ชวนฟังเหตุผลที่ทั้ง ‘ตอย และ มิค ศนปท.” ที่ตัดสินใจผูกผ้าดำรำลึก 8 ปีการรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 พร้อมกับความกลัวและความกังวลของพวกเขา
ขณะที่ทั้งสอง และทีม ศนปท. กำลังยืนรอรับเงินสมทบทุนค่าปรับ กับประชาชนซึ่งทยอยมาเรื่อยๆ (ภาพจาก thaiscd.com)
เว็บไซต์ www.thaiscd.com ของ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) เผยแพร่บันทึกการสอบถามความรู้สึกของ น.ส.ณัฐิสา ปัทมภรณ์พงศ์ หรือ ‘ตอย ศนปท.’ คณะครุศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ว่าที่คุณครูสังคม ผู้ที่อารมณ์ดี ยิ้มแย้ม และ เป็นกันเองกับทุกคน กับ นายฐาปกร แก้วลังกา หรือ ‘มิค ศนปท.’ คณะวิศวกรรมศาสตร์ อดีต นักเรียนค่ายโอลิมปิควิชาการ สาขาเคมี ระดับรอบรองชนะเลิศของประเทศไทย ซึ่งทั้งคู่เป็นนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผ้าดำที่ทั้งคู่ติดรำลึก 8 ปี รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา บริเวณใกล้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลังจากเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ทั้งคู่ ได้ดินทางมา สน.ปทุมวัน โดยได้มีการพูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเสียค่าปรับตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 มาตรา 10 ด้วยโทษปรับ 1,000 บาท รวมทั้งสิ้น 2,000 บาท จากกรณีแขวนป้ายผ้ารำลึกถึงการการรัฐประหาร พ.ศ.2549 และนายนวมทอง ไพรวัลย์ เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : 2 นิสิตจุฬาฯ จ่ายค่าปรับ 2 พัน กรณีแขวนป้ายรำลึก 8 ปี รัฐประหาร 19 กันยา)
อะไรทำให้เราตัดสินใจนำป้ายผ้าไปแขวนบนสะพานลอย ?
ตอยบอกกับเราว่า “สะเทือนใจกับเหตุการณ์ลุงนวมทองที่ผูกคอตายต่อต้านรัฐประหารตามคำท้าทายของนายทหารท่านหนึ่ง และเป็นการรำลึก 8 ปีรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองไทย ซึ่งหลังแขวนป้ายแล้วใครจะมองเป็นบวกเป็นลบ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละบุคคล และยอมรับสิทธิในการแสดงความเห็นอย่างเสรีค่ะ”
ส่วนมิคให้คำตอบว่า “ต้องการเพียงรำลึกถึงรัฐประหารครับ”
ในเวลานั้นกลัวอะไรที่สุด หรือกังวลอะไรไม ?
ตอยกล่าวว่า “รู้เพียงว่าทำทุกอย่างอยู่บนความเสี่ยง แต่ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยค่ะ ไม่ได้กลัวหรือกังวลอะไรเป็นพิเศษเลย”
ส่วนด้านมิคให้คำตอบสั้นๆกับเราว่า “ ไม่กลัวครับ ไม่เลย”
รู้ไมว่าเป็นความผิด และอาจจะไม่ใช่แค่ปรับ ?
ตอยเธอยังตอบอย่างมั่นใจว่า “รู้ค่ะ แต่กล้าทำก็กล้ารับ และมองว่าหากต้องการให้เกิดความปรองดองในสังคมก็ต้องรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย”
“รู้ครับ แต่ก็พร้อมรับ” นั้นเป็นคำตอบคล้ายกันกับตอย สำหรับมิค
วันที่ทราบว่าจะต้องเข้ามารับทราบข้อกล่าวหา ตอนนั้นคิดอะไรเป็นอันดับแรก ?
“คิดไว้ว่าต้องโดนอยู่แล้ว แต่ดีที่ทางตำรวจเรียกไปตรงๆไม่มีการมาเล่นลับหลัง” ตอยกล่าว
ส่วนด้านมิคยังคงตอบสั้นๆว่า “คิดเพียงว่าจะให้การอย่างไรกับเจ้าหน้าที่ดี”
เป็นห่วงหรือกังวลอะไรที่สุดในเวลานั้น ?
ด้านตอยแสดงความรู้สึกว่า “กลัวคนนอกจะเดือดร้อน และได้รับผลกระทบไปด้วย”
ด้านมิคเองก็กล่าวกับเราว่า “กังวลเพียงว่าคำให้การของผมจะทำให้ใครเดือดร้อนหรือป่าว”
เพื่อนๆ ศนปท. ที่มีอยู่หลายกลุ่มเขามีความเห็นว่าอย่างไร ?
“เพื่อนๆร่วมกันทำ เพราะร่วมอุดมการณ์เดียวกัน และเป็นการเคลื่อนไหวอีกรูปแบบ ที่แตกต่างกันไปของแต่ละกลุ่ม” เธอคิดอยู่นานกว่าจะให้คำตอบกับเรา
เช่นเดียวกับมิค “เขาก็เห็นด้วยครับ เพราะเป็นมติของกลุ่มกับกิจกรรมนี้” เขากล่าว
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ จะยังทำอยู่ไม?
แน่นอนครับผู้หญิงแกร่งอย่างเธอ ให้คำตอบที่หนักแน่นกับเราว่า “.ก็คงทำ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ในใจได้”
และมิคเองก็คำตอบเป็นอื่นไม่ได้นอกจากประโยคสั้นๆว่า “ทำสิครับ ทำอยู่แล้ว”
ภาพขั้นตอนการดำเนินการ เปรียบเทียบปรับตามขั้นตอนของร้อยเวร(ภาพจาก thaiscd.com)
นอกจากนี้เว็บไซต์ ศนปท. ได้กล่าวทิ้งท้ายประกอบบทสัมภาษณ์ด้วยว่า นี้จึงเป็นบทสรุปที่ว่า ความกลัวไม่อาจจะสร้างได้ หากมีความกล้า และความกล้านั้นต้องกล้าอย่างมีสติ และคุ้มค่า นิสิตจุฬาฯทั้งสองคนนี้จึงเป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญให้กับทีม ศนปท. ได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนต่อไป เพื่อเฝ้าจับตามองการบริหารงานของคณะรัฐประหาร ชุดปัจจุบันนี้อย่างไม่ละเลิก