Skip to main content

องค์กรภาคประชาสังคม กลุ่มสตรี เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ และกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้ ร่วมออกคำแถลงการณเพื่อประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ดำเนินต่อไป

เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมใหญ่ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้มีการจัดงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้ง2 หลังครบรอบ2ปีการเจรจารพูดคุยสันติภาพ โดยในงานนี้ทางกลุ่มองค์กรจากภาคประชาสังคม กลุ่มสตรี กลุ่มเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ กลุ่มเยาวชนในพื้นที่ ได้ร่วมกันออกคำแถลงการณ์เพื่อสนับสนุนกระบวนการสันติภาพให้ดำเนินต่อไป

ซึ่งแต่ละกลุ่มได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนกระบวนการสันติภาพดังนี้

คำแถลงข้อเสนอต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข

 เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ

ในกิจกรรมวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 2 “สันติ (ที่มองเห็น) ภาพ”

 สืบเนื่องจากความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิต และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการสูญเสียของทรัพย์สิน เกิดปัญหาหญิงม่าย เด็กกำพร้า และผู้พิการ

กลุ่มบุคคล องค์กรภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคประชาสังคม  มีความพยายามในการเสาะแสวงหากระบวนการ และวิธีการในการสร้างความสงบสุข และสันติภาพในพื้นที่มาโดยตลอด  เพราะมีความตระหนักรู้ถึงความสูญเสียและบรรยากาศของความสัมพันธ์ทางสังคมทีเป็นอยู่  และถือเป็นหน้าที่และบทบาทที่กลุ่มบุคคล องค์กรภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ต้องมีการร่วมมือกันสานความสัมพันธ์ของสังคมท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย  และมีความพยายามที่จะสื่อให้สังคมรับรู้ว่าความขัดแย้งที่เป็นความรุนแรงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น ยังมีหนทางที่จะคลี่คลาย ให้ความสงบ และสันติเกิดขึ้นได้ ด้วยความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ข้างต้น

เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ มีข้อเรียกร้องไปยังฝ่ายรัฐบาลไทยและกลุ่มขบวนการที่มีความคิดเห็นต่าง คือ

1.     รัฐบาลไทยควรต้องดำเนินการพูดคุยเพื่อสันติสุขอย่างชัดเจน และมีผลต่อการดำเนินการพูดคุย

2.     รัฐบาลไทยและกลุ่มขบวนการที่มีความคิดเห็นต่างควรต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมทั้งไทยพุทธและมุสลิมเข้าร่วมโต๊ะพูดคุย และ/หรือเป็นผู้สังเกตการณ์ เพื่อจะได้เป็นตัวเชื่อมกับประชาชน

3.     รัฐบาลไทยและกลุ่มขบวนการที่มีความคิดเห็นต่างควรต้องเปิดพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยของประชาชน

4.     กลุ่มขบวนการที่มีความคิดเห็นต่างควรต้องยุติการทำร้ายเป้าหมายที่อ่อนแอเพื่อเสริมบรรยากาศของการพูดคุยสันติสุข

5.     ในการพูดคุยสันติสุข ควรต้องดำเนินไปพร้อมกับการเปิดพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยของประชาชน

แถลงโดย

 นางอัญชลี คงศรีเจริญ /นายรักษ์ชาติ สุวรรณ์ /นางสม โกไศยกานนท์

เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558

แถลงการณ์สภาประชาสังคมชายแดนใต้

ฉบับที่ 9 / 2558

เรื่อง  ประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

สืบเนื่องจากรัฐบาลภายใต้การนำของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พอ.อ.ประยุทธ์  จันทรโอชา ได้ประกาศนโยบายการพูดคุยสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้  ที่ประสงค์จะให้มีสาระครอบคลุมทุกมิติ โดยจัดให้มีกลไกขับเคลื่อนตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230 / 2557 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 ดังที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วนั้นสภาประชาสังคมชายแดนใต้ มีความยินดีในทิศทางดังกล่าวของรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ขอร่วมประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ในวันนี้ ดังนี้

