Skip to main content

รายงานบทสัมภาษณ์ ‘ไนซ์’  นักเรียน ม.5 เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ชวนทำความรู้จักเยาวชนรุ่นใหม่ ว่าทำไมถึงออกมาต่อต้านค่านิยม 12 ประการ อ่านจดหมายถึงผู้นำ 14 ตุลา และติดป้ายต่อต้านในวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา

ในที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2557 มีนักเรียนมัธยมตัวแทนจากกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท รวมตัวหน้ากระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการใช้หลักค่านิยมไทย 12 ประการที่ชี้นำความคิดเยาวชนไทย โดยตัวแทนของกลุ่มได้อ่านบทกลอนชื่อ อาขยานถึงท่านผู้นำ ด้วยรักและหวังดี มีใจความคือ ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลพยายามสร้างชุดความดีชุดเดียวให้คนนับถือ เพราะคนมีความหลากหลาย ควรยอมรับและอยุ่ร่วมกัน (อ่านรายะเอียดเพิ่มเติม : เยาวชน ‘การศึกษาเพื่อความเป็นไท’ จี้หยุด12ค่านิยม แนะเน้นใช้เหตุผล)
 
คลิปวิดีโออาขยานถึงท่านผู้นำ
นอกจากนี้ในวันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม 2557 เนื่องในวัน Global Education Strike ทางกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทได้ออกติดป้ายตามที่ต่างๆในกรุงเทพฯเพื่อแสดงออกต่อความไม่เห้นด้วยของค่านิยม12ประการนอกจากนี้ยังสามารถร่วมกิจกรรมและติดตามภาพความเคลื่อนไหวต่างๆได้เพิ่มเติมที่ https://www.facebook.com/hashtag/thailandeducationstrike
เด็กหลังห้องขอพาทุกท่านมารู้จักกับผุ้นำการคัดค้านค่านิยม 12 ประการในครั้งนี้ เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท  น.ส. ณัฐนันท์ วรินทรเวช  (ไนซ์)  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้ปีที่ 5 โรงเรียนเตรียมอุมดศึกษา
ณัฐนันท์ วรินทรเวช  (ไนซ์) 
 
 

เด็กหลังห้อง: ทำไมถึงไม่เห็นด้วยกับค่านิยมหลักของไทย 12 ประการ?

ไนซ์ เรามองว่าค่านิยมควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล หรือตัวสังคมเอง โดยผ่านการปฏิบัติ ลองผิดลองถูกจนได้ข้อสรุปว่าสิ่งนี้มันเวิร์คสำหรับตัวเรา หรือสังคมของเรา ไม่ใช่สิ่งที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเห็นว่าดี แล้วจะมายัดเยียดให้คนอื่นๆในสังคมเห็นตามด้วย ห้ามถาม ห้ามสงสัย ห้ามคิดขัดแย้ง ดังนั้นการยัดเยียดความคิดให้นักเรียนโดยไม่เปิดโอกาสให้เขาได้ตั้งคำถาม ได้โต้แย้งกับความคิดนั้นๆ จึงถือเป็นการบ่อนทำลายนิสัยการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลของนักเรียน กลายเป็นการสอนให้เด็กเชื่องและสยบยอมต่อผู้มีอำนาจแบบสุดจิตสุดใจ  เรามองว่าชุดความเชื่อว่าเหล่าผู้มีอำนาจไม่สามารถมาบังคับให้เราคิดเห็นเหมือนท่านได้ ตราบใดที่การกระทำของเราไม่ผิดกฎหมาย

ได้คุยกับเพื่อนๆนักเรียนบ้างไหมว่าคิดยังไงกับค่านิยมนี้และที่กำลังจะบังคับท่องในโรงเรียน?

ความเห็นของเพื่อนๆก็แตกออกเป็นหลายกลุ่ม แต่นักเรียนไทยส่วนใหญ่ปรับตัวง่าย รู้จักเอาตัวรอด ผู้ใหญ่อยากให้ท่องอะไรก็ท่องตามเพราะเขาอยากได้คะแนน เอาเกรดสวยๆมาข่มกัน มีบ้างที่ตั้งคำถามกับค่านิยม 12 ประการ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สนใจกับประเด็นนี้ อาจแค่รู้สึกว่ามีภาระงานเพิ่มอีกหนึ่งอย่างเท่านั้น

ในเทอมหน้าหากมีการบังคับให้ท่องทุกโรงเรียนจริงๆ ทางกลุ่มมีแนวทางอย่างไรบ้าง?

คงจะสู้จนถึงที่สุด ตัวเราเองคงจะทำอารยะขัดขืน (ในมุมมองอาจารย์คือดื้อแพ่ง) คือหากบังคับให้ท่องเราคงต้องปฏิเสธโดยสิ้นเชิง และพยายามรณรงค์ให้มีการยกเลิกโดยเร็ว ชี้ให้สังคมเห็นถึงพัฒนาการของการศึกษาที่ผิดพลาด ซึ่งหากปล่อยไว้การศึกษาไทยจะไม่สามารถพัฒนาไปในทางที่ควรได้ แต่กลับถอยหลังทำสิ่งผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีแนวคิดปลูกฝังค่านิยมในไทย แต่ผู้มีอำนาจกลับไม่ได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีตเลยว่าวิธีนี้ไม่ได้ผล ซ้ำร้ายกลับเพิ่มจำนวนข้อของค่านิยมมากขึ้นเรื่อยๆอีกด้วย

เพซบุ๊กแฟนเพจ 'กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท'

ช่วยนิยามคำว่าการศึกษาเพื่อความเป็นไทหน่อย?

การศึกษาเพื่อความเป็นไท คือการศึกษาที่เชื่อในความหลากหลายของนักเรียนและเน้นอิสรภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความคิดและศักยภาพเฉพาะตัว ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้พัฒนาศักยภาพด้านที่ตนเองถนัดโดยไม่เน้นหนักอยู่ที่หลักสูตรแกนกลาง ที่สำคัญต้องไม่ครอบงำนักเรียนด้วยความรุนแรงและความกลัว เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของนักเรียนมากกว่าชื่อเสียงของสถาบันการศึกษา

คิดอย่างไรกับการศึกษาไทย?

สิ่งที่นักการศึกษาไทยมองข้ามไปอย่างมากคือความสำคัญของนักเรียน เขามักจะมองว่านักเรียนเป็นแค่เยาวชน มีความคิดความอ่านที่ไม่ดีพอจึงไม่สนใจสิ่งที่เยาวชนเรียกร้องเลยแม้แต่น้อย เขาคิดแบบเหมารวมว่านักเรียนไทยคิดไม่เป็น ที่ออกมาเรียกร้องก็แค่รักสบาย อยากเท่ห์ อยากเรียกร้องความสนใจ โดยที่เขาไม่คิดจะฟังในสิ่งที่เราพูดเลยด้วยซ้ำ แนวคิดที่ละเลยความสำคัญของผู้เรียนเช่นนี้อันตรายอย่างมากต่อการศึกษา เพราะหากไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของผู้เรียนแล้ว โรงเรียนจะสามารถสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพได้อย่างไร?

นอกจากนี้สามารถอ่านความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่านิยม12ประการได้จากแฟนเพจตามลิ้งนี้ https://www.facebook.com/notes/กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท/faqs-คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ-ค่านิยม-12-ประการ/655113797939772