เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา โครงการศิลป์เสวนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการในหัวข้อ“ประวัติศาสตร์ 18+ เด็ก สตรี และหนังโป๊” โดยมี นายภาคิน นิมมานนรวงศ์ นางสาววรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล และนายอาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้บรรยาย และดำเนินรายการโดย อ.ดร.ปรีดี หงษ์สต้น
ภาคิน กล่าวถึงความเป็นเด็กและวัยเด็กในประวัติศาสตร์ก่อนรัฐชาติสมัยใหม่ ในสังคมตะวันตกยุคกลางไม่ได้มีการตระหนักถึงวัยเด็ก ในความหมายที่ว่า เป็นวัยที่ต้องได้รับการทะนุถนอม เรื่องเพศในยุคสมัยนั้นไม่ได้เป็นเรื่องต้องห้ามหรือต้องระวังสำหรับเด็ก (ขณะที่ในยุคสมัยปัจจุบันเด็กถูกกันให้อยู่ห่างจากเรื่องเพศ) เช่น ในยุคสมัยนั้นการมองว่า เด็กอายุ 12 ปี ที่ยังไม่มีประจำเดือนสามารถมีสามีได้เป็นเรื่องปกติ ต่างจากในปัจจุบันที่วัย 12 ปีนั้นยังอยู่ในวัยเรียนและถูกป้องกันให้ออกห่างจากเรื่องเพศ แต่ทั้งนี้การจำแนกวัยที่ถูกกระทำโดยสังคมนั้นแตกต่างกันออกไปในแต่ละชุมชน วัฒนธรรม และยังเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
เด็กในยุคก่อนรัฐชาติสมัยใหม่จึงมีโอกาสพบเจอกับความโหดร้ายพอๆกับความรักและการดูแลเอาใจใส่ เพราะในยุคนั้นถือว่า เด็กก็คือคนๆหนึ่งที่ใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วๆไป แต่ถ้าพิจารณาในเงื่อนไขทางชีววิทยาและวิวัฒนาการนั้นก็จะทำให้เราเห็นถึงความจำเป็นที่เด็กจะต้องได้รับการดูแล และอยู่ในความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ในชุมชนที่ต้องช่วยกันเลี้ยงดูเด็กทารกหรือวัยแรกเกิดให้ผ่านพ้นไป แม้ว่าการเลี้ยงดูที่ว่าจะแตกต่างกับความหมายในปัจจุบันก็ตามที และการดูแลอย่างใกล้ชิดนั้นก็มักจะไม่ได้ถูกกระทำโดยพ่อแม่ ซึ่งจะเห็นได้จากการฝากลูกให้ทาสหรือบ่าวรับใช้เป็นคนเลี้ยงดู
ด้านวรธิภา กล่าวถึงประเด็นหญิงชั่วในประวัติศาสตร์ไทย โดยให้นิยามการเป็นหญิงดีว่า หมายถึงผู้หญิงที่เรียบร้อย ควบคุมอารมณ์ เจียมตนอยู่ในโอวาทของสามีหรือผู้ชาย ในขณะที่หญิงชั่วมีลักษณะตรงข้ามกับหญิงดี คือ ไม่สามารถประพฤติตนให้อยู่ในโอวาท กฎเกณฑ์ที่ผู้ชายกำหนด ลุแก่อำนาจ โดยเฉพาะการประพฤติผิดประเวณี ซึ่งรัฐได้นิยามความเป็นผัวเมียและชู้ไว้ว่า การเป็นผัวเมียคือชายหญิงที่ได้อยู่กินด้วยกัน และรับรู้กันในสังคม พ่อแม่ของผู้หญิงยินยอมให้หญิงนั้นเป็นภรรยาของชายคนนั้น ซึ่งความสัมพันธ์ที่นอกเหนือจากการนิยามของรัฐจึงถูกจัดเป็นชู้ ซึ่งชู้ยังสามารถแบ่งประเภทออกไปได้อีก เช่น ชู้ถึงชำเรา ชู้ไม่ถึงชำเรา ชู้จับมือถือนม ชู้เหนือผี (หมายถึงผู้หญิงที่ผัวตายไม่ทันเผาก็ไปมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น) ซึ่งการเป็นชู้ในลักษณะที่กล่าวนี้หมายถึง ผู้หญิงมีชู้เท่านั้น ไม่ใช่ผัวมีชู้
สังคมนิยามหญิงชั่วอย่างมีนัยยะที่สื่อถึงหญิงที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายที่ไม่ใช่สามี หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับชายมากหน้าหลายตา หญิงที่มีสามีมาหลายคน ซึ่งสังคมสมัยนั้นประณามโสเภณีว่าเป็นผู้หญิงน่ารังเกียจหรือหญิงแพศยา ซึ่งจากเอกสารร่วมสมัยของหมอบรัดเลย์ ได้บันทึกคำที่กล่าวถึงหญิงชั่วไว้เช่น หญิงดอกทอง หญิงนครโสเภณี หญิงแพศยา หรือคำด่าอย่าง อีดอกทอง อีดอกกะทือ อีหน้าเปน ก็ล้วนแล้วแต่มีไว้ด่าประจานหญิงที่มีพฤติกรรมทางเพศที่แตกต่างจากสังคมนิยามว่าดี
