Skip to main content

เวลาโดนพวกโซตัสเถียงมาคั่ง ๆ คู ๆ ว่า โดนว้ากแค่นี้ทนไม่ได้ ต่อไปจะทนสภาพการทำงานได้ยังไง

ถ้าคิดว่าการทำงานไม่เหมือนกับการว้ากตั้งแต่แรก คือ เห็นว่าเจ้านายไม่มีทางสั่งให้วิดพื้นไปตั้งแต่แรกอยู่แล้ว มันก็พาเราไปสู่ข้อเสนอทางอุดมการณ์และทางปฏิบัติรูปแบบนึง

แต่ถ้ามันไม่เป็นอย่างนั้นหละ ? ถ้าคนต้องทรมานกับการทำงานจริง ประสบกับความกดดันจริงไม่ต่างจากการว้ากหละ ?

ถ้าตั้งสมมติฐานอย่างวิพากษ์ให้สุด ๆ ไปเลยว่าการขูดรีดของทุนนิยมที่เห็นได้จากสภาพการทำงานเป็นปัญหาไม่ต่างจากการว้าก และขณะเดียวกัน ถ้าอ้างว่าสองอย่างนี้มีลักษณะเชิงคุณภาพไม่แตกต่างกัน คือ การผลิตซ้ำความไม่เป็นประชาธิปไตย ผมก็ว่ามันอาจจะเถียงได้นะว่าข้ออ้างของพวกต่อต้านทุกวันนี้ยังวิพากษ์ไม่มากพอ และบั่นทอนการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและการเมืองไม่ให้ดีไปกว่านี้ได้เนื่องจากไม่ยอมรับปัญหากันอย่างตรงไปตรงมา

ลองพิจารณาดูว่าทุกวันนี้ มหาวิทยาลัยที่สอนให้เราเชื่อฟัง และไม่รู้จักคิด ทั้งด้วยการว้าก และอะไรก็ตามแต่ มันมีจุดประสงค์เพื่ออะไร ? ก็น่าจะเป็นไปเพื่อต้อนแรงงานเชื่อง ๆ เข้าสู่ตลาด และสภาพการขูดรีด ซึ่งมีความลดหลั่นสูงมิใช่หรือ ยังไม่รวมว่าทุกวันนี้สถานะของแต่ละมหาวิทยาลัยก็หมายถึงการแบ่งแยกแรงงานในเชิงคุณภาพ (qualitative division of labor) อยู่ในระดับหนึ่งแล้ว คนที่จบสูงกว่ามีภาพลักษณ์ดีกว่าได้งานทำดีกว่า หมายความว่า สภาพการแข่งขันในระบบการศึกษามันไม่มีความเป็นธรรม คู่ขนานและส่งเสริมสภาพความไม่เป็นธรรมในระบอบทุนนิยมด้วย

ดังนั้นแล้ว การบอกว่า "ถ้าโดนว้ากแค่นี้ยังทนไม่ได้ ต่อไปจะไปทนทำงานอะไรได้" มันเลยฟังดูสมเหตุสมผลมากนะ ถ้ามองว่าระบบการศึกษาที่ลดหลั่นทุกวันนี้ มีหน้าที่คือป้อนคนเชื่อง ๆ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบลดหลั่นและขาดความสร้างสรรค์ เพราะแบบนี้ เลยไม่แปลกที่บริษัทบางเจ้าจะเห็นว่านักศึกษาที่ดู "ไม่เชื่อง" เป็นปัญหาและไม่ควรรับเข้า เพราะเด็กพวกนี้ไปบั่นทอนโครงสร้างบรรษัท ที่ Noam Chomsky เสนอว่าโคตรจะเป็นเผด็จการอำนาจนิยม

ผมเลยมาลองคิดดูแล้ว ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่รุ่นพี่กะเหลกเขกขากเท่านั้นแล้ว แต่เป็นปัญหาที่รวมถึงมิติเศรษฐกิจ การเมือง และความสัมพันธ์ทางสังคม และดังนั้น การบอกว่าการว้ากเป็นคนละเรื่องกับการใช้ชีวิตทางเศรษฐกิจจึงเป็นปัญหา และผลิตซ้ำอุดมการณ์ขูดรีด ให้การทำงานในระบอบทุนนิยมมีภาพลักษณ์เชิงบวกด้วย

ตัวอย่างที่ชัดเจนมาก คือ มุขตลกที่พี่ว้ากต้องหางานทำและระหกระเหินไปสัมภาษณ์งานที่มีคนเคยถูกว้ากเป็นผู้รับสมัคร ข้อความเชิงอุดมการณ์ที่มันกำลังสื่อคือสภาพการแข่งขันในระบอบทุนนิยมเปิดโอกาสให้ทุกคน "ปีนเกลียว" กันได้ แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงเหรอ มีกรณีเชิงประจักษ์ที่รุ่นน้องสามารถปีนเกลียวเหนือรุ่นพี่ในตลาดแรงงานได้จริงไหม มีกี่กรณี นับเป็นอัตราส่วนเท่าไหร่ ? การคาดหวังข้อเท็จจริงอย่างลม ๆ แล้ง ๆ กับมุขตลกแบบนี้น่าจะชวนให้เราฉุกคิดด้วยว่าคนที่มีวัยวุฒิ สถานะทางสังคมดีกว่า ไม่รวมด้วยว่าอาจเป็นคนที่ได้ประโยชน์จากการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ไม่ได้ก่อให้เกิดสภาวะ "ปีนเกลียว" แบบนั้นได้เลย

ที่พูดมาผมก็ไม่ได้สนับสนุนการว้ากอยู่แล้วแน่ ๆ แต่อยากให้ลองคิดกันอย่างจริงจังว่า ถ้าการว้ากมีหน้าที่รับใช้สภาพความเป็นจริงของระบอบทุนนิยมแล้ว หมายความว่าเราก็ควรคิดถึงทางเลือกอื่น ๆ นอกจากทุนนิยม หรืออย่างน้อย ก็ควรมาคิดกันอย่างจริงจังว่า เราจะจัดการกับอำนาจทุนได้อย่างไร ในแง่นี้ผมกำลังเสนอว่าพื้นที่การศึกษาที่เรากำลังต่อสู้กับโซตัสอยู่ มันมีอะไรมากกว่าการต่อสู้กับจารีตงี่เง่าของรุ่นพี่ แต่หมายถึงการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีและเป็นธรรมยิ่งขึ้นโดยองค์รวมด้วย ถ้าสภาพความเป็นจริงของการทำงานในระบอบทุนนิยมเป็นฐานอุดมการณ์ของโซตัส ต่อให้มีกฏหมายคุ้มครองแรงงาน สิ่งที่เราต้องทำคือการต่อสู้เพื่อพัฒนาสภาพความเป็นจริงของการทำงานให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น มีการกระจายรายได้ที่ดียิ่งขึ้นด้วยทั้งในเชิงกฏหมายและเชิงปทัสถาน พร้อม ๆ กับการต่อสู้กับพวกโซตัส

เราต้องรับศึกทั้งสองด้าน กล่าวคือ ต้องทั้งไม่ยอมรับทั้งสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ และไม่ยอมรับการกระทำย่ำยีของโซตัส ถ้ามองแบบนี้ เราจะเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่สหภาพแรงงานควรจะคุยกับกลุ่มนักศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาโดยองค์รวมไปพร้อมกันในระดับยุทธศาสตร์

 

ข้อเขียนนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊กส่วนตัวของ 'Thammachat Kri-aksorn' เมื่อวันที่ 21 เม.ย.58