายได้ แต่จะเกิดความเสียหายมากและเสี่ยงที่จะถูกอีกฝ่ายโต้กลับปฏิวัติยึดอำนาจคืน

ขั้นตอนที่ 3 รัฐธรรมนูญในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน เกิดรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่จะลบล้างหรือเลือกรับระบอบเก่า สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอคือการนิรโทษกรรมของฝ่ายเผด็จการ

ขั้นตอนที่ 4 สังคมจะเรียนรู้และก้าวข้ามไปสู่รัฐธรรมฉบับประชาธิปไตย

ขั้นตอนที่ 5 รัฐธรรมนูญของระบอบประชาธิปไตยถูกตรวจสอบท้าทาย เช่น การตอบโต้จากระบอบเก่า การก่อการร้าย ความขัดแย้งภายในระบอบประชาธิปไตย จนไปถึงขั้นตอนที่ 6 ที่รัฐธรรมนูญระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง มีการตกผลึกและมีเสถียรภาพ สามารถจัดการเลือกตั้งตามวาระและองค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐทำงานได้เต็มที่ ในขณะที่รัฐธรรมนูญของไทยยังวนเวียนไปไม่ถึงขั้นตอนสุดท้าย และรัฐธรรมนูญของไทยที่ผ่านจะนิรโทษกรรมและรับรองการกระทำของคณะทหารรวมทั้งยอมรับการทำลายรัฐธรรมนูญเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เช่น การนิรโทษกรรมทั้งในพระราชบัญญัติและรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2515 การนิรโทษกรรมทั้งพระราชบัญญัติ รัฐธรรมนูญชั่วคราวและถาวร ปี 2534 จนมาปี 2549 ที่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมในรธน.ชั่วคราวและถาวรและเพิ่มยกเว้นให้มีผลทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ซึ่งฉบับของปี2557 ออกมาในลักษณะเดียวกันคือเป็นการเขียนเพื่อป้องกันตัวเองมากขึ้น 

ขณะที่ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กล่าวว่าถ้าคิดถึงประชาธิปไตยและการเปลี่ยนผ่านให้คิดถึงรูปร่างของการเปลี่ยนผ่านและประชาธิปไตยทำให้เกิดความรุนแรงได้หรือไม่  โดยได้ตั้งข้อสังเกตสามข้อเกี่ยวกับความขัดแย้งในช่วงเปลี่ยนผ่าน ได้แก่ ความขัดแย้งว่าด้วยปัญหาการครองอำนาจรัฐ ชาติพันธุ์ ชายแดน ทุกประเทศมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยมีสถานการณ์ที่แย่ลงอีกครั้ง

ข้อค้นพบสำคัญของประเทศจำนวนหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ ประชาธิปไตยไม่แข็งแรงเพราะขาดระบอบการปกครองที่อยู่ตัวและขาดกลไกความมั่นคงด้านกำลังทหาร ตำรวจ ซึ่งการจะปัญหาได้สถานการณ์ทางการเมืองต้องเข้มแข็ง สถานการณ์การใช้ความรุนแรงต้องถูกควบคุม ความขัดแย้งในสังคมไทยเป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ ลดความสามารถในการจัดการปัญหา ต้องกลับไปแก้ไขที่ประชาธิปไตย เหตุที่ประชาธิปไตยสำคัญ เพราะมีอุดมคติสำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่

1.     ทำให้เกิดความอดทนต่อผู้อื่น สามารถใช้ต่อสู้การครอบงำความจริงได้

2.     เห็นความสำคัญของสันติวิธี ทำให้เห็นคู่ต่อสู้ทางการเมืองไม่ใช่ศัตรู การเมืองไม่ใช่การจบเกม แต่คือการเล่นตามกฎกติการูปแบบหนึ่งที่ทำให้ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้มีความหมาย

3.     สามารถทำให้สังคมฟื้นชีวิตได้ เพราะทำงานบนฐานของความเปลี่ยนแปลง

4.     ทำให้เกิดความเห็นว่าคนในสังคมเป็นพี่เป็นน้อง เช่น อุดมการณ์ฝรั่งเศส เสรีภาพ เสมอภาค ภาดรภาพ ซึ่งภาดรภาพเป็นสิ่งสำคัญและเราจะสร้างสังคมการเมืองที่ดีเช่นไร

ประชาธิปไตยที่แท้จริงคือการเคลื่อนไหวของจินตนาการและหาแนวทางร่วมกัน

ด้าน อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ ได้กล่าวถึงการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภา 2557 ว่าเป็นวิกฤตการเลือกตั้งที่รุนแรงมาก กลุ่มชนชั้นกลางคนมีการศึกษาปฏิเสธสถาบันประชาธิปไตยและสังคมไทยในระยะเปลี่ยนผ่านว่า 10 ปีที่ผ่านมาสังคมไทยก้าวเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านแต่เปลี่ยนไม่ผ่าน นักรัฐศาสตร์มักศึกษาแต่การเปลี่ยนผ่านและพัฒนาประชาธิปไตย ค้นหาปัจจัยต่างๆในขณะที่สังคมทั่วโลกการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเส้นตรง บางประเทศอาจมีการเลี้ยววก เหมือนที่คุณฮิวโก้เสนอว่า สังคมเลี้ยวขวาตลอดและวนอยู่ที่เดิม คำถามคือจะเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยอย่างไร แต่หากเราตั้งคำถามบ้างว่าทำไมระบอบเผด็จการถึงอยู่ยืนยง อาจเป็นทางออกให้สังคมไทยในยุคที่เปลี่ยนผ่านก็เป็นได้ ปัญหาของสังคมไทยจุดอ่อนคือไม่มีฐานความรู้ ไม่มีมุมมองเชิงเปรียบเทียบ ไม่มีข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์เช่นการนำระบอบเลือกตั้งของเยอรมันมาใช้ และมักมองสิ่งต่างๆแบบตัดตอน

