เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา อมรวิชช์ นาครทรรพ โฆษก กมธ. ปฏิรูปการศึกษา และอาจารย์คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กมธ.ปฏิรูปการศึกษา ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อ กมธ. ยกร่างฯ 3 ส่วน คือ 1. หมวดสิทธิพื้นฐานของพลเมือง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือคนไทย 70 ล้าน คน ไม่เฉพาะเยาวชน 10 ล้านคน แต่รวมผู้สูงอายุและประชาชนไทยทั้งหมดด้วย 2. หมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ เสนอให้มีการบัญญัติหลักการเกี่ยวกับการจัดการศึกษายุคใหม่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน 3. หมวดการปฏิรูป
ประภาภัทร นิยม กมธ. ปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า รัฐไทยลงทุนกับการศึกษาเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่การบริหารเงิน บริการบุคคล และการบริหารวิชาการในระบบการศึกษาล้มเหลว ซึ่งสาเหตุเกิดจากการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ฉะนั้นการปฏิรูปจึงต้องกระจายอำนาจไปส่วนอื่นๆ โดยบริหารเงินให้ไปสู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ปรับกฎหมายที่จะกระจายอำนาจไปสู่บุคลากร และกระจายอำนาจในการตัดสินใจไปยังบุคลากรเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา
ทั้งนี้องค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นจริงคือ 1. จะต้องมีสถาบันวิจัยระบบการศึกษา เพื่อนำหลักการมากำหนดนโยบายของการศึกษาให้สอดคล้องกับความเป็นจริง 2. จัดตั้งสำนักงานหรือหน่วยงานที่จะบริหารการเงินเพื่อการศึกษา ในลักษณะจัดสรรเงินให้กับผู้เรียนโดยตรง ซึ่งหากไม่มีหน่วยงานที่บริหารเรื่องนี้ที่แยกออกจากกระทรวงศึกษาธิการจะปฏิรูปไม่สำเร็จ และ 3. ส่งเสริมให้เกิด "ผู้จัดการศึกษา" ในพื้นที่มากขึ้น ไม่ว่าท้องถิ่น ประชาสังคม หรือสมัชชาเครือข่ายการศึกษา
ที่มา มติชนออนไลน์