Skip to main content

เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ "สานพลังเรียนรู้ ครูนักปฏิบัติ : คืนความสุขสู่ผู้เรียน" จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา (IRES)

 

จุดเน้นการปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับห้องเรียน ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน

โดย พล.ร.อ.ณรงค์ ในฐานะ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานกล่าว เปิดการประชุมวิชาการในครั้งนี้ ว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้ มีเป้าหมายสอดคล้องและตรงกับการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นประโยชน์อย่างมากในการสร้างเครือข่ายและส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา รวมทั้งข้อสรุปจากการประชุมที่จะเป็นข้อเสนอที่สำคัญเพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียนอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับหัวข้อการอภิปรายมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก กล่าวคือ การปฏิรูปที่ห้องเรียน ตัวครู ระบบการจัดการศึกษาในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะเป็นการเปิดโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การเรียนการสอนแบบต่างๆ เพื่อจะได้นำไปขยายผลและใช้ประโยชน์ต่อไป

ที่ผ่านมา หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบเกี่ยวกับการดำเนินงานปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากการปฏิรูปในครั้งนี้ เป็นการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ในห้องเรียน ในโรงเรียน และในพื้นที่ต่างๆ เป็นการทำงานโดยที่ไม่มีการปรับโครงสร้างแต่อย่างใด เพราะการปฏิรูปที่ผ่านมาส่วนใหญ่เน้นปรับโครงสร้างทำให้มีขนาดใหญ่ อุ้ยอ้าย และกลไกไม่เอื้ออำนวยให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

แต่ปัจจุบัน จุดเน้นของการปฏิรูปการศึกษาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับห้องเรียน มีการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนที่จะส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยตรง ขณะนี้เริ่มดำเนินการจากจุดเล็กๆ เช่น การประชุมวิชาการในครั้งนี้ที่จะมีการอภิปรายในหัวข้อต่างๆ ก็เปรียบเสมือนกับการปฏิรูปจากห้องเรียนเล็กๆ ในแต่ละพื้นที่ เริ่มจากภาคปฏิบัติระดับล่าง ไม่ได้เริ่มจากด้านบนลงไป

 

ย้ำให้เห็นความสำคัญต่อแนวทางการผลิตและพัฒนาครูด้วยวิธีการที่หลากหลาย

พล.ร.อ.ณรงค์ ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการผลิตและพัฒนาครูที่มีคุณภาพ โดยจะนำโครงการคุรุทายาทกลับมาใช้ในปีการศึกษา 2558 พร้อมทั้งเรียนรู้ปัญหาอุปสรรคในอดีตก่อนที่จะเริ่มดำเนินการโครงการนี้ต่อไป

ในส่วนของการพัฒนาครู ได้ดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้สู่รู้เรียน พัฒนาครูผ่านระบบสารสนเทศ ปรับระบบการพัฒนาครูจาก Hotel Based ให้เป็นการพัฒนาครูที่โรงเรียนด้วยวิธี Coaching ให้ความรู้แก่ศึกษานิเทศก์ และมีการจัด Coaching Team เพื่อเข้าไปช่วยครูในโรงเรียน

ขณะเดียวกัน มีการปรับหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะ โดยเน้นให้ครูพัฒนาตนเองและผลงานของลูกศิษย์ในห้องเรียน เพื่อกระตุ้นให้ครูสนใจการเรียนการสอนและดูแลนักเรียนในห้องเรียนมากขึ้น ซึ่งจะพัฒนาควบคู่ไปกับการปฏิรูปการเรียนรู้ หลักสูตร และปรับปรุงระบบการทดสอบทางการศึกษาที่จะลดจำนวนกลุ่มสาระวิชาในการสอบ O-Net จาก 8 วิชา ให้เหลือเพียง 5 กลุ่มสาระวิชาหลัก เพื่อลดความเครียดและความกดดันของเด็ก ส่วนอีก 3 กลุ่มสาระวิชาให้โรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาจัดสอบตามบริบทพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าเด็กและครูจะได้ประโยชน์มากขึ้น

 

ยกตัวอย่างวิธีการการสอนแบบ "พี่สอนน้อง"

