เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา16.30-18.30 โครงการศิลป์เสวนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการในหัวข้อ“ความงามในความมืด : นางงามลาตินอเมริกาและกรุงเทพยามราตรี” โดยมี อ.ฐิติพงษ์ ด้วงคง จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ คุณวีระยุทธ ปีสาลี นักวิชาการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(ผู้เขียนหนังสือเรื่องกรุงเทพยามราตรี) เป็นผู้บรรยาย ร่วมด้วย อ.ปรีดี หงษ์สต้น เป็นผู้ดำเนินรายการ
หลังรัฐประหารวางเสวนาเหมือนกลายเป็นอาชญากรรม-ภัยต่อความมั่นคง
ก่อนที่รายการเสวนาจะเริ่มดำเนิน อ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ได้กล่าวว่า หลังจากการรัฐประหารที่บางคนเรียกว่าปฏิรูปเป็นต้นมานั้น การจัดเสวนาทุกอย่างในมหาวิทยาลัยเกือบทุกงานจำเป็นต้องขออนุญาตจากทหาร เช่นเดียวกับโครงการศิลป์เสวนาที่ต้องขออนุญาตเช่นเดียวกัน ทุกครั้งในการจัดเสวนาจึงมีทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบมานั่งฟัง ตรวจสอบอัดวีดีโอ ถ่ายรูปวิทยากร และกระทั่งผู้ร่วมฟังเสวนา โดยเฉพาะที่จับไมค์ถามวิทยากรก็มีการถ่ายภาพไว้ ราวกับว่าคนทั้งหลายนั้นกำลังก่ออาชญากรรมหรือเป็นภัยต่อความมั่นคง
เสรีภาพทางวิชาการนั้นไม่ใช่สิ่งที่นักวิชาการพยายามเรียกหาในโลกอุดมคติ แต่ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงว่าเสรีภาพเป็นที่มาของพลังแห่งปัญญาในการที่จะคิดวิเคราะห์สิ่งต่างๆซึ่งล้วนสัมพันธ์กันไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง การที่ไม่สามารถวิเคราะห์และวิจารณ์เรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ย่อมหมายความว่าองค์ความรู้ย่อมไม่สามารถพัฒนาขึ้นได้ เพราะมีกำแพงที่ขวางกั้นอยู่ อุปสรรคทางปัญญานี้เองที่เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ทำให้ประเทศนี้เกิดปัญหาขึ้น
อย่าถือว่านี่เป็นแถลงการณ์ แต่ต้องการสะท้อนว่านี่คือบรรยากาศทางวิชาการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นบรรยากาศของมหาวิทยาลัยที่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพทางความรู้
อุตสาหกรรมนางงามในลาตินอเมริกา
ต่อมาเมื่อเริ่มการเสวนา อ.ฐิติพงษ์ได้กล่าวว่า ความมืดในความหมายของตนเองนั้น ไม่ได้หมายถึงด้านมืดในสภาพจิตใจของมนุษย์ แต่หมายถึงความมืดบนเวทีการประกวดนางงาม เป็นความมืดตั้งแต่ก่อนจะขึ้นเวทีประกวดและหลังจากการประกวดจบลง และเมื่อพูดนางงามในแถบลาตินอเมริกานั้นผู้คนมักจะนึกถึงนางงามจากเวเนซุเอล่า ซึ่งกว่าจะมาเป็นนางงามที่ทุกคนเห็นนั้น เธอเหล่านั้นต้องผ่านสิ่งต่างๆมามากมาย
