หลังจากเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) การอุดมศึกษาและ อาชีวศึกษาของ สนช. ที่มี นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เป็นประธาน ได้นำร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา ที่เสนอโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มาพิจารณา
ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 เม.ย. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า จากเดิมที่ ทปอ.เคยเสนอผ่านศธ. แต่ต้องชะลอไป เพราะรัฐบาลมีนโยบายไม่ให้แต่ละกระทรวงยุ่งเกี่ยวกับการปรับโครงสร้าง ว่าเรื่องนี้คงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสนช. ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการศธ. คงไม่ขัดขวางหรือไม่เห็นด้วย เพราะเดิมก็เคยมีทบวงมหาวิทยาลัยซึ่งดูแลอุดดมศึกษาอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็บอกอยู่เสมอว่า การปรับโครงสร้างของทุกกระทรวงขอให้ชะลอเอาไว้ก่อน เพื่อไม่ให้กระทบกับการพัฒนาในส่วนอื่น ๆ
แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้ยุติการดำเนินการทั้งหมด แต่อาจจะทำไว้เพื่อเสนอในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าหากจะแยกอุดมศึกษา ออกจากศธ. ควรจะต้องดูเรื่องข้อกฎหมายรายละเอียดต่าง ๆ ให้ชัดเจน จะต้องวางโครงสร้างให้ดีไม่ว่าจะเป็นการบริหารงาน การดูแลมหาวิทยาลัย และที่สำคัญต้องไม่ริดรอนสิทธิทางการศึกษา
รัฐมนตรีว่าการศธ. กล่าวต่อว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ส่ง ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา มาให้ตนพิจารณาแล้ว แต่เมื่อดูในรายละเอียดยังพบข้อสงสัยและไม่เห็นด้วยอยู่หลายมาตรา ซึ่งคงต้องมีการหารือกัน โดยเร็ว ๆ นี้จะเชิญเลขาธิการกกอ. นายกฤษณพงษ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. และปลัดศธ. มาพูดคุยว่ามีมาตราไหนที่ยังติดขัดและจำเป็นต้องปรับแก้ เพื่อให้กฎหมายดังกล่าวสามารถเดินหน้าได้ต่อไป และถ้าไม่มีข้อขัดแย้งแล้ว ตนก็พร้อมจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาทันที
“ผมเห็นด้วยที่จะมี พ.ร.บ.การอุดมศึกษา เกิดขึ้น เพราะจะช่วยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการกับมหาวิทยาลัย แต่การเขียนรายละเอียดใส่ไว้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะออกมาในรูปแบบไหน มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับใดบ้าง หรือจะเพิ่มความเข้มงวดมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องมาพิจารณาภาพรวมความเหมาะสมทั้งหมดอีกครั้ง ส่วนข้อกังวลของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ว่าพ.ร.บ.การอุดมศึกษา จะให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการศธ. มากเกินไปนั้น เท่าที่ดู กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เพิ่มอำนาจรัฐมนตรีว่าการศธ. แต่เพิ่มอำนาจคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ในการเข้าไปบริหารจัดการมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาคุณธรรม จริยธรรมในและปัญหาธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย ซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนินการสได้ แต่มหาวิทยาลัยยังมีอิสระทางวิชาการเช่นเดิม ดังนั้นมหาวิทยาลัยใดที่ไม่มีปัญหาก็ไม่น่ากังวล”
ที่มา : มติชนออนไลน์