7 ปีผ่านมาใครจะรู้ว่าญาตินักโทษคดีเผาศาลากลาง ชะตากรรมก็อาจไม่ต่างจากคนที่ถูกคุมขังเท่าไรนัก บ้างถึงขั้นต้องร่อนเร่พเนจร บ้างชีวิตไม่ปกติ หากินวันต่อวัน ความหวังเดียวคือรอเสาหลักออกจากคุก เราพาไปดูชีวิตพวกเขา ข้อสังเกต/คำถามต่อคดีนี้ พร้อมรู้จักกองทุนช่วยเหลือฯ ที่ประชาชนหันมาช่วยกันเอง
ปี 2553 การเมืองไทยถึงขึ้นแตกหัก นักการเมือง ประชาชนแบ่งฝักฝ่ายแยกสีเสื้อ ทุกฝ่ายพร้อมห้ำหั่นกันจนถึงขั้นใช้กำลังคร่าชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จนเกิดเหตุการณ์นองเลือดจากการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง 10 เมษายนที่แยกคอกวัว ถึง 19 พฤษภาคม มีผู้เสียชีวิตนับร้อย บาดเจ็บนับพัน เหตุการณ์นี้ใช่เพียงจะจบลงในใจกลางกรุงเทพเท่านั้น แต่มันยังนำมาซึ่งความโกรธเกรี้ยวของมวลชนเสื้อแดงตามต่างจังหวัดภาคอีสาน
ที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อมีการนำร่างนายอินทร์แปลง เทศวงศ์ แท็กซี่ชาวอุบลฯ ผู้ชุมนุมที่ถูกยิงเสียชีวิตจากคำสั่งเข้ากระชับพื้นที่กลับมายังบ้านเกิดในคืนวันที่ 15 พ.ค. 2553 ก็นำมาสู่ความรุนแรงที่ไม่มีใครคาดคิดในวันที่ 19 พ.ค. ขณะที่กรุงเทพฯ มีการใช้กำลังขั้นสุดท้ายกับผู้ชุมนุม กลุ่มคนเสื้อแดงที่อุบลฯ หลายร้อยคนก็มารวมตัวกันชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัด จัดรถยนต์ติดเครื่องเสียงปราศรัย เผายางรถยนต์แสดงออกถึงความโกรธแค้นในสิ่งที่เพื่อนร่วมอุดมการณ์ถูกกระทำ แต่ใช่ว่าเหตุการณ์นั้นจะจบด้วยดี มีมวลชนกลุ่มหนึ่งพังรั้วศาลากลางกรูเข้าไปในสนามหญ้าขว้างปาก้อนหินเข้าสู่ตัวอาคารเพื่อระบายความคับแค้นจนมีเสียงปืนดังขึ้นจากตัวอาคาร ทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุการณ์เริ่มลุกลามบานปลายจนไม่มีใครควบคุมได้ ไม่นานก็เกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้นที่ชั้นบนสุดศาลากลางจังหวัดโดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้วางเพลิง
จนวันรุ่งขึ้น 20 พ.ค. มีการออกหมายจับบุคคล 21 คนที่คาดว่าเป็นผู้บงการและกระทำการเผาศาลากลางจังหวัดอุบลฯ พร้อมพยานหลักฐานภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว พวกเขาทั้ง 21 คนนั้นโดนข้อกล่าวหา ร่วมกันก่อความวุ่นวายและฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและมีอาวุธ ร่วมกันทำให้เสียหายต่อสมบัติสาธารณะ รวมถึงก่อการร้ายด้วย
นักโทษคดีอุกฉกรรจ์ทั้ง 21 คน ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี ต่อมาบางคนได้รับการประกันตัว บางคนศาลสั่งยกฟ้องเพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ บางคนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์แต่โดนจับขังปีกว่าๆ ก่อนถูกปล่อยตัว มีจำเลยเพียง 4 รายที่ถูกคุมขังตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้และถูกศาลชั้นต้นสั่งจำคุกหนัก 33 ปี 12 เดือน เป็นชายวัยกลางคนอายุราว 50กว่าปี 2 รายคือ นายสนอง เกตุสุวรรณ์และนายสมศักดิ์ ประสานทรัพย์ อีกรายหนึ่งคือ ธีรวัฒน์ สัจจสุวรรณ อายุ 20 ปี(ในวันถูกจับกุม) นอกจากนี้ยังมีหญิงอีก 1 รายคือ ปัทมา มูลมิล อายุ 23 ปี(ในวันถูกจับกุม)
