กว่าที่จะได้เข้ามหาวิทยาลัยได้เรียนที่ตามคณะที่ใช่สาขาที่ชอบเด็ก ม.ปลาย ก็เจอด่านสอบอะไรมากมายทั้ง สอบปลายภาค GAT PAT 7 วิชาสามัญ อะไรต่ออะไรอีกมากมายตามระบบการศึกษาของไทย เด็ก ม.ปลาย วาดฝันชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยไว้สวยหรู ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแบบนักศึกษา ชีวิตที่อิสระ กิจกรรมที่น่าตื่นเต้น เช่น การรับน้อง ที่เห็นในละครหลังข่าว แต่พอเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยจริงๆ ความฝันบางอย่างกลายเป็นสิ่งที่ถูกควบคุมภายใต้ระบบที่เรียกว่า “SOTUS” ซึ่งมีรุ่นพี่แบ่งเป็นแกนต่างๆเช่น พี่แกนวินัย พี่แกนพยาบาล พี่แกนหอโดยดูแลน้องๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรม และในบทความนี้ เฟรชชี่ ต่างมุม จะนำเสนอกิจกรรมประชันเชียร์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งซึ่งเจ้าตัวก็อยู่ประสบมาโดยตรง
ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะประทับใจหรือไม่ประทับใจหรือเปล่า ถ้าพูดการประชันเชียร์จุดประสงค์ของกิจกรรมก็คือการที่นักศึกษาปีหนึ่งสามารถร้องเพลงของมหาวิทยาลัย คณะ และก็สาขาได้โดยได้รับการฝึกจากรุ่นพี่นั่นเอง แต่สิ่งที่แปลกก็คือในการจัดกิจกรรมครั้งนั้นมีบางอย่างแฝงอยู่ในกิจกรรมครั้งนี้นั่นก็คือการเฉลยแกนของรุ่นพี่
เรื่องมีอยู่ว่า ในการจัดกิจกรรมประชันเชียร์ของคณะของมหาวิทยาลัยนักศึกษาปีหนึ่งจะต้องเจอกับพี่แกนต่างๆในคณะที่ตัวเองศึกษา แน่นอนว่าย่อมมีการกดดันเกิดขึ้น เพราะแต่ละคณะจะขึ้นอยู่กับคำสั่งของแกนวินัย นักศึกษาปีหนึ่งมีเวลาซ้อมเพลงคณะ 2 วัน แล้วจะประชันเชียร์ในคืนที่สาม คณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมประชุมเชียร์ขึ้น โดยมีนักศึกษาปีหนึ่งเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก เนื่องด้วยชั่วโมงกิจกรรมที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดขึ้น
และจะมีคำท้าที่พี่แกนวินัยพูดคล้ายกับการบังคับให้นักศึกษาชั้นปีหนึ่งเข้าร่วมกิจกรรม
“กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมบังคับ ถ้าไม่เข้าก็ไม่ต้องเข้าแต่คุณต้องหาเอง”
ประโยคไม่กี่ประโยคทำให้หลายคนจำใจต้องเข้าร่วมกิจกรรม การซ้อมเพลงผ่านไปด้วยดี นักศึกษาปีหนึ่งสามารถร้องเพลงคณะได้ พี่แกนเชียร์ดูเหมือนจะมีความหวังมาก เมื่อเฟรชชี่ร้องเพลงคณะได้แล้ว ฝ่ายพี่แกนวินัยและพี่แกนหอจะเข้ามาฟังน้องร้องเพลงคณะ ซึ่งถ้าหากน้องร้องไม่ได้ คนที่ถูกลงโทษก็คือพี่แกนเชียร์ แต่ในเมื่อแกนวินัยและแกนหอ ผู้ควบคุมเรื่องระเบียบวินัยเข้ามายืนนิ่งหน้าขรึมจ้องหน้า การร้องเพลงคณะจะผ่านได้อย่างไร เพราะความกดดันทำให้นักศึกษาชั้นปีหนึ่งร้องเพลงคณะไม่ได้ พี่แกนวินัยต้องลงโทษพี่แกนเชียร์ เมื่อแกนเชียร์ถูกลงโทษสร้างความไม่พอใจแก่นักศึกษาปีหนึ่งหลายคนพยายามที่จะยกมือขอความเห็นใจจากพี่แกนวินัย แต่ไม่เป็นผล พี่แกนวินัยสั่งให้ทุกคนอยู่ในความสงบและนั่งดูพี่แกนเชียร์ถูกลงโทษด้วยการลุกนั่ง สภาวะตอนนั้นกดดันมาก ทุกคนมองดูพี่แกนเชียร์ถูกลงโทษด้วยความแค้นใจ น้ำตาไหล ทำอะไรไม่ได้ ส่วนพี่แกนหอ และพี่แกนวินัย ที่ยืนข้างน้องได้แต่ยืนขรึม ไร้ความเมตตา เหมือนไม่มีอะไรเกิด ยิ่งกดดันมาก ความอดทนก็ยิ่งลดน้อยลง นักศึกษาปีหนึ่งบางคนเกิดเป็นลม บางคนที่มีแรงกดดันเยอะลุกขึ้นส่งเสียงกรี๊ด และ บอกให้ พี่แกนวินัย หยุดการทำกิจกรรมนี้ เมื่อมีคนเริ่ม หลายๆคนก็เริ่มที่จะยืนขึ้นแสดงความคิดเห็น แบบไม่กลัวการลงโทษจากแกนวินัย ไม่นานนัก หัวหน้าแกนสั่งให้ทุกคนอยู่ในความสงบ แล้วไฟในห้องประชุมเชียร์ก็ดับ เกิดเป็นแสง สี เสียง และเพลง ที่บอกว่า พี่ทุกคนขอโทษที่ทำให้น้องตกใจ พี่แกนวินัย ดูโหด เพราะรักน้อง อยากให้น้องมี่ระเบียบวินัย พี่ทุกคนหวังดี และกลายเป็นว่า จากกิจกรรมที่ดูอึดอัดกลายเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน พวกพี่แกนต่างๆกำลังเซอร์ไพรซ์เฉลยแกนวินัย โดยที่ไม่ได้คิดเลยว่า พวกเขากำลังเล่นอยู่กับความรู้สึกและชีวิตของพวกนักศึกษาปีหนึ่งปีนี้
เหตุการณ์ผ่านไปไม่ถึงข้ามคืน เลิกกิจกรรมไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ในโลกโซเชี่ยลก็เต็มไปด้วย รูปภาพและข้อความต่างๆที่ติการกระทำของแกนนำคณะในการประชุมเชียร์โดยนักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมนั่นเองทางข้อความบางส่วนได้โพสต์ว่า
“พี่ไม่รู้หรือว่าการกระทำแบบนี้มันทำให้เสียความรู้สึกและความน่านับถือ การกระทำของพวกพี่มีผลกับชีวิตหลายๆคน เพื่อนบางคนต้องเป็นลม บางคนก็เกิดอาการช็อค แม้จะทำเซอร์ไพรซ์แทนการง้อทุกอย่างก็ไม่ดีขึ้น”
ข่าวดังไปทั่วคณะ อาจเกือบทั่วรั้วมหาวิทยาลัย ข่าวนี้สร้างความตึงเครียดให้แก่บรรดาแกนนำคณะเป็นอย่างมาก ทางแกนนำได้แต่ออกมาขอโทษ แต่ไม่มีการรับผิดชอบจากผู้ใหญ่ในคณะแต่อย่างใด ทำให้กิจกรรมบางอย่างต้องยกเลิกไปและกิจกรรมบางอย่างต้องเลื่อนระยะเวลาออกไป
และจากเหตุการณ์นี้ทางผู้สื่อข่าวเด็กหลังห้องก็ได้ขอสัมภาษณ์กับหนึ่งในรุ่นพี่แกนวินัยได้บอกว่า “กิจกรรมประชันเชียร์ เป็นหนึ่งกิจกรรมที่ถือว่าผลตอบรับแรงมาก เพราะน้องส่วนใหญ่เสียความรู้สึกและมองพี่ๆแกนวินัยไปในทางลบ แม้จะมีการเฉลยแกนและขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ตาม ถือเป็นบทเรียนหนึ่งในชีวิตที่พิสูจน์การทำงาน โดยก่อนที่จะมีการจัดกิจกรรมจะได้มีการประชุมกันแล้วว่าตั้งใจจะจัดให้รูปแบบออกมาดี แต่ผลออกมาในทางนี้ก็คงต้องรับคำวิพากวิจารย์และขอโทษอีกครั้งกับเรื่องที่เกิดขึ้น” ส่วนทางเพื่อนๆนักศึกษาปีหนึ่งก็ได้ให้สัมภาษณ์กับเรื่องนี้ว่า “เป็นกิจกรรมที่กดดันมาก บางคนถึงขั้นแอนตี้กับพี่บางคนแต่บางคนก็ปกติเพราะคิดว่าเป็นแค่กิจกรรม ส่วนตัวตนเองก็ไม่ได้มีความพอใจแต่อยากให้กิจกรรมออกมาในรูปแบบที่สร้างสรรค์กว่านี้”
จากภาพรวมของกิจกรรมดูเหมือนนักศึกษาปีหนึ่งเริ่มที่จะมีความคิดและโตกว่ากรอบต่างๆที่พี่ๆได้กำหนดเอาไว้และการจัดกิจกรรมประชันเชียร์ของคณะในครั้งนี้มีความสำเร็จตามจุดประสงค์ไม่เกิน 80% ได้บทเรียนชีวิตสำหรับรุ่นพี่ไปตามๆกันอีกทั้งยังมีผลกระทบเรื่องความสัมพันธ์ที่ SOTUS ก็อาจจะใช้ไม่ได้ผลอีกด้วย
- 27 views