Skip to main content

รายงานเสวนา ‘ความอับจนของวรรณกรรมไทย’  สุชาติ ชี้อับจนเพราะนักเขียนไทย ไม่มีจุดยืน ไม่มีหลักการ สุธาชัย ระบุไม่พบบาทบาทวรรณกรรมไทยบอกเล่าความไม่เป็นธรรมหลังรัฐประหาร ขณะที่อาชญาสิทธิ์ มองวรรณกรรมยุคใหม่บันทึกความไร้สมรรถภาพทางสังคม

เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา เวลา 16:30 น.  ชมรมวรรณศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  จัดกิจกรรม "วรรณศิลป์เสวนา" ในหัวข้อ "ความอับจนของวรรณกรรมไทย : พัฒนาการ เพื่อชีวิต แนวทดลอง"   ณ ห้อง 107 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยมี สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2554  สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ นักเขียนรุ่นใหม่ เป็นวิทยากร ร่วมแลกเปลี่ยนและเปิดมุมมองของวรรณกรรมไทยในแง่มุมต่างๆ ทั้งในแง่พัฒนาการทางวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ งานเขียนแนวเพื่อชีวิต งานเขียนแนวทดลอง ร่วมวิเคราะห์ถึงสาเหตุความอับจนของวรรณกรรมไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน 

สุชาติ ชี้อับจนเพราะนักเขียนไทย ไม่มีจุดยืน ไม่มีหลักการ

สุชาติ กล่าวในฐานะคนทำงานด้านหนังสือมามากกว่า 50 ปี ซึ่งไม่ว่าเวลาจะผ่านมานานเท่าใดก็ตาม ก็มักมีตัวตายตัวแทนเกิดขึ้นมาตลอด  ความอับจนวรรณกรรมไทยในมุมมองที่สุชาติเห็น คือ การที่นักเขียนไทยที่ไม่ค่อยจริงจังกับความคิดของตัวเอง ไม่มีจุดยืน ไม่มีหลักการ งานเขียนที่แสดงออกมาจึงตามสังคมไม่ทัน ถือว่าเป็นความผิดปกติจากโครงสร้างทางสังคมของวรรณกรรมเอง นักเขียนเป็นผู้ทำงานศิลปะที่ควรจะก้าวหน้าไปก่อนสังคมอย่างน้อยหนึ่งก้าว  หากแต่นักเขียนบ้านเรา(ในมุมมองเชิงปัจเจก)  มักอยู่บนหอคอยมีลักษณะว่างเปล่า เป็นผู้ตามมากกว่าและ   ไม่ได้สนใจทั้งแนวเพื่อชีวิต โดยเฉพาะวรรณกรรมแนวทดลองก็ต้องเรียกร้องที่จะนำเสนอ   ซึ่งมองย้อนกลับไปวรรณกรรมไทยนับจากยุคที่มีแท่นพิมพ์ ก็เมื่อประมาณ 140 ปีที่ผ่านมา (หมอบรัดเลย์)  สิ่งที่ปรากฎออกมาทั้งจากสื่อสิ่งพิมพ์ ตั้งแต่ยุคบางกอกรีคอร์เดอร์ ไล่มาจนถึงถึง หนังสือดรุโนวาท ในปี 2417 นับว่าเป็นงานเขียนที่มีลักษณะร้อยแก้วแนวใหม่ (post- narrative) ซึ่งในสมัยนั้นไม่มีคำว่า “นิตยสาร” 