การต่อสู้คดียังดำเนินต่อไปจนถึงชั้นฎีกา ศาลฎีกามีคำพิพากษากลับในส่วนของจำเลยหลายคนจากที่เคยยกฟ้องในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กลับถูกพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต 2 ราย จำคุก 33 ปี 4 เดือน 6 ราย และ1-2 ปี 5 ราย อ่านข่าวต่อที่(http://prachatai.com/journal/2014/11/56464)
ศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เดือน เม.ย.-พ.ค.53 หรือ ศปช. ได้ตีพิมพ์รายงานกว่า 1,000 หน้าซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตในคดีเผาศาลากลางอุบลราชธานีไว้อย่างมีนัยสำคัญ โดยระบุว่า
1.เหตุการณ์นี้ไม่มีการจับกุมผู้ต้องหาในที่เกิดเหตุ อาศัยการจับกุมตามหมายจับทั้งหมด แต่กระบวนการออกหมายไม่รัดกุมและไม่ยึดหลักการของกฎหมายที่ต้องมีหลักฐานตามสมควร มีการออกหมายจับทั้งคนที่อยู่ภายนอกและภายในศาลากลาง ภาพถ่ายส่วนใหญ่ถ่ายระยะไกล บางภาพมืด ไม่ชัดเจน บางภาพถ่ายขณะขว้างก้อนหินเข้าใส่ป้อมยาม บางภาพถ่ายคนที่ยืนอยู่ภายนอก ไม่มีพฤติกรรมอื่นใด นอกจากนี้คดีนี้ยังมีการออกหมายจับผู้ต้องหาบางคนโดยใช้ภาพที่ไม่ใช่เหตุการณ์ปี 2553 ด้วย และถูกออกหมายจับเพราะตำรวจเคยเห็นเขาร่วมชุมนุมในครั้งก่อนๆ โดยไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับการชุมนุมที่ศาลากลาง (จำเลยที่ 1) มีการใช้ภาพที่ไม่ชัดเจน ทำให้จับผิดตัว เช่น กรณีจำเลยที่ 14 ไม่ได้ไปชุมนุมบริเวณศาลากลางแต่อย่างใด นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังจับกุมโดยไม่แจ้งสิทธิและข่มขู่ให้ผู้ต้องหารับสารภาพ มีบางส่วนที่ถูกทำร้ายร่างกาย
2.การปล่อยชั่วคราว มีเพียงรายเดียวที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา เนื่องจากเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งตัว ก่อนหน้านั้นพยายามขอประกันตัวหลายครั้งแต่ไม่ได้รับอนุญาต จนกระทั่งเป็นอัมพาตเดินไม่ได้ จึงได้รับการประกันตัว นอกนั้นส่วนใหญ่ได้รับประกันตัวเมื่อเวลาผ่านไปราว 1 ปี 3 เดือน
3.การสอบสวน ผู้ต้องหาไม่ได้รับการแจ้งสิทธิ แม้ทนายไม่ได้อยู่ร่วมขณะสอบสวนแต่ก็มีการลงลายมือชื่อของทนายในสำนวน บางคนถูกข่มขู่ บางคนถูกเกลี้ยกล่อมให้รับสารภาพแล้วค่อยไปต่อสู้ในชั้นศาล จากการเบิกความของพยานทำให้พบว่ามีการสอบสวนโดยไม่ชอบและบิดเบือนพยานหลักฐาน เช่น พยานให้การปรักปรำจำเลยเพราะเจ้าหน้าที่สั่งให้พูด , จำเลยให้การอย่างหนึ่งแต่เจ้าหน้าที่บันทึกตรงกันข้ามแล้วให้จำเลยลงชื่อโดยไม่อ่านให้ฟัง
4.คำพิพากษา ศาลพิจารณาคดีบนพื้นฐานความเชื่อว่า การเผาศาลากลางเกิดจากกลุ่มเสื้อแดงอย่างไม่ต้องสงสัย มักให้น้ำหนักกับปากคำเจ้าหน้าที่รัฐด้วยเหตุผลว่า “ไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลย” และให้น้ำหนักต่อคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนโดยให้เหตุผลว่า “ในชั้นศาลจำเลยมีเวลาคิดปรุงแต่งข้อเท็จจริงให้จำเลยพ้นผิด” หรือกรณีที่พยานโจทก์เบิกความเป็นคุณต่อจำเลย ศาลก็ไม่นำมาวินิจฉัย เช่น กรณีจำเลยที่ 15 เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ระบุว่าได้เข้าร่วมช่วยดับไฟ แต่ศาลก็ยังพิพากษาลงโทษมีความผิดฐานร่วมกันเผาทรัพย์ ที่สำคัญ ศาลใช้พยานหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายประกอบคำรับสารภาพ หรือลายมือชื่อรับรองภาพถ่ายโดยเชื่อว่าเวลาดังกล่าว มีความชุลมุนต้องอาศัยภาพที่บันทึกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประกอบการพิจารณา นอกจากนี้เหตุการณ์เผาศาลากลางยังมีข้อเท็จจริงที่เป็นที่น่าเคลือบแคลงเช่น พยานผู้สื่อข่าวเบิกความว่าไฟเริ่มไหม้ที่ชั้นสองก่อน ขณะที่กำลังเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ ถอนออกนอกพื้นที่แทนที่จะควบคุมเพลิง และก่อนเพลิงไหม้มีการยิงออกมาจากศาลากลาง ทำให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ 5 คน หลังเหตุการณ์มีทหารอากาศ 1 นาย ทหารบก 1 นายถูกออกหมายจับแต่ภายหลังต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทั้งสองมีหนังสือถึงพนักงานสอบสวนให้เพิกถอนหมายจับ
ส่วนรายละเอียดและความเห็นจากทนายวัฒนา จันทศิลป์ เมื่อศาลฎีกาพิพากษาปี 2558 ที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่ศาลลงโทษจำคุกจำเลยสูงสุดในบรรดา 5 จังหวัด นั่นคือ 33 ปี 12 เดือนเหตุการณ์ชุลมุนที่บริเวณหน้าศาลากลาง เกิดขึ้นในช่วงบ่ายหลังสัญญาณวิทยุชุมชนถูกตัด และเหตุการณ์สลายการชุมนุมในกรุงเทพฯ ร้อนถึงขีดสุดเช่นกัน ผู้ชุมนุมที่ศาลากลางมีการผลักดันกับเจ้าหน้าที่เป็นระลอก มีคำให้การที่น่าสนใจแต่ศาลไม่รับฟังเช่น
- ประยุทธ ชุ่มนาเสียว ประธานเครือข่ายวัฒนธรรมชุมชนภาคอีสานเคยให้ข้อมูลในเวที คอป.เมื่อต้นปี 2554 ว่า ในวันเกิดเหตุ ก่อนจะเกิดเพลิงไหม้ มีเสียงปืนดังขึ้นและคนเห็นแสงไฟของปืนจากชั้นสองของศาลากลาง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 6 รายถูกนำส่งโรงพยาบาล จากนั้นมีข่าวลือว่าผู้ที่ถูกยิงเสียชีวิตด้วย ทำให้ผู้ชุมนุมโกรธแค้นเป็นอย่างมากและบุกเข้าไปในศาลากลาง
- คำพอง เทพาคำ ผอ.กองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองวารินชำราบ ยืนยันว่าวิทยุชุมชนไม่ได้มีเนื้อหายั่วยุปลุกระดมให้เผาศาลากลาง เพียงแต่เชิญชวนให้ไปแสดงพลังที่ศาลากลางเพื่อกดดันส่วนกลางซึ่งกำลังมีการล้อมปราบกันอยู่ และคำถามสำคัญในวันนั้นคือ ทำไมเจ้าหน้าที่จึงรีบถอนกำลังออก
ที่มากไปกว่านั้นคือ ปลายเดือนตุลาคม 2559 เพิ่งเสร็จสิ้นการสืบพยานในคดีแพ่งอันเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งหลายหน่วยราชการฟ้องจำเลย 8 รายที่ถูกแจ้งข้อหาร่วมกันวางเพลิงฯ เพื่อเรียกค่าเสียหาย 128 ล้าน
หน่วยงานรัฐที่ฟ้องได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมบัญชีกลาง ฯลฯ ส่วนจำเลยได้แก่ ธีรวัฒน์ สัจจสุวรรณ ปัทมา มูลมิล นายสมศักดิ์ ประสานทรัพย์ นายสนอง เกตุสุวรรณ์
นายวัฒนา ซึ่งดูแลคดีแพ่งด้วย กล่าวว่า ในคดีแพ่งนี้มีแต่การสืบพยานฝ่ายโจทก์ โดยศาลไม่อนุญาตให้สืบพยานจำเลย คดีดังกล่าวเรียกว่าเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หากศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องในคดีอาญา คดีแพ่งก็จะสิ้นสุดไปด้วย แต่หากศาลฎีกาพิพากษาลงโทษ คดีแพ่งก็จะมีการพิจารณาอีกทีว่าค่าเสียหายที่จำเลยต้องจ่ายควรเป็นเท่าไร
“โดยรวมทั้งหมด ผมคิดว่าถ้าเป็นคดีทั่วไป ศาลคงยก และแม้จะปล่อย 4 คน (ที่โทษหนักสุด 33 ปี 12 เดือน) ก็ไม่น่าเกลียด เพราะไม่มีใครยืนยันได้เลยว่าจำเลยเป็นผู้เผา อาศัยแต่ภาพถ่ายว่าอยู่ในที่เกิดเหตุ บางคนยืนยันว่าเขาไปช่วยดับไฟด้วยซ้ำแต่ศาลไม่เชื่อ สำหรับข้อหาที่โทษหนักขนาดนี้ ถ้าไม่ชัดเจนแจ่มแจ้งก็ไม่ควรไปลงโทษเขา” วัฒนากล่าว
