Skip to main content

อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเผยชาวอุดมศึกษาเสนอแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกจาก ศธ. เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาค้านแยก ชี้ตัดตอนการศึกษาส่อเกิดปัญหาตามหลัง ชงแก้กฎหมายแยกทบวงแทน

3 ก.ย.2557 ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวอุดมศึกษาทั้งในส่วนของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) และ จุฬาฯ กำลังรอดูว่ารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ คนใดจะเข้ามาดูแลงานอุดมศึกษา ซึ่งเมื่อมีความชัดเจนแล้วผู้แทนจาก ทปอ.และสถาบันอุดมศึกษา ก็จะขอเข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนางานอุดมศึกษาในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ที่เกี่ยวกับการขอแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกจาก ศธ. เป็นกระทรวงการอุดมศึกษาและวิจัย รวมถึงเรื่องต่าง ๆ ที่จุฬาฯเคยนำเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ไปก่อนหน้านี้แล้ว

ด้าน ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยกรณีที่ ทปอ. กำลังศึกษาและจัดทำโครงการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาและวิจัย เพราะมองว่าการอยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทำให้เกิดปัญหาในการทำงานว่า คงต้องขอข้อมูลจาก ทปอ.มาดูก่อนว่าเกิดปัญหาในการบริหารงานอย่างไร เพราะเห็นว่าขณะนี้มหาวิทยาลัยมีอิสระในการทำงานอยู่แล้ว และยังมองไม่เห็นว่าการบริหารงานภายใต้กระทรวงศึกษาธิการมีข้อจำกัดอะไร เพราะงานของมหาวิทยาลัยที่จะต้องเสนอผ่าน ศธ. มีเรื่องเดียวคืองบประมาณ ซึ่งต่อไปถ้า พ.ร.บ.การอุดมศึกษามีผลบังคับใช้แล้วก็จะเป็นกลไกหนึ่งที่เข้ามาช่วยจัดสรรงบ ประมาณให้สอดรับกับความต้องการของมหาวิทยาลัย และทำให้คล่องตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำแต่ก็ต้องรอเวลาที่เหมาะสม อาจต้องศึกษาแนวทางอื่นเพิ่มเติม โดยแนวทางที่น่าสนใจคือ เป็นทบวงอิสระที่อยู่ในสังกัด ศธ.

เลขาธิการ กกอ. กล่าวต่อว่า ส่วนการจะนำเรื่องงานวิจัยเข้ามาอยู่ในสังกัดด้วย ตนคิดว่าต้องมองภาพกว้าง โดยมีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เป็นต้น หากจะเปลี่ยนเป็นกระทรวงอุดมศึกษาและวิจัยจริงก็ต้องมองเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบก่อน เพราะเท่าที่ดูระบบการทำงานในหลายประเทศแม้จะมีการแยกอุดมศึกษาออกมาเป็นอีกหนึ่งกระทรวง แต่ก็ต้องมีจุดเชื่อมโยงเพราะถ้าแยกออกไปเลยอาจจะมีปัญหา เพราะจะทำให้ระบบการศึกษาขาดช่วง ทั้งที่ความจริงต้องสอดรับกันทั้งระดับประถมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ถ้ารวมอยู่ในกระทรวงเดียวกันข้อดีคือ จะมีการบูรณาการร่วมกัน มองภาพกว้างได้ครบวงจร ซึ่งเป็นข้อดีของการบริหารการศึกษาของประเทศ จุดไหนมีปัญหาการบริหารงานก็อาจต้องแก้ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง

เรียบเรียงจาก ไทยรัฐออนไลน์, เดลินิวส์