เรื่องสั้นยุคแรกๆ   คือ นายจิตนายใจ สนทนากันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการคอรัปชั่น  ขุนนางคอรัปชั่น  พระธุศีล  ท้องเรื่องไม่ปรากฏผู้แต่ง  แต่คาดการณ์ว่าน่าจะเป็นผลงานของเจ้าพระยาภาสกรวงค์ กลุ่มสยามใหม่   ที่เป็นกลุ่มที่เฝ้ามองดูประเทศก้าวไปข้างหน้า  กับอีกเรื่องคือ ชายหาปลาทั้งสี่ซึ่งอ่านแล้วมองว่าเป็นวรรณกรรมแนวทดลอง   ที่เล่าเรื่องตัวละครสี่คน แต่มีการนำเสนอที่มี่ความสมจริง เนื่องจากนำเสนอว่าหูกาง  ขี้มูกมาก  ก้นแหลม  มีสามมือ   ทั้งสี่ออกเรือลำเดียวกันไปหาปลาและ ทุกคนต่างก็แสดงความเป็นฮีโร่ของตัวเองลักษณะนี่น่าจะเกิดขึ้นต่อมา เพราะเป็นแนวทดลองเรื่องสั้น สัจนิยมมหัศจรรย์  magical realism เพื่อชีวิต และทดลองหนังสือพวกนี้พัฒนาการมาเป็นหนังสือ วชิรญาณวิเศษ   ทั้งสองเรื่อง ยกให้มีความพิเศษ เพราะ นายจิตนายใจมีทั้งมุมเพื่อชีวิต และแง่ทดลอง    เป็นวรรณกรรมแบบ critical realism  ในภาพรวมกว้างๆที่เป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิต  แนวนี้น่าจะพัฒนาการมาเป็นวรรณกรรมแนวทดลองแต่ทำไมไม่เกิดกับวรรณกรรมไทยในยุคต่อมา “สัจนิยมมหัศจรรย์”    มันก็มีจุดตั้งต้นในไทยเช่นเดียวกัน ไม่ใช่มีจุดตั้งต้นมาจากละตินอเมริกาเสมอไป    เราจะเห็นการนำเสนอความมหัศจรรย์นี้เป็นลักษณะทางกายภาพ   เหล่านี้เป็นความอ่อนแอของวรรณกรรมไทยที่อ่อนลงเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับเศรษฐกิจการเมือง ของสังคมไทย ไม่ไปข้างหน้า เพราะเริ่มนับหนึ่ง   เรามีนักเขียนก้าวหน้ามาตั้งแต่ยุค รัชกาลที่ 5 หรือหลัง2475    แต่ทำไมมันถึงไม่เติบโต    นักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ คือคนเดียวกัน  การแยกตัวแบ่งงานกันทำน่าจะเริ่มในยุคสฤษดิ์ ด้วยสภาพของสังคมที่มีความซับซ้อน หลากหลาย ทั้งเจ้าของโรงพิมพ์ สำนักพิมพ์ บรรณาธิการ   แล้วต่อว่าเจ้าของมีอุดมคติขนาดไหน   นี่คือความผกผันที่เกิดขึ้นในวงวรรณกรรมไทย การเข้ามาของวรรณกรรมเพื่อชีวิต มีที่มาอย่างไร  วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิต เหมือนเริ่มนับหนึ่งใหม่ตลอด    “มันสะท้อนให้เห็นความอับจนของวรรณกรรมยุคสมัยใหม่ปัจจุบัน”  

ก่อนนั้นเรามีนักเขียนเชิงสังคม ที่เสนอเพื่อสังคม  ความอับจนเกิดจากปัจเจกข้างนอกทำให้เกิดข้อต่อที่หายไป  สำหรับผม การรัฐประหารคือการทำข้อต่อทางวรรณกรรมให้หายไป    และความอับจนของวรรณกรรมไทย คือความอับจนของนักเขียนไทย

 

สุธาชัย : ไม่พบบาทบาทวรรณกรรมไทยบอกเล่าความไม่เป็นธรรมหลังรัฐประหาร

สุธาชัย พูดถึงเรื่องวรรณกรรมเพื่อชีวิต และเสนอแง่มุมความอับจนของวรรณกรรมไทย ด้วยการตั้งคำถามว่า 8 ปีที่ผ่านมาบ้านเมืองเราเกิดภาวะการณ์ที่ไม่ปกติ  ซึ่ง เห็นได้ชัดหลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557    ระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ณ ปัจจุบันได้ทำให้คนมีประสบการณ์ตรงและสิทธิของประชาชนก็ถูกละเมิด ในภาวะแบบนี้มีคำถามเคยสังเกตไหมว่าวรรณกรรมไทยเข้าไปมีบทบาทเป็นส่วนช่วยมากแค่ไหนวรรณกรรมไทยมีบทบาทที่จะเข้าไปเรียกร้องประชาธิปไตยหรือเรียกร้องสิทธิ์ที่จะบอกเล่าความไม่เป็นธรรมเหล่านี้หรือไม่ ซึ่งพบว่าไม่มีเลย

ตั้งแต่ปี พ.ศ 2549 จนถึงปัจจุบัน    วรรณกรรมไทยถูกทำให้ไม่ต้องเชื่อมกับการเมือง แต่กลับไปผูกติดกับทีวีที่ทำรายได้เข้ากระเป๋าคนมากกว่า   ปรากฏการณ์แบบนี้จะโยงเข้ามาหาเรื่องของวรรณกรรมเพื่อชีวิต   ซึ่งเมื่อก่อนมันตอบโจทย์สังคมมากกว่าทุกวันนี้