0000000
แม้เนื้อหาของคดียังมีข้อสังเกตข้อคำถามอยู่หลายประการ แต่คดีนี้ถือว่าสิ้นสุดลงแล้ว และเหยื่อของความขัดแย้งทางการเมืองนั้นยังคงหลงเหลืออยู่จำนวนมาก ไม่เฉพาะผู้ต้องโทษผู้ต้องขังในคดีนี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงญาติ ครอบครัวของพวกเขาด้วย ส่วนคนที่พ้นโทษออกมาแล้วชีวิตต่างทรุดพัง บางคนเจ็บป่วย เสียชีวิตหลังจากได้รับอิสรภาพ บ้านแตกสาแหลกขาดเพราะขาดเสาหลักของครอบครัว ต้องย้ายที่อยู่อาศัย มีชีวิตที่ไม่ปกติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลพวงจากความขัดแย้งทางการเมืองที่เบี้ยตัวเล็กๆต่างได้รับ
เรามีโอกาสพูดคุยกับญาตินักโทษคดีเผาศาลากลางอุบลราชธานีและกองทุนช่วยเหลือญาตินักโทษคดีทางการเมืองจังหวัดอุบลฯ เพื่อบอกเล่าความเป็นอยู่ ชีวิตในปัจจุบันหลังจากคนในครอบครัวถูกศาลฎีกาตัดสินให้รับโทษปี 2558
“วันที่น้องชายถูกตัดสิน เราตั้งตัวไม่ทัน ไม่ได้เห็นหน้าของน้อง มีเพียงเสียงจากโทรศัพท์บอกให้เราทำใจ มันทำให้เราตั้งหลักไม่ถูก” นิก พี่สาวของป๊อบ(ชัชวาล ศรีจันดา โทษจำคุกตลอดชีวิต)
เสียงสั่นเครือของนิก พี่สาวของป๊อบ(นายชัชวาล์ ศรีจันดา)ในร้านรับซื้อของเก่าแห่งหนึ่งในอำเภอวารินชำราบเธอเล่าว่า ขึ้นศาลทุกครั้งศาลก็ยกฟ้องตลอดตลอดเพราะหลักฐานมีเพียงรูปถ่ายเพียงใบเดียวเป็นรูปถือธงของกลุ่มชักธงรบสีแดง แต่ขึ้นศาลครั้งล่าสุดเมื่อปี 58 น้องบอกเราว่าไม่มีอะไร ไม่ต้องคิดมากเพราะไม่ได้ทำอะไรผิด สักประมาณตอนเที่ยง น้องชายโทรมาบอกว่าให้ทำใจเพราะโทษหนักถึงประหารชีวิตก่อนลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต ตอนนั้นเราตั้งตัวไม่ทัน ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป เอายังไงกับชีวิต มันเคว้งคว้างไปหมดงานไม่ได้ไปทำ ร้องให้อย่างเดียวไม่สามารถไปเยี่ยมน้องได้เลยเรายังยอมรับไม่ได้
เธอเล่าต่อว่า หากย้อนกลับไปก่อนที่ป๊อบติดคุกใหม่ๆ เค้าอยู่กับเราตลอดเพราะเหลือกันพี่น้องสองคน ไปไหนมาไหนเหมือนปลาท่องโก๋ เธอยอมลาออกจากงานเพื่อมาทำงานที่เดียวกันกับน้องชายเพราะจะได้อยู่ใกล้กัน แต่ฎีกาตัดสินปี 58 ออกมามันทำให้เธอต้องปรับตัวทั้งเรื่องการเงิน สภาพจิตใจ ต้องอยู่คนเดียวให้ได้
“ตั้งแต่วันที่น้องชายติดคุกจนถึงตอนนี้เราไม่เคยลืมเขาเลยสักวัน เราคิดถึงเขาอยู่ตลอดแต่ภาระของเราหลายมันอย่างน้องก็อยู่ไกลถึงเรือนจำคลองไผ่ เคยส่งจดหมายไปหาเขาหนึ่งฉบับ เมื่อปีสองปีก่อน แต่ไม่มีการตอบกลับทั้งเราเป็นคนเขียนจดหมายไม่ค่อยรู้เรื่องด้วย เลยไม่อยากส่งไป เป็นไปได้อยากพูดคุยต่อหน้าเลยดีกว่า
ถ้าเป็นวันปกติ เราใช้ชีวิตของเราไปเรื่อยๆคือ ทำงานวันจันทร์ถึงวันเสาร์ได้ค่าแรงวันละ 260 บาท ถ้ามีเบี้ยขยันจากการทำงานหกวันก็จะได้เพิ่มวันละ 50 บาท ส่วนวันหยุดมีวันเดียวคือวันอาทิตย์หลังจากทำธุระส่วนตัวเสร็จนอกจากนั้นคือการปลูกต้นไม้ เลี้ยงแมวเป็นเพื่อนแก้เหงาที่บ้านเช่าหรือหากเบื่อที่จะอยู่บ้าน สถานที่บำบัดความเศร้าคือ การอ่านหนังสือที่ห้องสมุดประชาชน และร้านขายต้นไม้ เพียงเพื่อให้เวลามันผ่านไปเร็วที่สุดจนถึงวันทำงานปกติเราจะได้ไม่ต้องคิดมากเรื่องน้องชาย”