มีอุตสาหกรรมนางงามเกิดขึ้นในลาตินอเมริกา และมีกลุ่มคนที่เรียกว่า National Director ที่เป็นผู้ดูแลนางงามก่อนขึ้นเวที จัดหานางงามเพื่อส่งประกวดไปในเวทีต่างๆ เมื่อมองไปในพื้นที่การประกวดนางงามลาตินอเมริกา ต้องยอมรับว่านางงามลาตินมักจะมีทักษะในการเดินและสง่างาม แต่สิ่งสำคัญที่ทุกคนมักไม่รู้คือ นางงามผ่านการศัลยกรรมจนเป็นเรื่องปกติ คุณค่าความงามเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาจาก National Director นางงามถูกแปลงร่าง(Transformation)ทางชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ หน้าตา และรูปร่าง ซึ่งหมายถึงว่าการแปลงร่างนางงามนั้นไม่ได้แปลงเฉพาะภายนอกแต่แปลงไปจนถึงตัวตน(Identity)
นางงามเหล่านี้มักจะถูกฝึกให้ทำตัวเหมือนชาวยุโรปผิวชาว เพราะความงามกลายเป็นเรื่องของธุรกิจ ทุนนิยมที่มาพร้อมกับสิ่งที่เรียกว่าความเป็นสตรีเชิงยุโรป ความเป็นสตรีเชิงอเมริกัน ซึ่งการฝึกนางงามนั้นใช้เวลานานแรมปีเพื่อฝึกฝนนางงามทั้งหลายให้ถูกจริตในแต่ละเวที
ความมืดที่เกิดขึ้นหลังจากเวทีประกวดจบลง มีทั้งการที่นางงามต้องหาอาชีพและอาชญากรรมที่เกิดจากความเป็นคนดัง(Celebrity) นางงามจำนวนมากอาศัยความได้เปรียบในการเดินทางไปรอบโลกและผ่านการฝึกพูดต่อหน้าสาธารณะชนเพื่อถ่ายโอนตัวเองเข้าไปอยู่ในการเมือง และการเป็นนางงามในลาตินอเมริกานั้นยังหมายถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ผู้หญิงในแถบลาตินอเมริกาจำนวนมากจึงพยายามเข้าสู่วงการนางงาม
แต่ความมืดในรูปแบบอาชญากรรมก็ตามมาเพราะในประเทศอย่างเวเนซุเอล่านั้นมีเปอร์เซ็นต์การเกิดอาชญากรรมที่สูงมากและแน่นอนว่านางงามเป็นหนึ่งในเหยื่ออาชญากรรม มีนางงามจำนวนมากถูกฆ่าและถูกหลอกให้เข้าสู่กระบวนการค้ายาหรือธุรกิจการค้ามนุษย์ ซึ่งการผ่านเวทีประกวดมานั้นถือเป็นการเพิ่มมูลค่าของผู้หญิงในกระบวนการค้ามนุษย์
คนดังกับพื้นที่ทางการเมือง
อ.ปรีดี ได้กล่าวสรุปประเด็นที่น่าสนใจและชวนให้คิด ประเด็นแรกเป็นที่น่าดีใจที่ประวัติศาสตร์นางงามเป็นพื้นที่ของผู้หญิงตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบ เพราะปกติประวัติศาสตร์มีแต่พื้นที่ของผู้ชาย ประเด็นที่สองความขาวกลายเป็นสิ่งที่ถูกถวิลหา แต่แท้ที่จริงแล้วความขาวไม่ใช่เรื่องของสีขาวแต่คือสิ่งที่แสดงถึงความเหนือกว่า ประเด็นที่สามการเมืองสมัยใหม่จะเห็นคนดัง (Celebrity) เข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในการเมืองหรือในมุมกลับกันคนดังอาจจะอยู่ในการเมืองมานานแล้ว ในระยะหลังนักการเมืองจึงต้องผันตัวเองมาเป็นคนดังจึงจะอยู่รอดในวงการการเมือง
ภูมิทัศน์เดิมของกรุงเทพในยุคจารีต
