Skip to main content

เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างแนวปฏิบัติในการจัดโครงสร้างเวลาเรียนระดับประถมศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เป็นการปรับโครงสร้างเวลาเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และรายวิชา/กิจกรรมเพิ่มเติม และเกณฑ์การจบหลักสูตร เพื่อให้สถานศึกษานำไปปรับใช้ให้เกิดความยืดหยุ่นในการจัดการเรียนการสอน

สำหรับโครงสร้างเวลาเรียนตามหลักสูตรแกนกลางกรศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ได้กำหนดกรอบโครงสร้างเวลาเรียนรวมสำหรับระดับประถมศึกษา ไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปี ดังนี้ รายวิชาพื้นฐาน 840 ชั่วโมงต่อ ปี แบ่งเป็น ภาษาไทย ป.1-3 จำนวน 200 ชั่วโมงต่อปี ป.4-6 จำนวน 160 ชั่วโมงต่อปี คณิตศาสตร์ ป.1-3 จำนวน 200 ชั่วโมงต่อปี ป.4-6 จำนวน 160 ชั่วโมงต่อปี วิทยาศาสตร์ ป.1-6 จำนวน 80 ชั่วโมงต่อปี

สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.1-6 จำนวน 120 ต่อปี สุขศึกษาและพลศึกษา ป.1-6 จำนวน 80 ชั่วโมงต่อปี ศิลปะ ป.1-6 จำนวน 80 ชั่วโมงต่อปี การงานอาชีพและเทคโนโลยี ป.1-3 จำนวน 40 ชั่วโมงต่อปี ป.4-6 จำนวน 80 ชั่วโมงต่อปี และภาษาต่างประเทศ(ภาษาอังกฤษ) ป.1-3 จำนวน 40 ชั่วโมงต่อปี ป.4-6 จำนวน 80 ชั่วโมงต่อปี กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 120 ชั่วโมงต่อปี รายวิชา/กิจกรรมเพิ่มเติม ไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อปี

“กรอบเวลาที่กำหนดไว้ในโครงสร้างเวลาเรียน เป็นตัวเลขที่นักเรียนสามารถเรียนและบรรลุการเรียนรู้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ แต่ต่อไปหากสถานศึกษาใดมีความจำเป็น ต้องการปรับลด หรือเพิ่มเวลาเรียนในวิชาพื้นฐานแต่ละกลุ่มสาระฯ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ก็สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสม โดยมีเงื่อนไขว่าผู้เรียนจะต้องมีคุณภาพตามมาตรฐานหรือตัวชี้วัดที่แต่ละกลุ่มสาระกำหนด"

นอกจากนั้นยังสามารถบูรณาการหลักสูตรการเรียนรู้ ในแต่ละกลุ่มสาระฯ ที่สอดคล้องกันมาจัดการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหา ลดภาระงานและเวลาเรียนของผู้เรียนและจากนี้สพฐ.จะไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมและรายงานให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้รับทราบ ก่อนประกาศเป็นแนวปฏิบัติฯ ภายในปีการศึกษา 2558 นี้

ที่มา : มติชนออนไลน์