Skip to main content

อ่านบทแถลงการณ์ของขบวนการนักศึกษาในอังกฤษ ผู้เรียกร้อง การศึกษาฟรี อย่างเต็มรูปแบบ -- “เราพูดถึง free education มิใช่แค่ในแง่ของเงิน แต่ในแง่ของการปลดปล่อย”

รูปภาพ:  นักศึกษาเดินขบวนผ่านเวสท์มินสเตอร์ในเดือนพฤศจิกายน 2012 (ภาพโดย Oli Scarff/Getty Images)

หมายเหตุ:  แปลและเรียบเรียงมาจากบทความ “We students want free, liberated education – that’s why we’re marching” โดย Beth Redmond และ Hannah Sketchley ปรากฏในหนังสือพิมพ์ The Guardian ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 (http://www.theguardian.com/commentisfree/2014/nov/19/students-free-education-march-tuition-fees)

วันนี้(19 พ.ย.) นักศึกษาจากทั่วประเทศจะมาเดินขบวนเรียกร้อง “free education” จากรัฐสภา พวกเราเรียกร้องการยกเลิกระบบกู้ยืมเงินนักศึกษา การสิ้นสุดของระบบที่ขึ้นอยู่กับค่าเล่าเรียนและกลไกตลาด และห้ามมิให้มีการตัดงบประมาณสำหรับการศึกษาอีก นอกจากเรื่องการเงินแล้ว เราจะเดินขบวนเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบที่การศึกษามีไว้เพื่อเตรียมตัวสำหรับโลกแห่งการทำงาน ให้กลายเป็นเป็นระบบที่บริหารอย่างเป็นประชาธิปไตยด้วยตัวนักศึกษาและแรงงานเอง

ในสี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ลงโทษนักศึกษาที่ลุกขึ้นสู้เพื่อการปฏิรูประบบการศึกษาแบบถอนรากถอนโคนอย่างต่อเนื่อง แต่เราจะไม่ไปไหน เราต้องมีระบบการศึกษาที่รับใช้ความต้องการของคนจากทุกๆพื้นหลังทางสังคม แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลปัจจุบันมุ่งสนใจที่จะสร้างระบบเพื่อคนรวย ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนความเหลื่อมล้ำในสังคม

แต่พรรคที่เป็นปัญหามิใช่แค่ Tories (พรรคอนุรักษ์นิยม) เท่านั้น ณ ตอนนี้ไม่มีพรรคการเมืองกระแสหลักพรรคใดเลยที่เสนอ free education ในรูปแบบที่พวกเราจินตนาการ ถึงแม้ว่ามันจะต้องเป็นนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางก็ตาม ในโพลล์ที่ทำการสำรวจในปีนี้ ผู้ตอบถึง 96% ที่สนับสนุนระบบภาษีที่มีความก้าวหน้ามากกว่านี้  เสียงสนับสนุนอันกว้างขวางในการเก็บภาษีคนรวยเพื่อนำเงินมาเป็นทุนสำหรับการศึกษาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่ข้อเสนอของพรรคแรงงานในปัจจุบันคือการลดค่าเล่าเรียนให้เหลือ 6,000 ปอนด์ (300,800 บาท) และในขณะเดียวกันก็สร้างระบบสวัสดิการที่มีความเข้มงวดอย่างมาก ทำให้นักศึกษาต้องถูกตรวจสอบสถานภาพการเงินตลอดจนกว่าจะมีอายุ 25 ปี นี่มิได้เป็นการรับฟังเสียงของพวกเรา แต่เป็นการหาทางเพื่อชดใช้เงินมหาศาลที่เสียไปกับระบบกู้ยืมเงินนักศึกษาที่ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ เพราะนักศึกษาไม่สามารถจ่ายเงินคืนได้

การเคลื่อนไหวเพื่อ free education มิได้เป็นการถกเถียงกันระหว่างรุ่นต่อรุ่น แต่เป็นปฏิกิริยาตอบโต้สงครามชนชั้นเต็มรูปแบบที่ผู้อยู่ในอำนาจได้กระทำกับกลุ่มชายขอบในสังคม  Free education นั้นเป็นสิ่งที่มากกว่าการยกเลิกค่าเทอม การทำให้ระบบการศึกษามีความเป็นระบบตลาด กำลังทำให้สถาบันของพวกเรากลายเป็นสถานศึกษาหวังผลกำไรที่มาแข่งขันกัน หลายแห่งได้ปิดรายวิชาที่ถูกตัดสินว่าไม่ให้ผลกำไรเพียงพอ หรือใช้เงินหลายล้านในการสร้างแบรนด์ใหม่ให้กับสถาบันของตนเอง ในเวลาเดียวกันก็ทำการตัดบริการที่จำเป็นต่อนักศึกษาและเงินอุปถัมภ์ โดยอ้างว่ามีเงินไม่เพียงพอ

เงินเดือนและอำนาจของผู้บริหารระดับสูงในภาคการศึกษาระดับสูง อยู่เหนือการควบคุมและมีสถาบันการศึกษาในประเทศอังกฤษจำนวนน้อยนิดเท่านั้นที่ยังสามารถรักษาโครงสร้างการบริหารจัดการที่มีความเป็นประชาธิปไตย หรือนำโดยนักวิชาการอยู่ การตัดสินใจแทบทุกอย่างเกิดขึ้นในหมู่ผู้บริหารที่ได้รับเงินเดือนจำนวนมาก รองอธิการบดีบางคน ได้เงินตอบแทนเพิ่มขึ้นถึง 400,000 ปอนด์ (20,550,000 บาท) ในขณะที่เจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัยถูกตัดเงินเดือน และหอพักมหาวิทยาลัยมีค่าเช่าแพงขึ้น

นื่คือสาเหตุที่ทำให้เราเรียกร้องไม่เพียงแต่การยกเลิกค่าเทอมมหาวิทยาลัยหรือการนำ education maintenance allowance (เงินสนับสนุนเพื่อบำรุงการศึกษา) มาใช้ใหม่ แต่เป็นบางสิ่งที่ดีกว่าในเชิงคุณภาพ เราไม่มีความต้องการที่จะสร้าง “ยุคทอง” ที่ไม่เคยมีอยู่แล้วขึ้นมาใหม่ เราพูดถึง free education มิใช่แค่ในแง่ของเงิน แต่ในแง่ของการปลดปล่อย

การประท้วงในวันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่ง free education นั้น เราต้องมองดูตัวอย่างของการเคลื่อนไหวนักศึกษาในที่อื่น เช่น ในเยอรมนี ซึ่งได้สร้างแนวร่วมที่กว้างขวางและเป็นปึกแผ่น และได้ทำการต่อสู้เป็นเวลาสิบปีกับค่าเทอม  Free education มิใช่สิ่งที่เราจะทำได้ในวันเดียว เราจะได้รับมันมาด้วยการเข้ายึดมหาวิทยาลัย การสไตรค์โดยนักศึกษาและแรงงาน และการรวมกลุ่มกันในสถานที่ทำงานและชุมชนของพวกเรา

วิธีเดียวที่จะเอาชนะการทำให้การศึกษาของพวกเราเป็นเอกชน (Privatization) นั้น ก็ด้วยการเคลื่อนไหวที่เข้าใจว่า free education มิใช่สิ่งที่ต้องต่อสู้เฉพาะในสามหรือสี่ปีที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนต้องร่วมกันต่อสู้ให้ได้มันมา