ในช่วงหลังเป็นการพูดถึงกรุงเทพยามราตรี ซึ่งวีระยุทธได้กล่าวว่า ภูมิทัศน์เดิมของกรุงเทพในยุคจารีตนั้น กรุงเทพมีลักษณะเป็นเมืองน้ำมีคูคลองรอบเมือง จนเมื่อมีการพัฒนาเมืองเริ่มขึ้นมาอยู่บนถนน(คือภาพของเมืองในเวลากลางวัน) ต่อมาเมื่อมีไฟฟ้าเข้ามาสู่เมือง ภูมิทัศน์ของเมืองในยามค่ำคืนก็เปลี่ยนไป กรุงเทพกลายเป็นเมืองที่มีภูมิทัศน์ลานตาไปด้วยแสงไฟจากไฟฟ้า การพัฒนาของไฟฟ้าส่งผลให้เกิดย่านกลางคืนของเมืองขึ้นมา เช่น ย่านบางลำพู ย่านเยาวราช และสถานบันเทิงต่างๆก็ได้เริ่มเกิดขึ้น
วิถีชีวิตยามค่ำคืนในยุคจารีต
ในยุคจารีตนั้นวิถีชีวิตยามค่ำคืนมักจะเป็นของชนชั้นสูงหรือพวกเจ้า การทำกลางวันให้เป็นกลางคืนเป็นเรื่องของเจ้านายซึ่งปรากฏเด่นชัดมากในสมัยรัชกาลที่ห้า จนกระทั่งในช่วง 2420-2450 กิจกรรมในเวลากลางคืนเริ่มแพร่หลายออกสู่ชนชั้นล่าง เช่น การเที่ยวโรงโสเภณี โรงบ่อน รวมถึงการเที่ยวในสวนสนุกหรือกระทั่งการชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์แบบตะวันตก
สิ่งที่สะท้อนความเป็นเมืองสมัยใหม่อย่างชัดเจนคือ
- การแพร่ขยายของโรงภาพยนตร์ เช่นโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง
- กิจกรรมกินดื่มสาธารณะ เช่น ผับ บาร์ และยังมีการนำนางระบำเข้ามา ความแพร่หลายของสถานเริงรมย์และนางระบำยังสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ว่า การเต้นรำออกจากชนชั้นนำมาสู่สามัญชน(ใครก็เต้นรำได้)
- สวนสาธารณะ เช่น สวนลุมพินี
การเติบโตในแง่อุตสาหกรรมเหล่านี้ของกรุงเทพทำให้ยามค่ำคืนคือเวลาพักผ่อนหย่อนใจของคนทำงาน อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงชีวิตกลางคืนยังสะท้อนความเชื่อเรื่องเวลากลางคืน ในยุคจารีตเวลากลางคืนคือเวลาของผี ปีศาจ และสิ่งชั่วร้าย แต่ในยุคใหม่นั้นกลางคืนเริ่มเป็นช่วงเวลาทางธุรกิจความหรรษาบันเทิง การใช้ชีวิตของคนสมัยใหม่เริ่มเกิดเป็นวัฒนธรรมย่อยมากขึ้นทุกขณะ ภาพสะท้อนทั้งหมดนี้ทำให้เห็นชีวิตยามค่ำคืนและการกลายเป็นเมืองของกรุงเทพและชีวิตสมัยใหม่
ในตอนท้าย อ.พิพัฒน์ได้กล่าวว่า อยากให้มองประวัติศาสตร์ในความเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักมากขึ้น และประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจะทำให้มองเห็นประเด็นที่หลากหลายมากขึ้น และ อ.ฐิติพงษ์ยังได้กล่าวว่าเรื่องที่พูดมาทั้งหมดอาจเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ต่อให้เป็นความไร้สาระ ความไร้สาระก็เป็นอำนาจอย่างหนึ่ง
อ.ปรีดีได้กล่าวปิดงานว่า บรรยากาศรอบตัวของพวกเราทุกคนอาจจะมืด แต่วันนี้มันสว่างไสว และขอให้รักษาไฟแห่งความสว่างไสวนี้เอาไว้
- 23 views