Skip to main content

นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายวิชา CJ 403 สัมมนาวารสารศาสตร์กับสังคม เตรียมจัดสัมมนาวิชาการ "ข่าวบอกว่าฉันผิด" ในวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2558 เวลา 13.30-15.50 น. ณ อาคาร7ชั้น12 ห้องสัมมนา 3 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย รศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอาจารย์บรรยงค์ สุวรรณผ่อง บรรณาธิการที่ปรึกษาหนังสือพิมพ์อีคอนนิวส์และกรรมการควบคุมจริยธรรม สามคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคุณชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ประชาไท หนึ่งในพิธีกรรายการ Wake Up Thailand

สำหรับเหตุผลการจัดสัมมนาครั้งนี้ ผู้จัดเปิดเผยเว็บเด็กหลังห้องว่า เนื่องจากในชีวิตประจำวัน มนุษย์อยู่กับการสื่อสารตลอดเวลา เป็นทั้งผู้รับสารและผู้ส่งสารในคราวเดียวกัน ข่าวสารเป็นตัวบ่งบอกความเคลื่อนไหวต่างๆที่เกิดขึ้นภายในสังคม ทำให้เรารู้เรื่องราวต่างๆ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันเป็นเรื่องง่ายแค่ปลายนิ้วมือ  แต่การเลือกรับข่าวสารอย่างไรให้เกิดประโยชน์นั้น คงเป็นขอบเขตที่ยากเกินกำหนด เพราะสิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจน คือ การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ที่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ด้วยความสะดวกรวดเร็วของการเข้าถึงข่าวสาร ทำให้สื่อเองต้องปรับตัวเน้นการนำเสนอข่าวอย่างรวดเร็วผ่านสื่อช่องทางต่างๆ เพื่อแข่งขันแย่งชิงพื้นที่สื่อ จนนำไปสู่การนำเสนอข่าวที่ขาดมิติ ขาดความรอบด้านและความถูกต้อง รวมถึงข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนนั้นก็แทบยากจะมีให้เห็น

อีกทั้งสื่อในปัจจุบันกลับไปให้ความสนใจของการขายข่าวมากกว่าคุณค่าข่าว ขาดการตรวจสอบ นำเสนอข่าวเร็วมากกว่านำเสนอข่าวจริง โดยเฉพาะสื่อหลายสำนักต่างพากันผลิตข่าวซ้ำๆ เสนอข่าวซ้ำๆ ไม่เพียงเท่านั้นการหาข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นไปนำเสนอข่าว ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการตรวจสอบ แต่กลับประโคมให้เป็นข่าวซะก่อน เรียกผู้ชม เรียกยอดไลค์ด้วยการพาดหัวให้น่าสนใจจนเกินจริง จนทำให้ผู้ตกเป็นข่าวนั้นเกิดความเสียหาย หรือแม้กระทั่งสร้างความเกลียดชั่งขึ้นได้ในสังคม

อำนาจของสื่อมีมากเกินจำกัด หากตกอยู่ในมือผู้มีอำนาจหรือถูกครอบงำโดยอำนาจทุนนิยม จะทำให้เกิดการแทรกแซงในด้านเนื้อหา สื่อจะกลายเป็นเครื่องมือการสื่อสารที่ใช้ต่อสู้กันของคนในสังคม ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างความเกลียดชังขึ้นในสังคม เพราะฉะนั้นกระบวนการนำเสนอข่าวที่ตรงไปตรงมา มีความเป็นเที่ยงตรงคงเกิดขึ้นได้ยาก หากสื่อเองยังมีการเลือกข้างอยู่แบบนี้ กรณีการนำเสนอข่าวที่มีการทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ความตายของเพศที่สาม ซึ่งเนื้อหาข่าวสะท้อนให้สังคมเห็นว่าเพศที่สามเป็นบุคคลอันตรายหรือมีอารมณ์รุนแรง โดยไม่มีการนำเสนอข่าวที่สะท้อนให้เห็นความแตกต่างออกไป หรือความลึกของข่าวที่ไม่เจาะจงเฉพาะเพศ เพราะความรุนแรงเกิดขึ้นได้ในทุกเพศและทุกช่วงอายุ สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวและอันตรายต่อความคิดของคนสังคมอย่างมาก เพราะในบางครั้งสื่อเองก็เป็นผู้สร้างความเกลียดชังได้

ด้วยเหตุนี้เองต่อให้มีเสรีภาพมากล้นเพียงใด แต่หากสื่อยังขาดความรับผิดชอบ ความน่าเชื่อถือก็อาจหมดไปทุกทีๆ สื่อเองจึงต้องตระหนักถึงการนำเสนอที่ต้องอยู่ภายใต้เสรีภาพและความรับผิดชอบของตน จึงเกิดการจัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ “ข่าวบอกว่าฉันผิด?” โดยเชิญผู้มีความรู้ความเชียวชาญในด้านสื่อ มาร่วมพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกับการนำเสนอข่าวที่อาจนำไปสู่การสร้างความเกลียดชังได้