ในส่วนของหญิงชนชั้นสูงนั้นยิ่งต้องระวังการมีชู้ เพราะการมีชู้เป็นเรื่องคอขาดบาดตายของผู้หญิงชนชั้นสูง เนื่องจากพวกเธอถูกคาดหวังว่าจะต้องมีบทบาทของเมียที่ดี โดยชนชั้นนำสยามนั้นต้องการสร้างวาทกรรมหญิงดีให้กับผู้หญิงชนชั้นสูงปฏิบัติเพื่อมาเป็นเมียที่ดีของชนชั้นสูงด้วยกันเอง ดังนั้นวาทกรรมเมียที่ดีจึงส่งผลต่อหญิงชนชั้นสูงมากกว่าหญิงไพร่สามัญชน การสร้างวาทกรรมหญิงดีหญิงชั่วอย่างเดียวนั้นก็ดูจะไม่เพียงพอต่อการควบคุมผู้หญิง ดังนั้นผู้ชายจึงต้องใช้วิธีควบคุมทั้งทางกาย โดยการใช้กฎเกณฑ์จารีตเป็นตัวกำหนด มีบทลงโทษรุนแรงเพื่อให้ผู้หญิงกลัวการทำผิด และยังใช้ศีลธรรมทางศาสนาเข้ามาเป็นค่านิยมให้ผู้หญิงยอมรับ กลัวการทำบาป อีกทั้งยังสร้างสำนึกเรื่องคุณค่าของชนชั้นสูงให้ผู้หญิงชนชั้นสูงต้องยอมรับและปฏิบัติตามเงื่อนไขของสังคม
อาชญาสิท ธิ์ได้กล่าวถึง ฉากเลิฟซีนในภาพยนตร์ที่ปัจจุบันดูจะกลายเป็นเรื่องปกติ แต่ก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์บ้างในภาพยนตร์บางเรื่องที่ถูกมองว่าหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมหรือเต็มไปด้วยความรุนแรง อาชญาสิทธิ์จึงเล่าถึงภาพยนตร์ในประวััติศาสตร์เพื่อให้ถึงที่มาของฉากเลิฟซีนของภาพยนตร์ไทย โดยพาย้อนไปถึงปี 2470 ที่มีหนังพูดได้เรื่องแรกของไทยในชื่อเรื่อง "หลงทาง” ซึ่งส่งให้เกิดคดีถึงขั้นขึ้นศาล ฉากเลิฟซีนที่กลายเป็นคดีความคือฉากที่นายแสวงซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องจูบนมของนางสาวฟองสวาท ซึ่งถือว่าเป็นฉากจูบที่หนักหน่วงเกินความคาดหมายของผู้ชมในสมัยนั้น รวมไปถึงคำพูดของนางสาวฟองสวาทที่ถูกมองว่าเย้ายวน หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมจนถูกโจมตีว่าลามกอนาจาร ถ้ามองในสายตาของปัจจุบันนั้นฉากเลิฟซีนดังกล่าวคงไม่ได้เป็นฉากที่รุนแรง แต่สำหรับในยุคนั้นนี่คือฉากที่กลายเป็นคดีความขึ้นศาลเลยทีเดียว ฉากจูบนมของนางสาวฟองสวาทจึงเป็นปฐมบทที่สำคัญของฉากเลิฟซีนที่ปรากฎในหน้าประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์ไทย
ในด้านของวรรณกรรม งานเขียนนั้นมีหลักฐานบ่งบอกว่า ครูเหลี่ยมหรือหลวงวิลาศปริวรรต เป็นผู้บุกเบิกวรรณกรรมโป๊ในไทย อาทิเช่นเรื่อง กล่อมครรภ์ ซึ่งครูเหลี่ยมได้รับอิทธิพลงานเขียนมาจากอังกฤษ เนื้อเรื่องตัวอย่างบทบรรยายฉากเลิฟซีนอาทิเช่น "ข้าพเจ้าได้ทำการประเวณีให้สำเร็จสมใจถึงหยาดฟ้า ได้กดกระเดือกรั้นดันถึงโคนจนมิด ติดคาบ้อง แนบประสนิท จนกระดองแนบกระดอง ท้องแนบท้อง อกแนบอก หน้าแนบหน้า ซึ่งเวลาน้ำกามใหลสู่บรมศุข" วรรณกรรมเรื่องดังกล่าวจึงถูกจัดว่าเป็นงานจำพวกเรื่องโป๊ หรือ Pornography ซึ่งสังคมไทยยุคนั้นยังถูกปกคลุมด้วยอิทธิพลวิกตอเรียน การกล่าวถึงเรื่องเพศอย่างโจ่งแจ้งจึงดูเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและขัดต่อศีลธรรม การที่ครูเหลี่ยมสร้างผลงานแบบนี้ออกมาจึงถือเป็นการท้าทายต่อค่านิยมทางสังคม
- 371 views