Skip to main content

ที่ประชุมอธิการบดีฯ มีมติเห็นชอบให้ ปีการศึกษา 59  ให้ทั้ง 27 มหาวิทยาลัยดำเนินการรับตรงกลางร่วมกัน โดยใช้ข้อสอบกลาง เชื่อรับนักศึกษามีความสมบูรณ์ขึ้น และนักเรียนไม่ต้องวิ่งรอกสอบในทุกมหาวิทยาลัยอีกต่อไป       

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 57 รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ในฐานะรักษาการประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ทปอ. ว่า ที่ประชุมมติเห็นชอบให้ในปีการศึกษา 2559 มหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก ทปอ. ทั้ง 27 แห่งดำเนินการรับตรงกลางร่วมกันโดยใช้ข้อสอบกลางที่พัฒนามาจากข้อสอบสามัญ 7 วิชา แต่จะเพิ่มอีก 2 วิชา ได้แก่ วิชาคณิตศาสตร์ 2 และวิทยาศาสตร์ทั่วไป รวมเป็นข้อสอบกลาง 9 วิชาเพื่อรองรับนักเรียนที่จบสายศิลป์จากเดิมจะเน้นสายวิทย์

ทั้งนี้ จากนี้ คณะ/สาขาของมหาวิทยาลัยต่างๆ จะต้องไปกำหนดสัดส่วนและองค์ประกอบที่จะใช้ในการคัดเลือกว่ามีอะไรบ้าง และประกาศให้นักเรียนทราบ เพราะฉะนั้นในการรับตรงกลางนั้น นักเรียนทุกคนไม่จำเป็นต้องสอบทุกวิชา แต่สามารถเลือกสอบได้เฉพาะวิชาที่ต้องการนำคะแนนไปยื่นเพื่อเข้าศึกษาต่อในคณะ/สาขาที่ต้องการเท่านั้น

รศ.ดร.ประดิษฐ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การรับตรงกลางร่วมกันครั้งนี้ ไม่ได้ใช้เฉพาะคะแนนข้อสอบกลาง 9 วิชาเท่านั้น โดยมหาวิทยาลัยยังสามารถกำหนดองค์ประกอบของคะแนนอื่นๆ มาใช้เพื่อคัดเลือกเพิ่มเติมได้เหมือนเดิม ทั้งคะแนนการทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และคะแนนการทดสอบความถนัดทางวิชาวิชีพ/วิชาการ หรือ PAT และคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) และที่ผ่านมา ทปอ. ได้ขยับเวลาการทดสอบต่างๆ ให้อยู่ช่วงเวลาใกล้กัน โดยการสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 1 สอบในช่วงเดือนพฤศจิกายน ,การสอบรับตรงกลาาง สอบเดือนมกราคม และการสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 2 สอบเดือนมีนาคม ซึ่งนักเรียนสามารถนำคะแนนทั้งหมดไปใช้ได้ทั้งการรับตรงกลางผ่านระบบเคลียริงเฮาส์ ของสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) ซึ่งเด็กจะต้องเลือกว่าจะเรียนในคณะที่สอบรับตรงได้หรือไม่ หากไม่ก็จะต้องสละสิทธิ์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาไปกันที่คนอื่น จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา หรือแอดมิชชันต่อไป

“เชื่อว่าระบบนี้จะทำให้การรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยมีความสมบูรณ์ขึ้น และนักเรียนไม่ต้องวิ่งรอกสอบ ในทุกมหาวิทยาลัยอีกต่อไป ผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากลงได้ เพราะต่อไป นักเรียนจะสอบเพียงครั้งเดียว แต่สามารถนำคะแนนไปยื่นเข้าศึกษาต่อไปทั้งระบบการรับตรงและแอดมิชชัน” รศ.ดร.ประดิษฐ์ กล่าวและว่า ส่วนระบบโควตา และโครงการพิเศษต่าง ๆ ผู้มีความสามารถทางด้านกีฬา ดนตรี ยังคงมีอยู่

 

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์, Voice TV