editor
15 October 2014
รายงานเสวนา "ห้องเรียนประชาธิปไตย : บทที่ 2 (คาบชดเชย) จาก 14 ตุลาถึงฮ่องกง ขบวนการนักศึกษากับประชาธิปไตย" โดยกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) ผ่านไป 41 ปีแล้ว สำหรับวันที่ 14 ตุลา 2516 ในสถานการณ์เช่นนี้ได้เห็นพลังของนักศึกษาอีกครั้งในการดีเบต อภิปรายถอดบทเรียนประชาธิปไตยในต่างประเทศ
เปิดตัววิทยากรหน้างาน ซึ่งได้แก่ นายธรรมชาติ กรีอักษร นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มธ. นายปิยรัฐ จงเทพ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มธ. นายวรวุฒิ บุตรมาตร นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มธ. และนายธันย์ ฤทธิ์พันธ์ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ดำเนินรายการโดยนายรังสิมันต์ โรม นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มธ.
ภาพรวมของการเสวนาผ่านไปได้ด้วยดี มีผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาเป็นจำนวนมากทั้งนักศึกษา ประชาชน เนื่องจากงานเสวนาที่จัดขึ้น ได้มีการขออนุญาตกับทางคสช. และไม่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองปัจจุบันหรือรัฐบาลคสช.แต่อย่างใด
เสวนาครั้งนี้จัดขึ้นชดเชยจากงานเสวนา ห้องเรียนประชาธิปไตย : บทที่ 2 การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศซึ่งไม่สามารถจัดงานจนจบ เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่กำลังทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าคุมตัววิทยากรและนักศึกษาผู้จัดงานฐานฝ่าฝืนอัยการศึกขัดกับนโยบายของ คสช. ที่ต้องการให้ประเทศสงบเรียบร้อย เกรงว่ากิจกรรมดังกล่าวจะสร้างความแตกแยก ก่อนปล่อยในที่สุด
โดยตั้งแต่เวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้นำกำลังเจ้าที่ควบคุมฝูงชนพร้อมโล่ ประมาณ 10 นาย นั่งมาในรถตู้ตำรวจ และจอดเฝ้าสังเกตการณ์บริเวณลานโพธิ์ ส่วนบริเวณใกล้เคียงกัน เช่น ประตูฝั่งท่าพระจันทร์ มีตำรวจสายตรวจยืนประจำการที่ประตู รวมทั้งทราบว่ามีตำรวจประจำอยู่ทุกประตูเข้าออกของมหาวิทยาลัย ต่อมาทางผู้จัดได้ย้ายสถานที่จากลานโพธิ์ ไปที่ห้องประชุมประกอบหุตสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ 1 ชั้น 3
ในการเสวนามีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่มีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ไม่ยอมรับรัฐบาลเผด็จการทหารว่ามีความเหมือนการชุมนุมเรียกร้องสิทธิทางการเมืองของนักศึกษาและประชาชนในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง แม้ว่าจะเกิดในช่วงเวลาและสภาพสังคมที่แตกต่างกัน แต่ก็ได้เห็นพลังของนักศึกษาที่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและกำหนดอนาคตประชาธิปไตยในประเทศ
นายปิยรัฐ จงเทพ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มธ. ได้กล่าวถึงขบวนการนักศึกษาฮ่องกงที่มีจุดเริ่มต้นมาจากหลายกลุ่มและเติบโตมานาน โดยไม่เคยสัมผัสประชาธิปไตยคล้ายกับนักศึกษาในยุค 14 ตุลา 2516 และเสนอประเด็นที่ว่า รัฐบาลจีนอาจใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม โดยจะหาวิธีที่สร้างความชอบธรรมแก่รัฐมากที่สุด เช่น อ้างเรื่องความปรองดอง ขจัดความขัดแย้ง คืนความสุข เพราะจีนคำนึงถึงความมั่นคงเป็นหลักมากกว่าภาพลักษณ์ต่อต่างประเทศ
นายธรรมชาติ กรีอักษร นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มธ. ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ปฎิวัติร่มในจีนที่ปมขัดแย้งมาจากการต้องการสิทธิในการเลือกตั้งผู้นำฮ่องกง ทั้งยังมีห่วงโซ่วิกฤตเศรษฐกิจต่อเนื่องจากเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งรัฐบาลจีนอยู่ได้ด้วยความมั่นคงทางเศรษฐกิจและกล่อมเกลาด้วยแนวคิดชาตินิยมแทนการใช้ความรุนแรงซึ่งส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของรัฐบาลจีนในระยะยาว ในขณะกระแสหลักของโลกเวลานี้คือประชาธิปไตย
นักศึกษาต่อสู้โดยไม่ใช่ความรุนแรง ผ่านกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เช่น สติกเกอร์ ป้ายรณรงค์ต่างๆ ทั้งยังเคลื่อนไหวผ่าน Social Network พยายามผลักดันให้เป็นประเด็นนานาชาติ ในขณะที่รัฐเข้าแทรกแซพื้นที่โดยตัดสัญญาณ Wifi บล็อกSocial Networkต่างๆ ซึ่งผลสะเทือนจากปฏิวัติร่มทำให้ต่างชาติให้ความสนใจ และจีนได้รับการกดดันจากต่างชาติ รวมถึงส่งผลต่อกระแสการเรียกร้องเอกราชในไต้หวัน
ด้านนายวรวุฒิ บุตรมาตร นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มธ. ได้กล่าวถึงการสิ้นสุดของพลังนักศึกษาในช่วง 6 ตุลา 2519 ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พลังนักศึกษาเบาลง ทั้งการแตกแยกของขบวนการนักศึกษา รวมถึงกระแสความคิดการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะมีการตั้งกลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้านขึ้นมาต่อต้าน ยังได้รับการปิดกั้นเสรีภาพจากเผด็จการรัฐประหารช่วง 6 ตุลา 2519 สำหรับขบวนการนักศึกษาในสมัย 14 ตุลา 2516 กับนักศึกษาในฮ่องกงในปัจจุบันเกิดขึ้นเพราะพวกเขาคำนึงถึงวันข้างหน้าว่าหากไม่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยแล้วใครจะเริ่ม ส่วนในกรณีฮ่องกงมองว่า จีนจะปราบปรามผู้ชุมนุมในฮ่องกงแต่จะเป็นรูปแบบการข่มขู่
นายธันย์ ฤทธิ์พันธ์ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่าตะวันตกค่อนข้างวางเฉยกับเหตุการณ์ในฮ่องกง เนื่องจากมองว่าเป็นปัญหาภายในของจีน และการชุมนุมในฮ่องกงเป็นการต่อสู้กับเผด็จการโดยไม่ใช้ความรุนแรง แสดงให้เห็นว่าจิตวิญญาณประชาธิปไตยยังไม่ตาย มีการส่งต่อจากคนรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่ง
- 8 views