เมื่อถามถึงความหวังของน้องชายของเธอเพื่อรอวันที่ได้รับอิสรภาพนั้น เธอเล่าด้วยแววตาหม่นเศร้าว่า สำหรับนักโทษคดีร้ายแรงโทษจำคุกตลอดชีวิต ความหวังเราแทบไม่มีเหลือแล้วในตอนนี้ เราเหมือนคนตัวเล็กๆในสังคม หากถามเรื่องการปรองดองนั้นเขาจะปรองดองให้ใคร มันไม่ถึงเหยื่อตัวเล็กๆแบบเราหรอกจะมีก็แต่นักการเมือง คนใหญ่คนโต แต่เรายังมีความหวังอยู่เล็กๆว่าสักวันหนึ่งน้องชายเราคงได้รับอิสรภาพออกมาอยู่ด้วยกันเหมือนเดิม ส่วนตอนนี้เราคงทำได้เพียงก้มหน้าก้มตาทำงานสู้ชีวิตต่อไป อายุของเราก็ยังไม่เยอะ แรงของเราก็ยังมีคนอื่นๆเขาก็สู้เหมือนกันกับเรา คงได้แต่ให้กำลังใจตัวเองวันต่อวันแค่นั้นแหละ ก่อนเธอจะขอตัวกลับไปทำงานเพราะใช้เวลาพักระหว่างวันไปหมดแล้ว
0000000
ทว่าเหยื่อทางการเมืองนั้นยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ข้อมูลจากศูนย์ช่วยเหลือครอบครัวและนักโทษคดีทางการเมืองอุบลฯเผยว่า มีนักโทษชายสูงวัยคดีเดียวกันนี้รายหนึ่ง ถูกคุมขังที่เรือนจำคลองไผ่ส่งจดหมายสื่อสารกับทางกองทุนตลอด เพื่อถามไถ่ความเป็นอยู่ของภรรยาและลูกๆที่ไม่รู้ตอนนี้ชะตากรรมเป็นเช่นไรและไม่สามารถติดต่อได้ จนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงทราบข่าวว่าตอนนี้ภรรยาและลูกของเขา ได้อาศัยอยู่ที่โรงเรียนร้างแห่งหนึ่งในจังหวัดทางภาคใต้
เธอเป็นหญิงชาวมุสลิมซึ่งไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้เพราะเกรงจะมีผลต่อตัวเธอและลูก พบกับสามีเพราะปัญหาในสามจังหวัดในชายแดนใต้ค่อนข้างรุนแรงในช่วงนั้นและหนักที่สุดเมื่อเธอไปแต่งงานกับนายทหารในพื้นที่ นำมาซึ่งความไม่พอใจของญาติและครอบครัวจำต้องหอบลูกหนีมายังภาคอีสานและได้แต่งงานใหม่กับลิขิต สุทธิพันธ์ สามีใหม่ของเธอ
เธอเล่าว่า มาอยู่อีสานใช่ว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้นนัก หาเช้ากินค่ำเหมือนคนธรรมดาทั่วไป แต่เมื่อสามีโดนจับข้อหาร้ายแรงต้องโทษจำคุก33ปี 4เดือน มันทำให้ครอบครัวตั้งหลักไม่ทัน อีกทั้งลูกสาวคนโตต้องมาเสียชีวิตเพราะโดนสามีชาวต่างชาติฆ่าตาย ทำให้เธอต้องเลี้ยงดูลูกชายและหลานถึงสามคนด้วยตัวคนเดียว จนในที่สุดต้องกลับมาอยู่ที่ภาคใต้เช่นเดิม แต่ไม่ใช่บ้านตัวเองเพราะตอนนี้กลับไปไม่ได้แล้ว
“เรามาอาศัยอยู่ที่โรงเรียนร้างแห่งหนึ่ง อาศัยรับจ้างทั่วไปใครมีงานอะไรให้ทำเราทำหมด บางวันก็เป็นแม่บ้าน บางวันรับจ้างเจาะมะพร้าวในสวนได้กิโลละ 3 บาท รวมวันหนึ่งได้ประมาณสองร้อยกว่าบาท หากถามว่าลำบากไหม ทุกคนก็ต้องบอกว่าลำบากเพราะขาดเสาหลักของครอบครัว จึงต้องทำงานคนเดียวหากไม่มีคนจ้างก็ไม่ได้ทำ”
เธอเล่าให้ฟังว่า หากมีเงินลูกๆจะได้ไปโรงเรียน หากไม่มีเงินลูกจำต้องขาดเรียน เพราะกลัวลูกหิวขนมแล้วไปขโมยของคนอื่นกินเค้าจะดูถูกเอาได้ ซึ่งต้องทำงานนี่แหละเพื่อให้ลูกไปโรงเรียน ส่วนคนที่คอยช่วยเหลือเราเขาจะช่วยเหลือตลอดก็คงเป็นไปไม่ได้เราเข้าใจ เพราะคนที่ทุกข์ยากลำบากกว่าเรานั้นมีอีกเยอะ
“ส่วนการติดต่อกับพี่ลิขิตนั้นไม่ค่อยได้ติดต่อกันเพราะพี่ลิขิตได้ส่งจดหมายมาหาหลายฉบับ เราจะตอบกลับก็ตอบไม่ได้เพราะเราไม่เคยเรียนภาษาไทย อยากไปเยี่ยมก็ไม่ได้เพราะไม่มีเงินเราขัดสนเรื่องนี้ต้องทำใจ อาศัยมีพอเลี้ยงสามสี่ชีวิตทีละวันๆ แค่นี้ก็ลำบากมากแล้ว งานเราไม่ได้มีทุกวันอีกทั้งที่อยู่เราต้องอาศัยอยู่ที่โรงเรียนล้างที่เขาไม่ใช้งานกันแล้ว”
