editor
12 March 2015
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 เวลา 16.00-17.00 น. ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารมีเดียอาร์ต หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “มายาคติระหว่างศาสนากับอำนาจในการปกครองของรัฐ” โดย ผศ.ดร. สุชาติ เศรษฐมาลินี แห่งสถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ เป็นวิทยากรผู้ให้ความรู้ในครั้งนี้
ผศ.ดร. สุชาติ กล่าวว่า ตลอดทุกวันนี้ 3 ใน 4 ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงของศาสนา ซึ่งแง่ของศาสนา ประเด็นที่มักจะเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในบ่อยๆครั้งนั้นคือประเด็นของ Absolute truth หรือความจริงแท้ ไม่มีเงื่อนไข มีลักษณะเผด็จการ สามารถที่จะครอบงำความคิดได้และเมื่อใดที่มีผู้ที่ยกความจริงแท้ดังกล่าวมาอ้างจะทำให้เกิดการแบ่งแยกเกิดขึ้น ซึ่งการอ้างความจริงแท้นี้ทำให้ความอดทนอดกลั้นที่มีต่อกันลดน้อยลงไปเพราะต่างคนก็ต่างเชื่อในชุดความจริงของตน การอ้างแบบนี้จะทำให้การแบ่งแยกจะมากขึ้น แม้กระทั่งในสังคมมุสลิมเอง (ผศ.ดร. สุชาติ กล่าวว่าตนก็เป็นมุสลิม) ยังเกิดการแบ่งแยกในกลุ่มเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น การอ้างความจริงแท้สูงสุดมากกว่ากลุ่มมุสลิมอื่นๆ การอ้างว่าตนปฏิบัติใกล้เคียงนบีมากกว่าผู้อื่น
อีกทั้งกล่าวว่ามี index ของ Pew Research ชื่อว่า The government restrictions index คืองานที่บ่งบอกการควบคุม กำหนดข้อจำกัดให้กับศาสนา มีการคุกคาม ควบคุมโดยรัฐบาล และการจำกัดเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นในประเทศจีน รัสเซีย พม่า อียิปต์ อินโดนีเซีย
ทั้งนี้ ผศ.ดร. สุชาติ สรุปในประเด็นความขัดแย้งในศาสนาและการควบคุมของรัฐก่อนที่จะเข้าประเด็นต่อไปว่า ในพหุสังคม พหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย ต้องมีการทำกิจกรรมร่วมกัน มีความพยายามเข้าใจกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่
ในประเด็นต่อมากล่าวว่ามีความขัดแย้งที่มีลักษณะเช่นเดียวกับจังหวัดน่านในหลายๆที่ทั่วโลก โดยมีการสร้างภาพให้เกลียดชาวมุสลิม มีการต่อต้านมีการสร้างภาพให้มุสลิมกลายเป็นผู้ก่อการร้ายเสมอ การแปะป้าย เป็นผู้ก่อการร้ายเสมอ สิ่งเหล่านี้สามารถเห็นได้จากหลายๆเหตุการณ์ทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยเหตุการณ์ที่สำคัญๆคือมีเอกสารที่ผู้ไม่หวังดีปล่อยออกมา เป็นแผนการยึดครองประเทศไทยภายใน 10 ปีของผู้ก่อการร้ายมุสลิม และเอกสารนั้นมีข้อความให้ช่วยกันต่อต้านมุสลิมออกจากประเทศไทย
ในส่วนของชาวน่านที่พยายามจะอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นน่าน ซึ่งอาจารย์กล่าวว่ามีความน่าภูมิใจและเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อวันหนึ่งมีมัสยิดที่เป็นสิ่งแปลกปลอมเข้ามา โดยผศ.ดร. สุชาติ เศรษฐมาลินี กล่าวว่าส่วนตัวอยากจะกลับไปถามมุสลิมว่าทำความเข้าใจบริบทชาวน่านหรือยังก่อนจะสร้างมัสยิด
ทั้งนี้มีการส่งหนังสือถึงจุฬาราชมนตรีโดยผู้ใหญ่บ้านและกำนัน มีข้อเรียกร้องหลายประการคือ ชาวน่านมีความกังวลเรื่อง ขาดความเข้าใจในวิถีชีวิต การปฏิบัติศาสนกิจ การอยู่ร่วมกันกับชาวมุสลิม และมีความหวาดระแวงต่อผู้นับถือศาสนาอิสลามซึ่งมีสาเหตุมาจากความกลัวความรุนแรงจะเกิดขึ้นเหมือนกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงถ้าหากคณะกรรมการกลางอิสลามกลางยืนยันจะดำเนินการการก่อสร้างตามกฎหมายโดยไม่ฟังเสียงราษฎรในพื้นที่และไม่ดำเนินการตามที่ราษฎรเสนอไป ก็จะดำเนินการคัดค้านอย่างถึงที่สุดต่อไป
ท้ายที่สุด ผศ.ดร. สุชาติ กล่าวว่าเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ความหวาดกลัวที่เกิดขึ้น น่าเห็นใจชาวน่าน แต่ก็หวังว่าถ้ามีการพูดคุยเปิดใจซึ่งกันและกัน ก็ทำให้ปัญหาคลี่คลายไปทางที่ดี เพราะสิ่งที่ห่วงอย่างยิ่งคือเมื่อประเด็นทางศาสนาเป็นความขัดแย้ง แนวโน้มที่นำไปสู่ความรุนแรงมีสูง จึงแสดงความห่วงเป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมเสวนาได้กล่าวว่ามีองค์ประกอบหลายด้านที่ทำให้เกิดมายาคติ เช่น ภาษา เศรษฐกิจ การแปะป้ายให้โลกรับรู้ว่ามุสลิมเป็นผู้ก่อการร้าย อีกทั้งมายาคตินั้นสอดรับกับการสร้างชาติให้เป็นเอกลักษณ์
ในขณะที่ผู้เสวนาอีกท่านหนึ่งกล่าวว่าก่อนรัฐชาติควบคุม ชุมชนมีความหลากหลาย มีความใกล้ชิดกันมากกว่า แต่ภายหลังจากรัฐชาติควบคุม ความใกล้ชิดเหล่านี้กลับลดลง และผู้เข้าร่วมเสวนาท่านนี้เสนอว่าอย่าปล่อยให้มายาคติทำงานมากเกินไป ต้องพูดคุย แลกเปลี่ยน ทำความเข้าใจกันให้มากขึ้น
- 1 view