วรรณกรรมเพื่อชีวิต มีขึ้นหลังการรัฐประหาร  พ.ศ 2490  ซึ่ง ได้เกิดกลุ่มนักเขียนที่ไม่พอใจและนำเสนอเชื่อมเข้ากับสังคมนิยมและต่อมานักเขียนกุหลาบ อัศนี พลจันทร์ จิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ  ก็มีการเขียนวรรณกรรมบนความคาดหวังว่าการกดขี่ขูดรีดต้องหมดไปโดยมีลักษณะเหล่านี้ กล่าวคือ

1. วรรณกรรมเพื่อชีวิตต้องเป็นของผู้ทุกข์ยากผู้ทุกทนคนในระดับล่าง  เสนอให้เห็นความทุกยาก เป็นเครื่องมือในการวิพากษ์สังคมเก่าเพื่อที่จะชีให้เห็นความไม่เป็นธรรม

2. เพื่อชีวิต เน้นเนื้อหามากกว่ารูปแบบโดยเนื้อหาต้องเขียนให้ง่าย เข้าใจง่าย คนเข้าถึงเข้าใจได้  ซึ่งถ้าเนื้อการไม่เอาไหน วรรณกรรมอาจคือยาพิษ      ต้องเสนอศิลปะให้เข้าใจเข้าถึงให้ได้  กระแสแบบนี้นำไปสู่การวิพากษ์วรรณกรรมศักดินาแบบเก่า   หรือวรรณกรรมแบบทุนนิยมที่มีแต่เรื่องรักๆใคร่ๆ   ช่วง2490 เป็นยุคทองของวรรณกรรมเพื่อชีวิต      การขึ้นมีอำนาจยุคสฤษดิ์ทำให้วรรณกรรมเพื่อชีวิตซบเซาแต่กลับเป็นยุคทองของวรรณกรรมน้ำเน่า ต่างๆ   ยุคนั้นคือการเปลี่ยนโครงสร้างของนักเขียนและมักมีแต่นักเขียนชาย  การเกิดขึ้นของกฤษณา อโศกสิน  ทมยันตีก็เติบโตจากวรรณกรรมยุคนี้  ผ่านนิยายเป็นตอนๆ         ลำพังอาชีพเขียนหนังสือมันเลี้ยงชีพไม่ได้  แต่ด้านหนึ่งมันสามารถสร้างนักเขียนอาชีพได้

ยุคราว 2510 ช่วงของยุคสมัย “ฉันจึงมาหาความหมาย”   เริ่มมีการตั้งคำถามกับนักเขียนแนวดังกล่าว  นับเป็นกระแสของการกลับมาของวรรณกรรมเพื่อชีวิต และสั่งสมไปเป็นยุค 14ตุลา   วรรณกรรมเพื่อชีวิตในยุคสมัยนี้รวมไปถึงวรรณกรรมแปลด้วย   ช่วงสามปี14- 16  คือยุคทองวรรณกรรมที่เอางานยุคเก่าก่อนหน้านั้น มาทำการวิพากษ์   และมีการผลิตบทกวีเพื่อชีวิต สะท้อนชีวิตของคนในสังคมสมัยนั้นมาก เป็นวรรณกรรมปฏิวัติ ที่เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงปฏิวัติสังคมการเกิดขึ้นทางวรรณกรรมที่มีความแตกต่างหลากหลายจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมดา   หากแต่ชนชั้นนำไทยจัดการปัญหาโดยการฆ่า และการรัฐประหารกวาดล้างประชาชน โดยเฉพาะปี2519   มีวาระว่าด้วยกวาดล้างประชาชน นักศึกษา กรรมกร

ในช่วง2523-2524  เกิดการวิพากษ์กระแสวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่ฉายภาพซ้ำๆ โครงเรื่องแนวเดิม เกิดความซ้ำซากทางวรรณกรรม เกิดเป็นวรรณกรรมน้ำนิ่ง   วรรณกรรมเพื่อชีวิตจึงเข้าสู่ยุคเสื่อม เพราะกระแสการต่อสู่ที่เปลี่ยนไป  สังคมที่ประนีประนอมมากขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญให้วรรณกรรมเพื่อชีวิตเสื่อมลงแต่ไม่ได้หายไปเลยเพราะมีนักเขียนรุ่นใหม่ขึ้นมาเขียนในเชิงวรรณกรรมสะท้อนสังคม  เช่นงานเขียนเรื่องคำพิพากษา ของชาติ กอบจิตติ   ซึ่งวรรณกรรมพวกนี้ไม่ได้เข้าสู่ขนบทางวรรณกรรมแบบเดิม     แม้กระทั่งงานของทมยันติ ในยุคหลัง 6 ตุลา หรือในงานของหลายๆคนก็มีกลิ่นไอด้านสตรีนิยมเพิ่มขึ้นมา   ในสังคมไทยเกิดการขยายตัวของจารีตนิยมครอบงำสังคมไทยชัดเจน มากขึ้น ยิ่งขบวนการของฝ่ายการก้าวหน้าเสื่อมลง สังคมไทยถอยหลังเข้าสู่กระแสอนุรักษ์นิยมมากขึ้น   ภายใต้กรอบชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ไม่ได้มีการเสนอวรรณกรรมที่ท้าทายสังคม  เสนอสิ่งที่อยู่ในกรอบ     สุธาชัย ยกตัวอย่างที่อาจสุดขั้ว เช่นงานเขียนของวสิษฐ เดชกุญชร ซึ่งไม่ได้มีแนวการเขียนแบบโรแมนติก หากแต่เสนอความจริงจัง ด้วยอุดมการณ์เพียงชุดเดียว  นั่นคือ เสนอการวิจารณ์ที่สามารถแก้ในระบบโดยยึดมั่นในความดีงาม ความเป็นไทย ความเป็นหนึ่งเดียว   ซึ่งเหล่านี้จะทำให้ชาติบ้านเมืองอยู่รอดปลอดภัย      งานของวสิษฐ  มียอดพิมพ์และมีคนอ่านงานอย่างกว้างขวาง   ซึ่งเป็นตัวอย่างแนวการเสนอที่ปรากฏในวรรณกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะวรรณกรรมประวัติศาสตร์ของ ว วนิจฉัยกุล    รวมไปถึงนิยายทางการเมืองที่ได้รางวัลซีไรต์ เรื่องประชาธิปไตยในเส้นขนาน ของวิน เลียววารินทร์  ซึ่งมีแนวคิดแบบเก่าปรากฏในวรรณกรรมแทบทั้งหมด โดยนักเขียนเหล่านี้สุธาชัยมองว่านักเขียนเหล่านี้เขียนไม่รู้ตัวที่กลับเข้ามาอยู่ในกรอบ

อาชญาสิทธิ์ : วรรณกรรมยุคใหม่บันทึกความไร้สมรรถภาพทางสังคม

อาชญาสิทธิ์ มองเห็นความอับจนของวรรณกรรมยุคใหม่ที่มองเห็นวรรณกรรมนั้นบันทึกความไร้สมรรถภาพทางสังคม เป็นวรรณกรรมที่สิ้นหวังวรรณกรรมทดลอง ทุกคนต้องมองจากวรรณกรรมวิน เลียววารินทร์   มีความโดดเด่นขึ้นมาในวรรณกรรมแนวทดลอง    แต่วรรณกรรมแนวนี้มีมานานแล้ว คนที่สนใจคือ ครูเหลี่ยม   ที่มีนักเรียนนอกกลับมา กล่าวคือ กลุ่ม นมส    ได้นำเอาแนวการเขียนวรรณกรรมแนวร้อยแก้วแนวใหม่มาใช้ในสังคมไทย   อีกงานหนึ่งของพระยาประภากรวงค์ ที่มีการใช้คำพูดแปลกใหม่ในงานวรรณกรรม  และมีงานของครูเหลี่ยมได้ออกงานมาชื่อว่า ถลกวิทยา มาล้อกับ ลักวิทยา  ซึ่งถือว่าเป็นการเขียนงานแนวทดลองแบบหนึ่ง เหล่านี้คือการที่ครูเหลี่ยมทดลองเอาเรื่องเพศมาพูดอย่างโจ่งแจ้งในงานเขียนของตนและยังมีใครหลายคนที่พยายามเขียนเรื่องที่จะเขียนงานแหวกแนวไปจากยุคสมัยของตน  เหล่านี้ล้วนเป็นวรรณกรรมทดลองที่เล่าเรื่องแนวใหม่