“ในช่วงที่น้ำท่วมภาคใต้หนักเป็นช่วงที่ลำบากที่สุด วันนั้นเราออกไปเก็บผักมาทำกับข้าวทิ้งลูกกับหลานให้อยู่บ้านสามคน แต่ที่ที่เราอยู่มันอยู่ใกล้ตลิ่งเวลาน้ำมามันจะท่วมที่อยู่เราก่อนและเป็นแบบนี้ต่อมาทุกวัน ดีที่วันนั้นลูกกับหลานไม่เป็นอะไรก็ถือว่ายังโชคดีพระเจ้ายังคุ้มครองเราอยู่”
เธอเล่าต่อว่า มาอยู่ที่นี่ไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากใคร เราไม่บอกใครเลยว่าผ่านอะไรมา เจออะไรมาบ้าง กลัวเขาจะฆ่าเรา เพราะความขัดแย้งเรื่องการเมืองสีเสื้อมันรุนแรงมากๆ แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน ถ้าไปบอกเขามีแต่เขาจะซ้ำเติมบั่นทอนกำลังใจเปล่าๆ หรืออาจจะอันตรายกว่านั้นก็ได้
“ตอนนี้เราก็บอกไม่ถูกเหมือนกันแต่ต้องหากินวันต่อวันไปแบบนี้แหละ ครูก็ด่าบ้างว่าทำไมไม่ให้ลูกมาโรงเรียนเราก็ไม่กล้าตอบ ซึ่งตอนนี้เรากับพี่ลิขิตเองก็ห่วงลูกอยากให้ลูกเรียนหนังสือเหมือนคนทั่วไป เลยต้องดิ้นรน แต่ก่อนเราเร่ร่อนไปหลายที่ ถ้ายังไปอยู่แบบนี้ลูกกับหลานเราก็ไม่ได้ไปเรียน จึงต้องลงหลักที่นี่แต่เมื่อขาดเสาหลักไปแล้วเราต้องทำให้ถึงที่สุด”
เธอเล่าต่อว่า ถึงตอนนี้ก็ยังไม่เชื่อว่าพี่ลิขิตจะเป็นคนร้าย สุขภาพของพี่ลิขิตก็ย่ำแย่อยู่แล้ว จะไปเผาศาลากลางได้ยังไงและวันที่เกิดเหตุลิขิตพาเธอไปซื้อชุดนักเรียนกับของใช้ พร้อมไปรอรับลูกที่โรงเรียน พอกลับมาบ้านแล้วจึงรู้ว่าศาลากลางถูกเผา
“ตอนนี้ได้แต่ภาวนาต่อพระเจ้าทุกวัน ให้พี่ลิขิตได้รับอิสรภาพเร็วๆ ความหวังเรื่องพี่ลิขิตเรามีเท่านี้จริงๆ ”
0000000
บ่ายของวันเดียวกันประชาไทได้คุยกับแม่ของต้า ธีรวัฒน์ สัจสุวรรณนักโทษคดีเผาศาลากลางอุบลฯ ต้องรับโทษสูงถึง 33ปี 4เดือน แต่สถานที่ที่เรานัดพบกันนั้นคือ คุก หากได้ยินชื่อหลายคนหดหู่สิ้นหวังแทบไม่อยากปรายตามอง แหล่งกักกันอิสรภาพ อาชญากรสังคมตั้งแต่คนยากดีมีจนไปจนถึงเศรษฐี ผู้คนมากหน้าหลายตาหอบหิ้วถุงอาหาร น้ำดื่มนั่งต่อคิวรอพบ ญาติ คนรัก ลูกหลาน ที่ถูกกันขังอยู่ด้านใน เพื่อได้เห็นหน้าถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกันเพียงสิบนาทีก็ถือว่าคุ้มค่า
เธอเล่าว่า ขับรถจักรยานยนต์จากบ้านมาไกลเกือบ 20 กิโลเมตร เพื่อมาเยี่ยมลูกชายของเธอและมาเป็นประจำทุกสัปดาห์ หากวันไหนดีหน่อยมักมีหลานสาวเป็นผู้อาสาพามา แต่บางครั้งก็ชินกับการมาคนเดียวแล้วเพราะตลอดสองปีตั้งแต่ศาลฎีกาตัดสินเธอก็มาเยี่ยมลูกชายอยู่ไม่ขาด
“ก็เพราะมันคิดถึงลูก อยากให้ลูกกลับบ้านมาอยู่กับเรา เราเชื่อว่าเขาไม่ได้ทำแต่เมื่อมันเป็นไปแล้ว เราก็ต้องมาให้กำลังใจเขาอย่างน้อยได้พบหน้า คุยกันอาทิตย์ละครั้ง ก็ยังดี แต่กำลังใจเขาดีกว่าคนที่อยู่ข้างนอกนะ”
เธอเล่าต่อว่า ครอบครัวของเธอไม่เคยสุขสบาย มีความลำบากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะขาดเสาหลักของครอบครัว พ่อของต้าเสียชีวิตตั้งแต่เขายังเด็ก เราเลยต้องเป็นทั้งพ่อทั้งแม่เลี้ยงลูก พอโตมาหน่อยเขาเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัวทั้งเรียนและทำงานร้านแจ่วฮ้อนส่งน้องชายเรียนไปด้วย ช่วยแบ่งเบาภาระของเราได้เยอะ แม่เมื่อปี 53 เขาดันมาถูกจับเสียก่อนทุกอย่างมันต้องหยุดชะงัก บ้านที่กำลังสร้างก็ต้องหยุดไปด้วย จากที่มีคนช่วยหาเงินมาจุนเจือครอบครัว ตอนนี้เราก็ต้องดิ้นรนคนเดียว
