Skip to main content

เปิดข้อเสนอนักศึกษาจากเวที ‘สานพลังนักศึกษาเพื่อปฏิรูปประเทศไทย’ แนะควรจัดทำกระบวนการสรรหา เพื่อค้นหานักการเมืองที่ดี ชี้ไม่ควรกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของนักการเมือง ใช้หลักทศพิธราชธรรม ฯลฯ เวทีเงียบเหงาไร้เงานักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมือง

 

ภาพบรรยากาศเวทีบางส่วน ที่มาภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

23 ธ.ค.2557 จากที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดเวทีเสวนา สานพลังนักศึกษาเพื่อปฏิรูปประเทศไทย ที่จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 20 -22 ธ.ค. 57 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์  โดยเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา’ เผยแพร่ข้อสรุปจากเวที "สานพลังนักศึกษา เพื่อปฏิรูปประเทศไทย" ดังนี้

ประเด็นระบบการศึกษาที่ดี ซึ่งแต่ละกลุ่มเสนอประเด็นสำคัญดังนี้

1. ปรับปรุงระบบคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น มีมาตรฐานการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐานเพื่อให้นำมาใช้ได้ในชีวิตจริง

2. มีการสอนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ เน้นให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็นมากกว่าท่องจำ รวมทั้งสอดแทรกคุณธรรมและจริยธรรมให้กับเด็ก ทำให้นักเรียนนักศึกษาได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมครอบคลุมทั้งผู้ยากจนและผู้ด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา

3. ปรับปรุงมาตรฐานโรงเรียนรัฐบาลให้เทียบเท่าเอกชน ปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีมาตรฐานเดียวกัน

4. จัดสรรงบประมาณในส่วนการเรียนการสอนให้มากขึ้น จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนท้องถิ่นให้เข้ากับภูมิภาคนั้นๆ

5. ส่วนของการพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา พัฒนาครูผู้สอนให้มีคุณภาพ ต้องมีการประเมินเพื่อปรับปรุงแก้ไข โดยเน้นการประเมินด้านจรรยาบรรณครู รวมทั้งปรับเงินเดือนครู เพื่อสร้างแรงจูงใจ

6. สถาบันการศึกษาต้องปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง

7. จัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมและพัฒนาระบบการศึกษา มีระบบที่ตรวจสอบมาตรฐานระบบการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

8. ควรกำหนดนโยบายการเรียนฟรีให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาทุกระดับชั้นตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษา ควรทำให้เป็นนโยบายการเรียนฟรีอย่างแท้จริง

9. เพิ่มทักษะการสื่อสารและการใช้ภาษา ให้นำไปใช้ได้จริง

ประเด็นด้านพลเมืองที่ดี เสนอประเด็น มีปัญญาความรู้ความสามารถ มีคุณธรรม จริยธรรม โดยสร้างจิตสำนึกให้แก่ตนเอง รวมทั้งเผยแพร่คุณธรรม จริยธรรมด้วย

ประเด็นด้านการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น มีดังนี้

1. สร้างกฎหมายที่สามารถใช้ในการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นได้อย่างแท้จริง

2. ควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ

3. จัดตั้งองค์การนักศึกษาเพื่อต่อต้านการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม

4. ปรับโครงสร้างระดับภาครัฐและภาคเอกชนให้เข้มแข็ง ปรับโครงสร้างการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมและทั่วถึง

5. ทุกคนมีหน้าที่ในการตรวจสอบทุจริตคอรัปชั่นทุกรูปแบบ การตรวจสอบเป็นหน้าที่ของทุกคน

ประเด็นระบบการเมืองและนักการเมืองที่ดี เสนอประเด็นดังนี้

1. ระบบการเมืองต้องปราศจากการทุจริตคอรัปชั่น

2. จัดตั้งองค์กรนักศึกษาเพื่อตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น

3. จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ร่วมกับภาคประชาชน ในการใช้งบประมาณของรัฐ

4. จัดตั้งชมรมต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นในระดับเยาวชน

5. ต้องมีภาวะความเป็นผู้นำ มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรมและจริยธรรม เป็นนักการเมืองอย่างมืออาชีพ

6. นักการเมืองควรมาจากประชาชนทั่วไป

7. ควรจัดเวทีเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

8. ไม่ควรกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของนักการเมือง มีบทลงโทษนักการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม

9. ใช้หลักทศพิธราชธรรมในการปกครองบ้านเมือง

10. จัดทำ MOU ทางสังคม กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง

11. ควรจัดทำกระบวนการสรรหา เพื่อค้นหานักการเมืองที่ดี

12. นักการเมืองต้องทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

 

 

 

วันเดียวกัน ทีมข่าววิทยุรัฐสภา รายงานบทสัมภาษณ์ของ ประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ระหว่างร่วมเวทีเสวนาดังกล่าว โดยประสาน กล่าวว่า เวทีเสวนาในครั้งนี้ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เพราะได้รับการตอบรับจากนักศึกษาเป็นอย่างดี และได้รับข้อมูลโดยตรงจากผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา ซึ่งถือเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปประเทศ และประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ และนอกจาก สปช. จะเปิดเวทีรักฟังความเห็นจากนิสิตนักศึกษาแล้ว ก็จะมีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชนควบคู่ไปด้วย ต่อเนื่องตลอดปี ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติคาดหวังว่า นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้จะนำความรู้ที่ได้ไปขยายผล ร่วมกันเดินหน้าปฏิรูปประเทศ อย่างไรก็ตาม สปช. ได้ส่งหนังสือเชิญไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเชิญผู้นำนักศึกษาเข้าร่วมแสดงความเห็น ส่วนนักศึกษาที่มีความเห็นต่างจะเข้าร่วมหรือไม่ อยู่ที่ความสมัครใจ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถส่งความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศมายัง สปช.ได้ จนถึง ก. ย. 58 ส่วนความเห็นยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่งความเห็นมาที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ถึงก่อน 18 เม. ย. 58

ขณะที่ มติชนออนไลน์รายงานถึงเวทีดังกล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบพบว่าไม่มีรายชื่อของนักศึกษาที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองเข้าร่วม โดยทางคณะอนุกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นยินดีรับฟังทุกความคิดเห็น แต่ถ้าหากนักศึกษาที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ประสงค์ที่จะเข้าร่วม ก็สามารถส่งความเห็นมายังคณะอนุกรรมาธิการฯได้