ชมรมสนทนาภาษาสิงห์ ของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเสวนา "งานบอลท่ามกลางวิกฤตการเมือง วิกฤตการเมืองท่ามกลางงานบอล" เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องในการจัดงานทั้งจากจุฬาและธรรมศาสตร์ แต่ก่อนเริ่มงานไม่นาน ตัวแทนจากธรรมศาสตร์ของดการเข้าร่วมเสวนา โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการรักษาความสัมพันธ์อันดีของสองมหาวิทยาลัย ผู้ที่ร่วมพูดคุยในงานได้แก่ อรรถชัย หาดอ้าน ประธานเชียร์งานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ฝ่ายจุฬาฯ ครั้งที่ 69.5 และ ภาณุวิชญ์ เวชสัมพันธ์ คณะกรรมการจัดงานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 70 ดำเนินรายการโดย กรกฤช สมจิตรานุกิจ
ภาณุวิชญ์เปิดประเด็นโดยชี้แจงว่า ทั้งสองมหาวิทยาลัยมีการแบ่งเนื้อหาที่จะนำเสนอ ซึ่งทางธรรมศาสตร์รับผิดชอบเรื่องล้อการเมือง ส่วนจุฬาฯจะเป็นประเด็นเชิงสร้างสรรค์สังคม ซึ่งก็มีความกล้าแสดงออกในอีกมุมมอง สำหรับอรรถชัยมองว่า หลังจากวิกฤตทางการเมือง สิ่งที่แสดงออกจากงานบอลเปลี่ยนไปแล้ว แต่จะตอบโจทย์สังคมมากขึ้นหรือน้อยลง ก็เป็นอีกเรื่อง พร้อมเล่าประสบการณ์จากการเป็นประธานเชียร์ฝ่ายจุฬาฯปีที่ผ่านมา ว่าตนเคยเข้าไปหาคำตอบว่างานบอลให้อะไรกับสังคม ซึ่งพบว่างานบอลที่เริ่มจากองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้จะถูกประมูลงานโดยคณะต่างๆในมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่ใช่งานของนิสิตปัจจุบันทั้งหมด มีผู้ใหญ่จากสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ให้เงินเข้ามาดู และกำหนดทิศทาง ช่วงที่ตนทำผู้ใหญ่จะบอกว่าจะทำอะไร กระบวนการตัดสินใจจะไปอยู่ที่ผู้ใหญ่ที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร ซึ่งตนเข้าไม่ถึง รู้แต่ว่าสิ่งที่อยากเสนอจะผ่านหรือไม่ผ่าน อรรถชัยยกตัวอย่างการที่ตนตั้งใจจะทำล้อเรื่องน้ำท่วม ประเด็นระหว่างคุณ สุขุมพันธ์กับคุณยิ่งลักษณ์ แต่ก็ไม่ผ่านผู้ใหญ่ หรือแม้แต่โลโก้งานบอลที่แต่ละปีเมื่อได้แบบที่เลือกแล้ว ก็จะมีการปรับเปลี่ยนก่อนใช้งานจริง
เมื่อไม่รู้ว่าผู้กำหนดงานที่แท้จริงคือใคร นิสิตจัดงานก็ไม่สามารถเสนอความคิดด้วยตัวเอง รวมถึงเมื่อถูกสั่งห้ามหลายๆครั้ง ก็เกิดความกลัวว่าทำไม่ได้ หรือบางครั้งเมื่อทำไปแล้วก็ถูกจับตามองจากผู้ใหญ่ อย่างในกรณีคลิปวิดีโอขอใจเธอมาคัดค้านพ.ร.บ. หรือเมื่อตนเสนอให้จัดงานเสวนา แต่ก็ถูกคัดค้านเช่นกันจากบอร์ดงานบอล
ภาณุวิชญ์กล่าวถึงการเข้ามาของสมาคมนิสิตเก่าฯว่า จริงๆแล้วทางสมาคมเป็นคนจัด ให้นิสิตปัจจุบันมาช่วย งานที่ออกมาเลยเป็นไปตามนโยบายที่สมาคมนิสิตเก่าฯวางแผนไว้
ซ้ายไปขวา: อรรถชัย หาดอ้าน, ภาณุวิชญ์ เวชสัมพันธ์ , กรกฤช สมจิตรานุกิจ
อรรถชัยเสริมต่อว่า ความแตกต่างระหว่างจุฬาฯกับธรรมศาสตร์อย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือ งบของจุฬาฯส่วนใหญ่มาจากสมาคมนิสิตเก่าฯ แต่ธรรมศาสตร์หางบประมาณเอง พร้อมกล่าวถึงสแตนด์เชียร์ว่า จะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการเตรียมพร้อมของชมรมเชียร์ แต่ละปีก็มีแนวทางแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับกลุ่มคนที่เข้ามาทำงาน แต่การแปรเพจล้อการเมืองของจุฬาฯไม่มีตั้งแต่ ครั้งที่ 60 แล้ว ตนจึงมองว่านี่เป็นช่วงที่จุฬาฯกำลังแผ่วลง แต่ธรรมศาสตร์ยังเท่าเดิม ซึ่งอาจต้องกลับมาตั้งคำถามใหม่ว่าแท้จริงแล้วเป็นวิกฤตของงานบอลจุฬาฯหรือไม่
ส่วนเรื่องของป้ายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองที่ปรากฏภายในงาน ภาณุวิชญ์มองว่าเป็นเรื่องของการจัดการร่วมระหว่างจุฬาฯและธรรมศาสตร์ ซึ่งอรรถชัยมองในแง่ของการชิงพื้นที่สื่อของคนที่มีจุดประสงค์อย่างหนึ่ง พยายามจะนำประเด็นตัวเองมานำเสนอ ซึ่งตนคิดว่าควรนำมาคุยหาจุดร่วมระหว่างคนจัดงานและคนกลุ่มนี้ เพราะทั้งหมดก็คือนิสิตนักศึกษาจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ทั้งสิ้น ซึ่งอาจจะทำให้งานบอลตอบโจทย์ของคนในมหาวิทยาลัยหลากหลายยิ่งขึ้น
หลังจบการเสวนา มีการเปิดโอกาสให้ร่วมพูดคุยและถามคำถามกับผู้เสวนาทั้งสองท่าน ก่อนปิดงานเสวนาครั้งนี้
- 33 views