“ตอนนี้ดันมาป่วยหูไม่ค่อยได้ยิน อีก แต่เราต้องดิ้นรนเพื่อหาเงินมาฝากให้ลูก เขาจะได้ไม่ลำบากส่วนลูกคนเล็กตอนนี้ก็เพิ่งได้งานทำ ทำให้ลดภาระในครอบครัวลงไปอีกเปราะหนึ่ง แต่เราก็ต้องทนเอาเพราะยังไงเขาก็คือลูกของเรา ตอนนี้ก็หวังและรอให้ลูกชายได้พ้นโทษ กลับบ้านมาช่วยกันทำมาหากิน”
เธอเล่าต่อว่า ตอนนี้อาศัยรับจ้างเล็กๆน้อยบ้าง พอได้เงินเลี้ยงครอบครัว ส่วนกองทุนช่วยเหลือที่ให้ญาติทุกเดือนนั้นช่วยเธอได้มาก ลูกชายไม่ขอรับเงินจากกองทุนช่วยเหลือสักบาท เขาบอกยกให้เราหมด แล้วอยู่ในคุกเขาจะอยู่ยังไง ต้องจัดส่วนแบ่งฝากให้ลูกชายบ้าง เก็บไว้ใช้ในครอบครัวบ้าง ที่เหลืออยู่ตอนนี้คือพยายามสร้างบ้านให้เสร็จ แล้วรอวันที่ลูกชายจะได้รับอิสรภาพออกมาอยู่ด้วยกันสักที
0000000
ทั้งนี้ข้อมูลของครอบครัวนักโทษคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลฯ อาจไม่ได้รับการเผยแพร่หากไม่มีการติดต่อช่วยเหลือและบักทึกข้อมูลไว้โดย กองทุนช่วยเหลือเหยื่อและญาติคดีการเมืองจังหวัดอุบลราชธานี
เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ กองทุนช่วยเหลือเหยื่อและครอบครัวนักโทษคดีทางการเมืองจังหวัดอุบลฯ เล่าให้ฟังตั้งแต่เริ่มตั้งกองทุนว่า ในช่วงที่สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 หลังวันที่ 19 พ.ค.53 คนก็เริ่มโดนหมายจับและเข้าไปอยู่ในเรือนจำแล้ว มันทำให้อยากรู้ว่าชีวิตความเป็นอยู่เขาเป็นยังไง ซึ่งตอนนั้นไม่รู้จักใครเลยทั้งที่ก่อนหน้านั้นการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่กรุงเทพ เราไปสังเกตการณ์คนเดียวถึงสามอาทิตย์ พอมีเหตุการณ์สลายการชุมนุม เผาศาลากลาง มีคนโดนฆ่า โดนจับ เราเครียดมาก เลยอยากหาทางออกให้ตัวเองว่าทำอะไรได้บ้าง
“พอดีมีอยู่วันหนึ่งน้าของเราเค้าไปแวะซื้อขนมกล้วยแขก และถามไถ่กันปกติกับคนขาย จึงรู้ว่าพี่ชายของคนขายโดนจับคดีเผาศาลากลางแล้วกลับมาเล่าให้ฟัง เราที่สนใจอยู่แล้วจึงบอกให้น้าพาไปหาหน่อยอยากรู้จัก มีอะไรที่พอช่วยได้บ้าง เขาเลยเล่าให้เราฟัง จึงเริ่มเก็บข้อมูลหลังจากนั้นทั้งเรื่องความเดือดร้อน ชีวิตความเป็นอยู่”
“เราเลยคิดว่าจะช่วยเหลือได้ยังไง จึงไปโพสต์ในเฟสบุ๊คส่วนตัว ทั้งเพื่อนต่างชาติและอีกหลายๆคนว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง เค้าเลยบอกให้เอาเลขที่บัญชีมา จะโอนเงินช่วยเหลือครอบครัวญาติไปให้ พอได้เงินมาเราเลยไปถามเค้าว่าจะให้ช่วยอะไร จากครอบครัวนี้ก็เริ่มไปถามครอบครัวอื่นๆ”
เสาวนีย์เล่าให้ฟังว่า เราตามไปเยี่ยมที่บ้านหลายคนไปพูดคุย พอได้ข้อมูลมาเราก็เอาไปโพสต์แล้วเพื่อนทั้งไทยและต่างชาติก็โอนเงินมาช่วยเหลือ ซึ่งระยะแรกเราเป็นคนทำบัญชีซื้อสิ่งของไปช่วยเหลือเช่น ซื้อรถเข็น ซื้ออุปกรณ์ในการทำมาหากิน แล้วเราก็รวบรวมหลักฐานเอกสารไว้ แต่เรื่องค้าขายสุดท้ายก็ไปไม่รอดเพราะไม่เคยทำมาก่อน คนที่โอนเงินมาเค้าไม่ได้บอกรายละเอียดอะไรแต่เค้าไว้ใจเรา
“แต่ที่มาจริงๆ คือ เรารู้สึกว่าไม่เคยเป็นประชาชนโดนกระทำขนาดนี้ เราเลยคิดว่าอยากช่วยครอบครัวเค้า คือเป็นส่วนหนึ่งส่วนเล็กๆในเงื่อนไขที่เราสามารถทำได้ ก็เลยตั้งกองทุน”