หลายคนกล่าวว่าเป็นวิกฤตของการเปลี่ยนผ่านอำนาจครั้งใหญ่ แต่สิ่งที่สำคัญคือการเปลี่ยนผ่านระบบความคิดของผู้มีการศึกษาที่มีมายาคติที่แตกต่างกัน ประชาธิปไตยกลายเป็นผู้ร้ายทั้งที่ประชาธิปไตยต่างมีข้อบกพร่อง ในขณะที่ระบบเผด็จการอำนาจนิยมคนมักตั้งคำถามน้อย ถ้าเหล่าผู้มีอำนาจตั้งคำถามตรวจสอบกับระบอบเผด็จการพอๆกับประชาธิปไตย บ้านเมืองคงไม่วนลูปมาจนถึงทุกวันนี้

โดยในหนังสือนำเสนอมุมมองเชิงเปรียบเทียบ ว่าสิ่งที่เกิดในสังคมไทยเคยเกิดในต่างประเทศแล้วเขาแก้ไขปัญหากันอย่างไร สิ่งที่ต้องการคือ ความเป็นประชาธิปไตยที่มากขึ้น ในไทยยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่ประชาธิปไตยมีความยืดหยุ่นในการแก้ไขปัญหาต่างๆมากกว่าระบอบอำนาจนิยม สังคมไทยเหมือนสังคมที่ไม่มีการเรียนรู้ วนเวียนอยู่กับการแก้ไขในระบอบผิดๆคือการกลับมาใช้ระบอบอำนาจนิยม

วาทกรรมเดิมๆคือนักการเมืองไม่สุจริต แต่นำระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยน้อยลงมาใช้แทน ทั้งที่ประชาชนควรมีส่วนร่วมมากขึ้นและตรวจสอบการใช้อำนาจมากขึ้น การจะออกจากวิกฤตของการเมือง การสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และสังคมที่เป็นพลเมืองดังที่อ.บวรศักดิ์กล่าวไว้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการปฏิรูปสถาบันที่ใช้งบประมาณมหาศาล คือกองทัพ

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันสถาปนาประชาธิปไตยภายใต้การควบคุม(Controlled Democracy ) ใช้อำนาจไม่ต่างจากนักการเมืองโดยทั่วไป และไม่ยึดโยงกับการเลือกตั้ง มีองค์กรสองชั้นดูแลควบคุมสิ่งต่างๆ โดยองค์กรใหม่ๆที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมาควบคุมการเลือกตั้งอีกชั้น ไม่เชื่อว่าประชาชนสามารถคุ้มครองตัวเองได้ ใช้เกณฑ์คุณธรรมจริยธรรมในการลดทอนความเป็นประชาธิปไตย ทำให้คนที่เข้ามาจากการเลือกตั้งไม่มีอำนาจอย่างอิสระ อำนาจบริหารและนิติบัญญัติอ่อนแอ เกิดคำถามการขึ้นสู่อำนาจที่ชอบธรรมคืออย่างไร และไม่สามารถสร้างฉันทามติร่วมกันได้

ช่วงท้าย อ.ชัยวัฒน์ ได้กล่าวถึงพลังทางเศรษฐกิจสังคมที่หนุนรัฐธรรมนูญ เช่น คำถามที่ว่าทำไมคนไม่เอาเลือกตั้ง อาจเพราะโครงสร้างภาษี และความลับของการเลือกตั้งเป็นสิ่งสำคัญตรงที่คนที่ชนะแพ้ได้ และคนแพ้ชนะได้ แล้วเสียงส่วนใหญ่ชนะตลอดทำให้กลุ่มคนที่เหลือไม่เห็นความสำคัญของการเลือกตั้ง นำไปสู่กับดับของประชาธิปไตยที่ว่าถ้าฝ่ายไหนฝ่ายหนึ่งชนะตลอดจะยังเป็นประชาธิปไตยอยู่หรือไม่

การเลือกตั้งบางครั้งอยู่ที่ความตื่นเต้น สังคมไทยบางกลุ่มอยากได้รัฐบาลเข้มแข็ง แต่บางกลุ่มอยากได้รัฐบาลที่ควบคุมได้

อ.ปิยบุตรได้ตั้งคำถามต่อว่า ทำไมคนกทม.ไม่หันหลังในการเลือกตั้งผู้ว่ากทม?

แท้จริงแล้วต้องทำให้พวกเขาเปลี่ยนความคิด เพราะการเปลี่ยนผ่านไม่สามารถอาศัยคนกลุ่มเดียว การปฏิเสธคนที่คิดต่างหรือไม่เชื่อในระบบเสรีประชาธิปไตยออกไปไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง สิ่งที่สำคัญคือทำให้คนเชื่อในระบอบการเมืองเดียว แม้จะชอบต่างกัน