เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2558 โครงการศิลป์เสวนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการในหัวข้อ“ปัญญาชนชนชั้นกลางยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์” โดยมี ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เป็นผู้บรรยาย และดำเนินรายการโดย อ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์
ศ.ดร.ธเนศ กล่าวว่าปัญญาชนความจริงก็คือคน แต่สิ่งสำคัญคือปัญญาชนต้องคิด ถ้าไม่คิดก็ไม่เกิดประโยชน์ไม่เกิดปัญญาชน เพราะเรามองสังคมผ่านความคิด ปัญญาชนจึงมีหน้าที่เรียบเรียงและถ่ายทอดความคิดออกสู่สังคม โดยสรุปคือปัญญาชนคือนักคิด ในยุคโบราณนั้นนักคิดถูกเรียกว่าปราชญ์ซึ่งมีเพื่อจรรโลงรักษาระเบียบสังคมที่ธำรงอยู่ หรืออธิบายให้คนเชื่อและรักษาไว้ซึ่งระบบ และไม่สอนให้ประชาชนตั้งคำถาม ส่วนนักคิดในสมัยใหม่มักจะวิพากษ์ระเบียบสังคมที่ดำรง อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงสังคมในทิศทางที่ดีขึ้น
บรรดานักคิดรุ่นแรกนำเสนอแบบแผนทางสังคม ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และนำไปสู่การวิพากษ์ระบอบเก่า สิ่งที่คนเหล่านี้หาคำตอบคือทำไมสังคมที่คนมาอยู่รวมกันมันจึงสร้างขึ้นมาได้ และสร้างอย่างไร ฉะนั้นสังคมจึงต้องมีการคิดเพื่อนำไปสู่การผลิตผลผลิตออกสู่สาธารณะจึงจำเป็นต้องมีกระบวนการอีกกระบวนการหนึ่งคือการสื่อสารให้ผู้คนรับรู้ กระบวนการเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามีการพูดเกิดขึ้น พูดผ่านการเขียน ผ่านภาพวาด ผ่านเพลง ผ่านบทละคร หรือแม้กระทั่งการแสดง เรียกได้ว่าปรากฏการณ์ทางสังคมทั้งหมดมีความคิดอยู่ในนั้น
ธเนศระบุว่า ชนชั้นกลางเป็นสิ่งที่เป็นสมัยใหม่ ถ้าไม่มีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมก็จะไม่เกิดชนชั้นกลาง ระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นใหม่นั้น คนที่อยู่ในระบบการผลิต บริโภคก็คือชนชั้นกลางนั่นเอง ระบบการค้าโลกที่ไม่มีขอบเขตก่อให้เกิดพื้นที่สาธารณะ สิ่งที่เกิดตามมาของพื้นที่สาธารณะคือเรื่องของอุดมการณ์ อุดมการณ์เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น เป็นนามธรรมแต่อธิบายสิ่งต่างๆอย่างเป็นระบบ ซึ่งตอบโจทย์ของคนสมัยใหม่ที่ต้องการวิพากษ์ระบบเดิมๆ จึงนำเอาอุดมการณ์ไปใช้ นักคิดทุกรุ่นจึงมีอุดมการณ์เป็นที่ตั้ง
ปัญญาชนประสบความสำเร็จเพราะสร้างกระบวนการความคิดที่รองรับการเปลี่ยนแปลง เช่นการปฏิวัติฝรั่งเศส ทั้งหมดเกิดจากการเผยแพร่แนวคิดให้ประชาชนเข้าใจ สะท้อนให้เห็นปัญหาการปฏิวัติ 2475 ในไทย ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการเผยแพร่อุดมการณ์ที่ล้มเหลว ไม่มีพลังที่จะผลักดันให้คนจำนวนมากเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงให้มันดำเนินต่อไปได้