เสาวนีย์เล่าต่อว่า ผ่านเหตุการณ์มาประมาณหนึ่งปี พอปี 54 ที่กลุ่มคนเสื้อแดงที่อุบล เริ่มตั้งเวทีได้มีการพูดคุย เริ่มพูดเกี่ยวกับนักโทษทางการเมืองที่ถูกขังคุกอยู่ มีการระดมทุนช่วยเหลือ ตอนนั้นก็เริ่มชวนเพื่อนๆ เลยเริ่มทำแล้วตั้งเป็นกองทุน เริ่มระดมทุนจากเพื่อนในเฟสบุ๊คบ้าง มีผู้บริจาคมาบ้าง อีกทั้ง สื่อ นักเขียน คนทำหนังสือ ประชาชนคนอื่นๆ เพื่อนอาจารย์ด้วยกัน ช่วยระดมทุนอีกด้าน โดยจะให้ทุกครอบครัวที่ติดครอบครัวละหนึ่งพันบาท ซึ่งตอนนั้น ติดอยู่ประมาณ 21 คน พอเหลือน้อยคน เราก็ให้ครอบครัวละสองพันแล้วรายงานทุกครั้ง ทำมาตลอดเวลาจนรัฐประหาร ซึ่งพวกเราโดนคุกคาม มีการเรียกเราไปพบแล้วบอกว่าเค้าจับตามองพวกเราอยู่นะ เราจึงหยุดรายงานเรื่องนี้ในเฟสบุ๊ค เพราะไม่อยากให้คนเหล่านี้เป็นที่สนใจถูกจับตามอง แต่เราก็ยังช่วยเหลือตลอด
“ตอนนี้ก็รอรับโทรศัพท์ว่าใครจะเดือดร้อน หรือขอยืมเงินกองทุนเพิ่ม บางทีเราต้องควักกระเป๋าตัวเองจ่าย ซึ่งเรื่องแบบนี้เราไม่ค่อยอยากรับฟังหรอก เพราะมันสะเทือนใจ บางคนก็บอกโอนให้ครอบครัว บางคนก็บอกให้ส่งให้ใช้เอง ไม่ว่าจะเป็นฝากเข้าบัญชี ยื่นเงินสด หรือฝากธนาณัติ ซึ่งเราไม่อยากส่งเงินให้หรอกแต่อยากให้เขาได้รับอิสรภาพออกมา แม้กระทั่งผู้ที่ออกมาแล้วบางคนชีวิตเป๋ๆ ป่วยบ้าง บางคนเสียชีวิตก็มี ”
“เช่น พ่อตึ๋ง ตอนแกได้ประกันปี 54 ก็พาไปรับเงินเยียวยา เพราะหลายอย่างมันหายไปแล้วเอากลับคืนมาไม่ได้ พอปี56 ก็เป็นมะเร็งเสียชีวิต พ่อคำพลอยโดนฟ้องคดีใหญ่โตอยู่ที่น้ำยืน อยู่ในคุกเป็นเส้นเลือดในสมองแตกหมอไม่รักษา แล้วพอเราไปขอให้ช่วยเซ็นให้แกได้ออกมารักษาข้างนอกหน่อย ยังมาบอกอีกว่าแล้วเผาศาลากลางทำไมซึ่งคำพูดแบบนี้ไม่น่าออกมาจากคนที่เป็นหมอและตอนนั้นศาลยังไม่ได้ตัดสินเลยด้วยซ้ำ แต่ที่น่าเศร้าที่สุดคือ ไม่รู้ว่าหมอคนนั้นจะรู้หรือเปล่าว่า พ่อคำพลอยโดนตัดสินว่าไม่ผิด แต่ชีวิตคนเรามันพังไปแล้ว เพราะว่าแกเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต คือเราเห็นแบบนี้มันจุก เราพูดไม่ออก”
นอกจากนี้มันยังมีสิ่งที่เราต้องแลกต้องจ่ายในราคาที่สูง เธอเล่าว่าเมื่อมาทำแบบนี้มันมีสิ่งที่ ต้องเสียบ้าง มีราคาที่ต้องจ่าย มันเป็นสิ่งที่ต้องเจออยู่แล้ว โดนกีดกันโดนเกลียดบ้าง ในเมื่อเราเลือกแล้วมันโอเค เลยไม่แคร์ว่าเราจะโดนมองยังไง
“ชินแล้วอย่างว่ามันมีราคาที่ต้องจ่าย ทั้งเพื่อนร่วมงานในคณะ เพื่อนเก่าๆเริ่มแสดงออกชัดเจน แต่เราเฉยๆเพราะเอาเรื่องวิชาการเป็นตัวตั้ง ซึ่งเราก็แยกแยะได้คนที่คิดไม่เหมือนเราก็มีเยอะแยะ แต่เค้าแยกออกระหว่างเรื่องงานและการเมือง เพราะเราอยู่ที่นี่เราก็อยู่ในฐานะของเพื่อนร่วมงานกัน เราเป็นนักวิชาการเป็นอาจารย์ ซึ่งความสัมพันธ์เรามีอยู่แค่นี้ แต่ยังมีคนที่ไม่ชินกับเราเท่าไหร่ แต่เราจ่ายไปหมดแล้วไม่มีอะไรจะเสียอีก”
ทว่าบุคคลเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลพวง ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย ยังมีผู้คนอีกมากมายที่ต้องรับชะตากรรมไม่แตกต่างกันมากนัก ทั้ง ผู้เสียชีวิต นักโทษทางความคิด ครอบครัว ญาติ ล้วนแล้วแต่ไม่อยากสูญเสีย พบเจอเหตุการณ์เหล่านี้ พร้อมรออย่างมีความหวัง ว่าสักวันคนที่ตัวเองรักจะได้รับอิสรภาพออกมาใช้ชีวิตดังคนทั่วไปปกติ
- 51 views