อาชญาสิทธิ์มองว่า การเร่งผลิตงานวรรณกรรมเพื่อชีวิต ขาดสีสันในทางวรรณศิลป์ วรรณกรรมทดลองร้อยแก้วแบบใหม่ มีการเอาความเป็นฝรั่งเข้ามา แต่ก็มีการพยายามใช้ความเป็นไทยในการหักล้างแนวคิดฝรั่ง  ล่าสุดมีการค้นพบว่ามีนักเขียนหนังสือแนวโป๊ ที่ใช้คำตรงไปตรงมา แหกออกจากกรอบ

ขนบวิกตอเรียน ซึ่งไม่กล้าพูดเรื่องเพศโจ่งแจ้งโดยขนบของสังคม เป็นการพยายามทดลอง ถ้าอย่างนั้น เป็นการเล่าเรื่องโดยใช้สำนวนสวิง เรียกว่าเป็นนักเขียนในแนวทดลองเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ ในขณะที่ตัวเองเขียนเล่าเรื่องแนวเดียวกัน หรือแม้กระทั่งในช่วงที่มีงานหลายชิ้นที่พยายามนำเสนอแนวใหม่ 

วรรณกรรมแนวทดลองมีบทบาทในก่อนหน้านั้นเป็นกระแสของวรรณกรรมเพื่อชีวิต มีการเร่งผลิตเร่งปั่นจนเกินไป จนขาดอารมณ์เชิงวรรณศิลป์ แต่ก็เงียบไปหลัง 6 ตุลา การฟื้นมาใหม่กลายป็นวรรณกรรมบาดแผล ซ้ำซากและวนไปวนมา   จะทำไงดีที่จะไม่เล่าเรื่องแนวเดิมๆ ไม่ใช่เพื่อสังคม วรรณกรรมสร้างสรรค์ ความพยายามหาทางให้พ้นจากวรรณกรรมเพื่อชีวิต 

ในทศวรรษ2520  การเกิดขึ้นของซีไรต์ เกิดคำว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์ซึ่งมองว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์เหล่านั้นมีกลิ่นอายเพื่อชีวิต  ตัวอย่างเรื่องคำพิพากษา เรื่องราวของฟักและสมทรง ก็พยายามที่จะหนีจากความเป็นเพื่อชีวิต  แต่นั้นก็ไม่ได้มีการปรากฏตัวของวรรณกรรมของวิน เลียววารินทร์เลย   โดยคอลัมน์ช่อการะเกดก็เป็นการปรากฏตัวของวรรณกรรมแนวทดลอง การพยายามเล่าเรื่องที่ฉีกกรอบออกไป เช่น การใช้สัจนิยมมหัศจรรย์

หลังทศวรรษ2530 ผู้คนใช้ชีวิตแนวปัจเจกมากขึ้น  สังคมไม่ได้เอื้อให้คนมีความรู้สึกว่าต้องทำอะไรเพื่อสังคม นักเขียนจึงมีแนวโน้มที่จะเขียนเรื่องเพื่อการตรวจสอบจิตสำนึกภายในของตัวเองมากกว่า  สำรวจตัวเองมากกว่าและในยุคปัจจุบันคนที่เกิดและเติบโตจากงานเพื่อชีวิต คนพยายามหาวิถีที่จะเขียนและนำเสนองานในรูปแบบใหม่

หลัง2545 มีการปรากฏตัวของงานปราบดา หยุ่น   ที่เป็นวรรณกรรมแนวทดลอง ซึ่งต่างไปจากงานของวิน ที่เล่าเรื่องโดยใช้ค่านิยมเก่า เล่าเรื่องผ่านเทคนิค กลวิธี  แต่ปราบดา หยุ่นเสนองานวิพากษ์ค่านิยมเก่า  ส่วนงานของนิ้วกลมก็มีความต่างออกไป  วรรณกรรมทดลองจึงมีแนวโน้มที่ต่างออกไป   สังคมในยุคนี้ เด็กยุคใหม่จึงมองว่าวรรณกรรมจึงไม่มองเห็นสิ่งนี้เป้นส่วนของการเคลื่อนไหวทางสังคมซึ่งเขาคิดว่าใช้สื่อนำเสนอได้ดีกว่านิ้วกลม มีความแตกต่างอีกหลังจากนี้เป็นต้นไป วรรณกรรมทดลองคงเปลี่ยนโฉมไปมากกว่านี้ วรรณกรรมทดลองควรจะส่งเสริมให้มีการเกิดขึ้น สภาพสังคมทุกวันนี้ เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้มองวรรณกรรมเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหว ใช้สื่ออื่นๆ ได้มากกว่าการเขียนวรรณกรรม