1. สภาฯ เห็นว่าทิศทางการพูดคุยสันติสุขที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้เป็นส่วนสำคัญที่สุดของกระบวนการสันติภาพโดยรวม สมควรที่ทุกภาคส่วนจะได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนให้เป็นจริงโดยเร็ว

2. สภาฯ เห็นว่ามีประเด็น ปัญหาสำคัญอยู่ 3 ประเด็นที่เป็นรากเหง้าของเงื่อนไขความขัดแย้ง ที่ดำรงอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ คือ ปัญหาความยุติธรรม  ปัญหาการบริหารจัดการเชิงวัฒนธรรม และปัญหาการหนุนเสริมการขยายประชาธิปไตยในระดับพื้นที่  ทั้ง 3 ปัญหานี้เป็นอุปสรรคสำคัญของกระบวนการสันติภาพ  อยากให้รัฐบาลได้กำหนดนโยบายและทิศทางการแก้ไขปัญหาให้ชัดเจนทั้งนี้ก็เพื่อขจัดอุปสรรคขั้นต้นของกระบวนการพูดคุยสันติสุขให้หมดไป

จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

นายประสิทธิ์   เมฆสุวรรณ

ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้

แถลงโดย

นายอับดุลอาซิส ตาเดอิน   ลงวันที่  28  กุมภาพันธ์  2558

แถลงการณ์ของกลุ่มเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม

เนื่องในโอกาสวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้ และวันสตรีสากล

NO WOMEN NO PEACE

เนื่องในโอกาสวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้ 28 กุมภาพันธ์ 2558 และในโอกาสที่จะถึงวันสตรีสากล 8 มีนาคมนี้ กลุ่มเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม ดังรายนามข้างล่างนี้ ขอแถลงข้อเรียกร้อง ดังนี้

1. ขอให้ภาครัฐ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการและกลไกการตัดสินใจ ในประเด็นสาธารณะ ในทุกขั้นตอน ทุกมิติ โดยคำนึงถึงสัดส่วนที่มีความสมดุลระหว่างเพศหญิงและชาย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน  โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกระบวนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีความขัดแย้งและใช้กำลังอาวุธในการต่อสู้มานับสิบปี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับผลกระทบจำนวนนับหมื่นราย ผู้หญิงได้กลายเป็นผู้แบกรับผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อม จากความรุนแรงดังกล่าวมาอย่างหนักหน่วงและยาวนาน แต่ผู้หญิงกลับมีโอกาสน้อยมากที่จะมีส่วนร่วมรับรู้ ให้ความเห็น และร่วมตัดสินใจต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน การมีส่วนร่วมเช่นที่ว่านี้ ต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่าง เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ผู้หญิงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้หญิงทั่วทั้งประเทศ

2. ขอให้ผู้หญิง เด็ก และประชาชนโดยทั่วไป  ได้มีพื้นที่ปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งในตลาด โรงเรียน ปอเนาะ โรงพยาบาล สวนยาง ไร่นา วัด มัสยิด โบสถ์ ถนนหนทางที่เป็นแหล่งสัญจรไปมา เป็นต้น การใช้ความรุนแรง ที่สร้างผลกระทบต่อบรรดาพลเรือนเหล่านี้ ต้องยุติ

3. ขอสนับสนุนให้รัฐบาล แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้สันติวิธี สำหรับการสานเสวนาสันติภาพ (peace dialogue) ระหว่างคู่ขัดแย้ง เป็นการแก้ปัญหาโดยใช้สันติวิธีที่ควรมีการสานต่อ อย่างไรก็ตาม  การสานเสวนาสันติภาพ ระหว่างคนที่มีความคิดเห็นต่าง และระหว่างคนต่างวัฒนธรรมในระดับท้องถิ่นชายแดนใต้และระดับชุมชน มีความสำคัญมากไม่แพ้กัน ที่จะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อช่วยลดข้อขัดแย้ง และสร้างความสมานฉันท์ปรองดอง ในระดับชุมชนและท้องถิ่นชายแดนใต้

4. ผู้หญิงมีศักยภาพในการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ การเป็นคนกลางจัดให้มีการสานเสวนาระหว่างคนที่เห็นต่างในชุมชน การปกป้องสิทธิมนุษยชน การทำงานสันติวิธี  การสื่อสารสันติภาพ การพัฒนาฟื้นฟูชุมชนภายใต้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ศักยภาพดังกล่าวนี้ ต้องได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐ และภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ใช้ศักยภาพ และมีบทบาทในด้านต่างๆนี้เพิ่มขึ้น

5. สื่อควรเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิง รวมทั้งเสียงเงียบ (voiceless) ต่างๆในชายแดนใต้ได้มีโอกาสสื่อสาร และสื่อต้องเสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน ไม่ขยายความขัดแย้ง อธิบายสถานการณ์ให้คนในประเทศได้เข้าใจถึงสาเหตุที่มา และความสลับซับซ้อนของสถานการณ์ มากกว่านำเสนอเพียงปรากฏการณ์รายวัน รวมทั้งเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น ไม่เสนอรูปศพ ที่ถูกฆ่าอย่างทารุณจากเหตุการณ์  ไม่เสนอข่าวในลักษณะด่วนตัดสินว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ  เป็นต้น   

กลุ่มเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม  ที่ร่วมแถลงการณ์

1.     เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้

2.     เครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ

3.     กลุ่มเซากูน่า

4.     เครือข่ายสตรีไทยพุทธจังหวัดยะลา

5.     กลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558

แถลงการณ์วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้ในนามกลุ่มเยาวชนความฝันชายแดนใต้

สถานการณ์ความรุนแรงในชายแดนใต้/ปาตานี ได้ดำเนินมาอย่างยาวนาน และมีวิวัฒนาการในแต่ละช่วงเวลาต่างๆ ดังจะเห็นได้จากสถิติ และสิ่งที่ปรากฏอย่างประจักษ์ชัด ในปรากฏการณ์ต่าง ที่เกิดขึ้น

ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญอีกปรากฏการณ์หนึ่ง คือการลงการพูดคุยสันติภาพ ระหว่างตัวแทนรัฐไทยและตัวแทนผู้เห็นต่างจากรัฐ แม้นว่าจะล่มลงไปในที่สุด

จนกระทั่งมีนโยบายภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน ประกาศจะมีการพูดคุยสันติสุขกับผู้เห็นต่างจากรัฐ และมีปรากฏการณ์ต่างๆมากมาย ต่อนโยบายดังกล่าว   ทางกลุ่มเยาวชนความฝันชายแดนใต้ จึงมีข้อเสนอต่อการพูดคุยสันติสุขภายใต้รัฐบาลปัจจุบันดังนี้

1.     การพูดคุยสันติสุข/สันติภาพ จะต้องพูดคุยภายใต้กรอบและหลักการที่ยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนในชายแดนใต้/ปาตานีเป็นที่ตั้ง

2.     ทั้งสองฝ่าย party A และ  party B ต้องไม่คุกคามการแสดงออกทางการของพลเรือนและยอมรับการเปิดพื้นที่การแสดงออกทางการเมืองที่มีต่อพลเมืองในชายแดนใต้/ปาตานี

3.     ทั้งสองฝ่าย party A และ  party B นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่เคลื่อนไหวหรือจัดกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี

4.     รัฐบาลไทยต้องยอมรับการมีอยู่ของ party B อันหมายถึง ผู้เห็นต่างจากรัฐ 

5.     Party B อันหมายถึงผู้เห็นต่างจากรัฐ ต้องระบุหรือให้คำนิยม คำว่า ชาวปาตานีหมายถึงใคร ให้ชัดเจน 

ลงันที่  28 กุมภาพันธ์ 2558