ปัญญาชนไทย(ฝ่ายชนชั้นนำ) ในยุคของรัชกาลที่5 จนถึงรัชกาลที่7 นั้นความคิดและอุดมการณ์ถูกสร้างขึ้นมาจากชนชั้นนำของสยาม ผู้นำสยามมีทั้งอำนาจ ทรัพยากร มีเกือบทุกอย่างจึงสามารถจัดสร้างสิ่งต่างๆได้ ผู้นำเริ่มสร้างระเบียบทางสังคม สร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเห็นเป็นรูปธรรมเมื่อรัชกาลที่5 ปฏิวัติโครงสร้างการปกครอง ในยุคนั้นปัญญาชนสยามมีพัฒนาการใกล้เคียงกับยุโรปคือมีสมาคม ซึ่งสมาคมเป็นที่สำหรับให้ปัญญาชนไว้พูดคุยกัน อาทิเช่น สมาคมสยามหนุ่ม ที่เสนอคำกราบบังคมทูลความเห็นในการจัดการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการแผ่นดิน ซึ่งเนื้อหาไม่เคยตกยุคเพราะในปัจจุบันก็ยังใช้อยู่ 200ปีผ่านไปไม่เคยเปลี่ยน
ปัญญาชนไพร่กระฎุมพี เช่นเทียนวรรณซึ่งมีงานเขียนที่ต่างจากปัญญาชนสายเจ้า แม้ว่าการพูดถึงพุทธปรัชญา ธรรมชาติมนุษย์และสังคมของเทียนวรรณจะเหมือนกับปัญญาชนสายเจ้า แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือแนวคิดเรื่องการปกครองและอำนาจซึ่งเป็นการวิพากษ์กระบวนการพัฒนาทางสังคมซี่งอยากมองเห็นระบบระเบียบทางสังคม มีคำคำหนึ่งที่เทียนวรรณอัศจรรย์ใจมากคือคำว่า President เพราะประชาชนเป็นผู้เลือกผู้ปกครอง และแม้ว่าเทียนวรรณจะเขียนวิพากษ์ระบบราชการอย่างรุนแรง แต่สุดท้ายแล้วเทียนวรรณก็จบงานเขียนลงที่ว่าสยามเหมาะกับระบบกษัตริย์ ความคิดของเทียนวรรณจึงไม่ได้วิพากษ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะถูกเพดานของระบอบการปกครองในยุคนั้นปิดกั้นโลกทรรศน์ สิ่งที่เทียนวรรณทำจึงเป็นเหมือนการถางทางหรืออ่านเพื่อให้ได้คิด ซึ่งจุดจบของเทียนวรรณมักจะเหมือนจุดจบของปัญญาชนไพร่สยามทั่วๆไปคือมักถูกจับเข้าคุก จึงไม่ได้มีงานที่ส่งทอดต่อคนรุ่นหลัง (และสภาพของปัญญาชนสยามนั้นก็ยังคงอยู่จนถึงยุคปัจจุบัน)
ภายหลังจากนั้นมีกลุ่มปัญญาชนที่น่าสนใจอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า กลุ่มสุภาพบุรุษ มีบรรณาธิการคือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ กุหลาบถือเป็นตัวเปลี่ยนผ่านสำคัญในยุครัชกาลที่7 ทางเลือกในชีวิตของกุหลาบเวลานั้นคือ รับราชการหรือทำอาชีพอิสระ ภายหลังจากที่รับราชการและทนกับระบบราชการไม่ได้ กุหลาบจึงลาออกมาเขียนหนังสือ จนออกเป็นหนังสือพิมพ์และก่อให้เกิดอาชีพอิสระของนักเขียน งานเขียนชิ้นหนึ่งที่น่าจดจำของกุหลาบคือ มนุษยภาพ ซึ่งเขียนก่อนเกิดเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 1ปี เป็นบทความเกี่ยวกับปรัชญาการเมืองของความเป็นมนุษย์ กุหลาบคือคนแรกที่มองมนุษยภาพแบบความเป็นสากล ส่วนหนึ่งของบทความได้เขียนไว้ว่า
“ตัวเราเป็นใครมีส่วนอยู่มากน้อยเพียงไรในความเสื่อมความเจริญของประเทศชาติ เรามีสิทธิอะไรบ้าง และควรใช้สิทธินั้นได้ภายในขอบเขตเท่าใดที่นิติธรรมของประเทศอนุญาตให้ พวกเราโดยมากไม่ทราบ และไม่พยายามที่จะทราบ ข้าพเจ้าเข้าใจไม่ได้เลยว่า เหตุใดพลเมืองสยาม จึงพาความสนใจของเขาข้ามเขตแดนปัญหาสำคัญอย่างอุกฤษฎ์นี้ไปเสีย บางทีจะเป็นด้วยเขามัวเป็นห่วงท้องของเขามากเกินไป ถ้าเป็นจริงดังนี้จะน่าอนาถใจเหลือเกิน”
บทความของศรีบูรพาชิ้นนี้มีความเป็นสากลและเป็นทางสู่อนาคต และถือว่าเป็นงานเขียนที่ดีที่สุดของปัญญาชนในยุคสมัยใหม่
ทฤษฎีคือการอ่านและสร้างของนักคิดหลายๆคน ช่วยกันวิพากษ์จนเกิดทฤษฎี แต่ระบบแบบนี้ไม่เกิดขึ้นกับไทย ไม่มีการต่อยอดทางความคิดซึ่งส่งผลให้แนวคิดต่างๆ โดยเฉพาะแนวคิดเสรีภาพของไทยไม่ได้ตกผลึกและเป็นรูปธรรม ซึ่งอาจถือเป็นจุดจบของปัญญาชนไทย
- 5 views