Skip to main content

ฟังเสียง นักศึกษาและเจ้าของหอพัก ย่านจันทรเกษม ต่อการจัดระเบียบหอพักแยกชาย-หญิง ชี้การพักร่วมกันมีความหลากหลาย ย้ำอยู่เป็นคู่ไม่มีปัญหา ขณะที่เจ้าของหอมองวัฒนธรรมเปลี่ยน ควรดูที่ความพึ่งพอใจของผู้เช่า

14 มี.ค. 2560 การจัดระเบียบหอพัก โดยเฉพาะการแยกหอพักหญิง-ชาย หลัง เม.ย.58 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่  พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.2558 ซึ่ง นิยาม “ผู้พัก” หมายความว่า ผู้ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาในสถานศึกษาในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรีและมีอายุไม่เกิน 25 ปี  ม.7 ระบุว่า พ.ร.บ.นี้ไม่ใช้บังคับแก่หอพักของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่ใช่สถานศึกษา และ ม.8 กำหนดว่า หอพักมี 2 ประเภท ได้แก่ (1) หอพักชาย และ (2 ) หอพักหญิง รวมทั้งเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.59 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบกิจการหอพัก พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยมีประเด็นการกำหนดลักษณะของหอพักต้องมีชื่อภาษาไทย ระบุประเภทห้องที่ชัดเจน ระบุจำนวนห้องพักและจำนวนผู้พักที่รับเข้าพักได้ และต้องแยกอาคารหอพักชายและหญิงเป็นสัดส่วนให้ชัดเจน อีกด้วย

จากกรณีดังกล่าว ผู้สื่อข่าวได้สำรวจความเห็นของ ผู้ใช้เช่าและเจ้าของหอพัก ย่านมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ดังนี้

น.ศ.ชี้การพักร่วมกันมีความหลากหลาย ย้ำอยู่เป็นคู่ไม่มีปัญหา

ธัญชนก จำปาเรือง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยรายหนึ่ง ย่านจันทรเกษม กล่าวว่า ตนอยู่หอรวม ไม่ค่อยเห็นด้วยเพราะถ้าทุกหอพักจดทะเบียนเหมือนเป็นการบีบบังคับให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะรับหรือไม่รับนักศึกษาซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิของเขา

ธัญชนก มองว่า ไม่ใช่ปัญหาที่จะต้องแยกเพศ แต่ควรจะไปดูว่า สาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดปัญหาทางเพศแล้วแก้ตรงจุดนั้นแทน แต่อีกด้านหนึ่งคือตนเป็นนักศึกษาเห็นพฤติกรรมวัยรุ่นมาหลากลาย เรื่องของเพศมันไม่มาสามารถมาห้ามกันได้ นักศึกษาควรจะดูแลตัวเอง มีความรับผิดชอบตัวเองให้สูงกว่าเดิมเพราะโตแล้ว เห็นหลายๆ คู่ก็อยู่ด้วยกันไม่เห็นมีปัญหาอะไร ตนเองก็มีแฟนซึ่งก็อยู่ด้วยกัน เรื่องแบบนี้อยู่ที่เราว่าจะควบคุมและจัดการตัวเองอย่างไร เหมาะสมหรือเปล่า

สุวโรจน์ บุญมา นักศึกษาชาย ย่านจันทรเกษมเช่นกัน กล่าวว่า หอพักส่วนใหญ่หลังมหาวิทยาลัยเป็นหอพักรวม ซึ่งหอที่แยกชาย-หญิง ตนคิดว่านักศึกส่วนมากก็อยากจะพักหอรวมมากกว่า ให้เหตุผลว่า บางครั้งเพื่อนจะมาพักด้วยบางอาทิตย์ หรือพ่อแม่มาหาซึ่งสะดวกสบายสามารถเข้าหอพักได้ แต่ถ้าเป็นหอพักหญิงบางหอซึ่งเป็นพ่อกับแม่หามายังไม่สามารถเข้าพักได้เลย ทั้งๆ ที่เป็นครอบครัวเดียวกัน นี้ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่นักศึกษาส่วนใหญ่เลือกที่จะพักหอรวม ในตัว พ.ร.บ. นี้เองกำหนดมาว่าจะบังคับใช้นักศึกษาที่มีอายุราว 18-25 ปีซึ่งทำให้เป็นไปได้ยากมาก เพราะนักศึกษาบางคนที่กำลังเรียนมีอายุมากกว่า 25 ปีก็มี

เจ้าของหอมองวัฒนธรรมเปลี่ยน ควรดูที่ความพึ่งพอใจของผู้เช่า

ด้านเจ้าของหอพัก ย่านจันทรเกษม กล่าวว่า  ตนทราบถึง พ.ร.บ.หอพักแยกชายหญิงนี้มาสักพักแล้ว ตนคิดว่าหากหอพักจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.แล้วจะทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการหลายเจ้า เพราะจะให้มีคนเข้ามาพักมาอาศัยอยู่ซึ่งให้เหตุผลอต่ออีกว่า ปัจจุบันนี้วัฒนธรรมมันเปลี่ยนไปมาก ใน พ.ร.บ.นี้ที่จะมาแก้ไขปัญหาก็อาจเป็นไปได้ยาก ตัวของวัยรุ่นเองที่เข้ามาพักเราจะห้ามให้เข้าอยู่ร่วมกันไม่ได้ ขึ้นอยู่กับเขาจะปฏิบัติตัวอย่างไร พ่อแม่เองก็ไม่รู้ว่าลูกมาอยู่หอนอนกับใคร

“หอผมเป็นหอรวมมีทั้งคนวัยทำงานช่วงอายุ 20-25 ปี ไม่ใช่แค่นักศึกษา การที่ผู้พักอาศัยเช่าก็ขึ้นอยู่กับความพึ่งพอใจของเขาเอง บางคนมองถึงคุณภาพของหอ ความปลอดภัย การให้บริการ สิ่งแวดล้อมรอบหอพัก ถ้าทุกหอจดทะเบียนแยกชายหญิงกันมากๆ หอพักเองก็อยู่ไม่ได้” เจ้าของหอพัก ย่านจันทรเกษม กล่าว

             

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :

ครม.ไฟเขียวเงื่อนไขหอพัก แยกชายหญิงเป็นสัดส่วนให้ชัดเจน ไม่ใกล้สถานบริการ-โรงงาน  https://prachatai.com/journal/2016/12/69335

พระราชบัญญัติ หอพัก พ.ศ.2558 http://library2.parliament.go.th/giventake/content_nla2557/law32-220458-1.pdf

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.หอพัก-แยกหอพักชาย-หญิง https://prachatai.com/journal/2014/11/56689