พล.ร.อ.ณรงค์  กล่าวด้วยว่าในความเป็นจริง ครูแต่ละคนมีขีดความสามารถในการสอนไม่เหมือนกันและมีเทคนิคต่างกัน ดังนั้นเพื่อให้การถ่ายทอดของครูสร้างความรู้ความเข้าใจแก่นักเรียนได้เป็นอย่างดี จึงจำเป็นต้องพัฒนาครูให้มีความรู้ความสามารถและเทคนิคในการจัดการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น

ขอยกตัวอย่างวิธีการเรียนการสอนแบบ "พี่สอนน้อง" ซึ่งนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอว่าเป็นวิธีการที่น่าสนใจ เพราะได้ประโยชน์ทั้งนักเรียน รุ่นพี่ที่มาช่วยสอน และครู  เรียกได้ว่า “Win Win Win” ทั้งสามฝ่าย เพราะเมื่อให้รุ่นพี่ชั้นโตกว่าไปสอนน้อง น้องก็จะไม่เกร็ง และมีความตื่นเต้นสนใจเรียน ทำให้กล้าพูดกล้าถาม ในส่วนรุ่นพี่เองก็ต้องเตรียมตัวศึกษาค้นคว้ามากกว่าบทเรียน เพื่อที่จะตอบข้อซักถามของน้องทั้งในและนอกเหนือจากบทเรียน ทำให้รุ่นพี่ได้ประโยชน์จากการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ส่วนครูที่ควบคุมการสอน ก็จะได้ประโยชน์ในการพัฒนาปรับปรุงเทคนิควิธีการสอน ในกรณีที่นักเรียนรุ่นพี่มีเทคนิควิธีการสอนที่ดีกว่า สิ่งสำคัญคือ นักเรียนรุ่นพี่ที่สอน หากทำได้ดีจะมีความภูมิใจและมีแรงบันดาลใจที่จะเป็นครูในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าคนเหล่านี้จะเป็นครูที่ดีและมีประสิทธิภาพ

 

ปรับปรุงกฎหมาย วางระบบบริหารจัดการไปพร้อมกัน

นอกจากการปฏิรูปการศึกษาจากจุดเล็กๆ ข้างต้นแล้ว จะมีการปรับปรุงระบบกฎหมายการศึกษา พัฒนาระบบงบประมาณและทรัพยากรเพื่อการศึกษาให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการจัดระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการและการติดตามประเมินผลให้มีความทันสมัยและเอื้อต่อการจัดการศึกษาในรูปแบบการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต และเสนอกฎหมายเพื่อจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนด้วย

 

บูรณาการเรียนการสอนในโรงเรียน และความเป็นผู้นำของผู้บริหาร

จากที่ได้ไปตรวจเยี่ยมสถานศึกษาหลายแห่ง พบว่าในสถานศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนที่ดี จะใช้วิธีสอนแบบบูรณาการ โดยกำหนดหัวข้อปัญหา เพื่อให้นักเรียนช่วยคิดช่วยแก้ปัญหานั้น พร้อมทั้งนำละครหรือประวัติศาสตร์บางตอนมาวิเคราะห์ สอดแทรกวิชาต่างๆ เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ทำให้เด็กได้รับความรู้ทุกด้าน ถือเป็นการเรียนการสอนที่ดี ที่จะต้องอาศัยครูที่มีประสิทธิภาพและมีความทุ่มเทเป็นอย่างมากในการยกปัญหา วิเคราะห์ และชี้นำให้เด็กได้คิดได้ทำ

 

แนะให้ผู้บริหารกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง และคิดนอกกรอบ

พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียง ส่วนใหญ่จะมีผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีความเป็นผู้นำสูง กล้าคิด กล้าตัดสินใจ กล้าทำในสิ่งที่เกิดประโยชน์ และอยู่นอกเหนือจากตำราเรียน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่กระทรวงศึกษาธิการต้องการเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารระดับใด ตั้งแต่รองผู้อำนวยการผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียน ครูทุกคน ตลอดจนถึงผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษาในทุกเขตทุกพื้นที่ของประเทศ หากทุกคนมีความเป็นผู้นำ กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงโดยไม่ขัดต่อกฎระเบียบ ใช้วิธีคิดแบบนอกกรอบโดยยึดเป้าหมายและผลประโยชน์เป็นหลัก เชื่อว่าผลการศึกษาของห้องเรียน โรงเรียน และเขตพื้นที่การศึกษาจะก้าวหน้าไปมาก

 

เรียบเรียงจาก ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี